xs
xsm
sm
md
lg

ควบรวม BECL-BMCL กระทบคู่สัมปทานรัฐ คค.สั่ง กทพ.ดูข้อ กม.หวั่นรัฐเสียประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คมนาคมสั่ง กทพ.ตรวจสอบข้อกฎหมายอย่างละเอียดกรณี BECL และ BMCL ควบรวมกิจการ หวั่นกระทบสัญญาสัมปทานเหตุคู่สัญญาเปลี่ยน เผยหากมีผลต่อสัญญาอาจต้องดำเนินการทางกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์รัฐ กทพ.เร่งสรุปเบื้องต้น หารือบอร์ด 14 ก.ค.นี้ ส่วนทางด่วนศรีรัช-วงแหวน ก่อสร้างคืบหน้า 60% เป็นไปตามแผนเปิดให้บริการได้กลางปี 59

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ว่า ทางบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ซึ่งเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมลงทุนโครงการกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นั้น ได้ว่าจ้างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้างโครงการ พร้อมกันนี้ กทพ.ยังได้รายงานความคืบหน้าแนวทางการควบรวมกิจการของ BECL กับ บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL อีกด้วย ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ กทพ.ไปศึกษารายละเอียดของกฎหมายอย่างรอบคอบ ว่าการควบรวมดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานระหว่าง กทพ. กับ BECL หรือไม่

โดยเบื้องต้นภาครัฐไม่มีสิทธิ์ห้ามเอกชนควบรวมกิจการกัน แต่ในทางปฏิบัติต้องศึกษาด้านกฎหมายและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสัญญาสัมปทาน และเพื่อไม่ให้ภาครัฐต้องเสียผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงคู่สัญญา โดย กทพ.จะนำรายละเอียดการควบรวมกิจการของ BECL และ BMCL เสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.พิจารณาในวันที่ 14 ก.ค.นี้

“การที่เอกชนควบรวมกิจการกันนั้น ภาครัฐไม่สามารถก้าวก่ายได้ แต่ต้องดูในประเด็นที่กระทบต่อภาครัฐ ผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานระหว่าง กทพ.กับ BECL มีหรือไม่ ถ้าไม่กระทบก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ากระทบฝ่ายรัฐต้องดำเนินการทางกฎหมายตามที่สัญญาระบุไว้” นายชาติชายกล่าว

ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุน 32,816 ล้านบาท ล่าสุดงานก่อสร้างมีความคืบหน้าประมาณ 60% ซึ่งเป็นไปตามแผน และจะสามารถเปิดให้บริการได้ช่วงกลางปี 2559 โดยปัญหาเรื่องพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นั้นได้ตกลงกันเรียบร้อยแล้ว และ กทพ.กำลังทยอยจ่ายค่าชดเชยให้ ร.ฟ.ท. รวมแล้วประมาณ 1,100 ล้านบาท ส่วนกรณีโครงสร้างทับซ้อนระหว่างทางด่วนกับรถไฟความเร็วสูง บริเวณพื้นที่หมอชิตนั้นก็สามารถจัดการปัญหาได้แล้วเช่นกัน ด้วยการปรับแบบก่อสร้างไม่ให้โครงสร้างทับซ้อนกัน

ด้านนายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน กทพ. กล่าวว่า กรณีคู่สัญญาสัมปทานของ กทพ.มีการไปควบรวมกิจการกับอีกบริษัทนั้น ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งแม้ว่า BECL และ BMCL จะประกาศการควบรวมกิจการมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558 แต่เพิ่งส่งหนังสือแจ้งมายัง กทพ.อย่างเป็นทางการเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ดังนั้น กทพ.จึงต้องขอเวลาพิจารณาในประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนว่าจะกระทบต่อสัญญาสัมปทานหรือไม่ เพราะในแง่กฎหมายถือว่าคู่สัญญาของ กทพ.มีการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ แม้ BECL จะควบรวมกับ BMCL ซึ่งอาจทำให้มีผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นในอนาคต แต่ กทพ.ก็ไม่ได้ส่วนแบ่งรายได้เพิ่ม เนื่องจาก กทพ.ยังคงได้รับส่วนแบ่งเฉพาะกิจการทางด่วนตามสัญญาสัมปทานที่ได้ระบุไว้เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น