ปตท.มั่นใจปีนี้กำไรโตขึ้นกว่าปีก่อนที่ 1.99 หมื่นล้านบาท หากราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 35-40 เหรียญ/บาร์เรล และปีนี้คงไม่มีการบันทึกการด้อยค่าสินทรัพย์ (impairment) เพิ่มหลังจากปีก่อนทำ impairment ธุรกิจในเครือฯ ถึง 5.47 หมื่นล้านบาท รวมทั้งรับภาระ NGV ลดลง พร้อมเล็งร่วมลงทุนแหล่งปิโตรเลียมในรัสเซีย หลังเอ็มโอยูนำเข้า LNG และน้ำมันดิบใน 2-3 เดือนนี้
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานของ ปตท.ในปีนี้จะมีกำไรดีขึ้นกว่าปี 2558 ที่มีกำไรสุทธิ 1.99 หมื่นล้านบาท หากราคาน้ำมันดิบในปีนี้อยู่ที่ระดับ 35-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ไม่น่าจะมีการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ (impairment) เพิ่มเติมจากปีก่อนที่มีการบันทึก impairment จากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) และธุรกิจถ่านหินรวมแล้ว 5.47 หมื่นล้านบาท
ขณะที่การรับภาระอุดหนุนจากธุรกิจก๊าซ NGV ในปีนี้ก็จะลดลงจากปีก่อนที่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท ลดลงเหลือ 5 พันล้านบาท แม้ว่าจะมีการอุดหนุนให้กับรถแท็กซี่และรถสาธารณะที่ 10 บาท/กก. เนื่องจากครึ่งปีหลังนี้มองว่าต้นทุนเนื้อก๊าซฯกับราคาขายปลีกจะเข้าสู่จุดสมดุล (Break event)
นอกจากนี้ ทางกลุ่ม ปตท.เร่งลดต้นทุนให้มากที่สุดและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อสร้างความเข้มแข็งในองค์กรภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันต่ำและฟื้นตัวนาน ดังนั้น บริษัทที่ได้เปรียบคือบริษัทที่มีกระแสเงินสดมากพอ ซึ่งปัจจุบันกลุ่ม ปตท.มีความเข้มแข็งทางการเงิน โดยมีกระแสเงินสดมากถึง 3 แสนล้านบาท จึงน่าจะเป็นโอกาสในการแสวงหาการซื้อกิจการเพิ่มเติมในธุรกิจ E&P แต่ทั้งนี้การลงทุนคงไม่รวดเร็วนัก เพราะต้องพิจารณาอย่างรอบ
ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากทิศทางราคาน้ำมันปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐ/ บาร์เรล มองว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ยังผันผวนอยู่ในระยะสั้น โอกาสที่จะเห็นราคาน้ำมันดิบกลับขึ้นมาในระดับ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลยังอีกหลายปี
ดังนั้น ปตท.จึงวางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรและรับมือกับภาวะท้าทายในธุรกิจ (ROIC) ดังนี้ คือ 1. Rationalization โดยจะโฟกัสการทำธุรกิจที่เป็นธุรกิจหลักซึ่งกลุ่มปตท.มีจุดแข็ง และแข่งขันได้ ส่วนธุรกิจใดที่ไม่เชี่ยวชาญก็ลดสัดส่วนหรือขายออกไป 2. Optimization บริหารต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการ หาเทคโนโลยีใหม่ สร้าง Synergy ร่วมกัน 3. Integration โดยพิจารณาต่อยอดหรือลงทุนขยายธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.มีการทำ Integration มาโดยตลอด และ 4. Consolidation การควบรวมกิจการที่ซ้ำซ้อนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบัน ปตท.มีย่อย 4-5 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านปิโตรเคมี ก็พิจารณาว่าจะปรับโครงสร้างองค์กรโดยให้ บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอลเข้ามาถือหุ้นแทน
จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 30 เหรียญสหรัฐในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ ปตท.จัดทำแบบจำลองสถานการณ์ (Scenario) ราคาน้ำมันเพิ่มเติม คือ Slow Recovery หรือราคาน้ำมันพื้นตัวช้าโดยมองราคาน้ำมันดิบปีนี้ที่ระดับ 35 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (ต้นปีอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐ และปลายปี 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล) จากเดิมที่จัดทำแบบจำลองไว้ 3 รูปแบบที่ระดับราคาน้ำมันกลับมาที่ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (Quick Return) ราคาน้ำมันกลับมาที่ระดับ 60 เหรียญสหรัฐภายในปี 2561 (Moderate Return) และราคาน้ำมันอยู่ระดับ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (New Normal) โดย ปตท.จะให้น้ำหนักในแบบจำลองNew Normal
“ในงบลงทุน 5 ปีนี้ กำหนดไว้ 2.97 แสนล้านบาท หากราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับ 35 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (Slow Recovery) จะไม่กระทบต่อการลงทุนด้าน Energy Structure วงเงิน 2.04 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 70% ของงบลงทุนแต่จะกระทบ โครงการเพิ่มมูลค่าใหม่ (Growth) อาทิ เทรดดิ้งน้ำมัน และซื้อกิจการ (M&A) ที่อาจจะลดลงไปจากวงเงินที่วางไว้ 9หมื่นล้านบาท แต่จะบริหารตามความเหมาะสมตามโครงการ”
นอกจากนี้ยังได้ทำแบบจำลองรับมือภายใต้วิกฤตน้ำมันที่ระดับ 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็นเวลา 2 ปี (Worst Case) ว่าทางกลุ่ม ปตท.จะดำเนินธุรกิจอย่างไรให้อยู่รอดได้ แน่นอนว่าหากราคาน้ำมันดิบอยู่ระดับ 20 เหรียญสหรัฐย่อมส่งผลกระทบต่อผลดำเนินงานของกลุ่ม ปตท. โดยเฉพาะ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่อาจจะต้องชะลอหรือยกเลิกการพัฒนาโครงการใหม่ 5-6 แห่งที่พบว่ามีน้ำมันและก๊าซฯ โดยจะลงทุนในหลุมผลิตเดิมเพื่อรักษาปริมาณการผลิตไว้ ขณะเดียวกัน แหล่งผลิตปิโตรเลียมที่แย่ก็จะต้องตัดขายออกไป ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ.มีต้นทุนเงินสด (Cash Cost) อยู่ที่ 15-16 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนธุรกิจถ่านหินก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน
“หากราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ระดับ 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แน่นอนว่ากระทบต่อผลการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท. ซึ่งผลกำไร/ขาดทุนไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่กระแสเงินสดสำคัญที่สุดเพื่อไม่ให้บริษัทล้มเป็นรายแรกๆ” นายวิรัตน์กล่าว
นายเทวินทร์กล่าวถึงธุรกิจเหมืองถ่านหินว่าขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเพิจารณาว่าจะขายหรือลงทุนเพิ่มในธุรกิจถ่านหินของบริษัทในเครือฯ เนื่องจากราคาถ่านหินปรับตัวลดลงมาก จนปีที่แล้วต้องบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ไปเกือบ 2 หมื่นล้านบาท แต่หากมองว่าอนาคตถ่านหินยังไปได้ก็คงมองบโอกาสที่จะซื้อกิจการเพิ่มในช่วงจังหวะนี้ ทั้งนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือนนี้
นอกจากนี้ จากราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตลาดจรลดลงมากอยู่ที่ 6-7 เหรียญ/ล้านบีทียู ซึ่งกระทรวงพลังงานเห็นว่าควรนำเข้า LNG มาทดแทนปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยที่มีการเรียกผลิตเกินสัญญาอยู่ ซึ่ง ปตท.มีความพร้อมที่จะนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเพราะมีคลังรองรับได้ 5 ล้านตันจากปีนี้ที่คาดว่าจะมีการนำเข้า LNG 3 ล้านตัน แต่ทั้งนี้ คงต้องดูสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับผู้ผลิต และความต้องการใช้ก๊าซฯ
นายเทวินทร์กล่าวต่อไปว่า จากการเดินทางร่วมกับคณะรองนายกรัฐมนตรีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไปเยือนสหพันธรัฐรัสเซียนั้น มองว่าเป็นโอกาส ปตท.ที่จะเป็นพันธมิตรด้านพลังงานกับรัสเซียที่เป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตน้ำมันและก๊าซฯ ต่ำมาก โดยบริษัทสนใจที่จะนำเข้า LNG และน้ำมันดิบจากรัสเซีย คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 2-3 เดือนนี้ ทั้งนี้หากเป็นการซื้อ LNG ระยะยาว ทาง ปตท.มีนโยบายที่จะเข้าไปลงทุนในแหล่งผลิต LNG ด้วยนอกเหนือจากการซื้อเพียงอย่างเดียว