ไทยเดินแผนเจรจาจีนตั้งบริษัทร่วมทุน (SPV) ทั้งก่อสร้างและเดินรถ “อาคม” เผยไทยต้องการให้ฝ่ายจีนลงทุนในสัดส่วนที่มากขึ้น มอบ “รมว.คลัง” เจรจาเงื่อนไขทางการเงินและสัดส่วนร่วมทุนที่เหมาะสม เร่งสรุปคู่ขนานถอดแบบก่อสร้าง เคาะค่าก่อสร้างสุดท้ายในQ1/59 เพื่อเริ่มตอกเข็ม พ.ค. 59 ให้ได้ตามเป้า พร้อมแจงมูลค่าโครงการทะลุ 5 แสนล้าน เหตุก่อนหน้านี้ไม่มีค่าก่อสร้างช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด และสถานีบ้านภาชี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากมีพิธีเริ่มต้นโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ซึ่งเป็นการทำสัญลักษณ์การเริ่มต้นโครงการความร่วมมือรถไฟ ในการพัฒนารถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 845.27 กิโลเมตร ณ สถานีรถไฟเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมาแล้ว คณะกรรมการร่วมไทย-จีนจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อหาข้อสรุป และนำไปสู่การเริ่มต้นก่อสร้างโครงการซึ่งกำหนดไว้ในเดือน พ.ค. 2559
โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วม ครั้งที่ 10 ในช่วงเดือน ก.พ. 2559 ที่ประเทศจีน โดยสิ่งที่จะต้องเร่งสรุป คือ 1. สรุปรายงานการศึกษาออกแบบโครงการฉบับสมบูรณ์ที่จีนลงพื้นที่สำรวจออกแบบ โดยฝ่ายจีนจะมอบให้ไทยภายในเดือน ธ.ค. 2558 นี้เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2. สรุปรูปแบบการลงทุน และสัดส่วนการลงทุน ซึ่งจะหารือในรายละเอียดกับจีน โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมในการเจรจาเรื่องนี้ 3. เมื่อได้ข้อสรุปในเรื่องแบบก่อสร้าง วงเงินลงทุน และการร่วมทุน จะนำไปสู่ขั้นตอนการทำสัญญา และบันทึกความเข้าใจต่างๆ และการก่อสร้าง 4. เป้าหมายของผู้นำไทย-จีน ต้องการให้เริ่มก่อสร้างโครงการในเดือน พ.ค. 2559
นายอาคมกล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างไทย-จีนในรูปแบบรัฐต่อรัฐ ข้อตกลงเรื่องการลงทุนรูปแบบ EPC (Engineering Procurement and Construction) โดยจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแบบนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) ในส่วนของงานระบบ การจัดหารถไฟฟ้า และเดินรถไฟฟ้า แต่ขณะนี้จะขยายการตั้งบริษัทร่วมทุนครอบคลุมในเรื่องการก่อสร้างด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับจีนเบื้องต้นบ้างแล้ว โดยจะหารือในรายละเอียดต่อไปว่าจะแยกบริษัทร่วมทุนเดินรถกับบริษัทร่วมทุนก่อสร้าง หรือจะตั้งบริษัทเดียวร่วมทุน ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างไปจนเดินรถบริษัทร่วมทุน โดยจะทำงานคู่ขนานไปพร้อมกับงานด้านเทคนิคเพื่อให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1/ 2559 และนำไปสู่ขั้นตอนเรื่องการร่างสัญญาต่างๆ ด้วย เนื่องจากมีเป้าหมายเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ค. 2559 โดยฝ่ายจีนวางแผนว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 3-3.5 ปี
“ไทยต้องการให้ฝ่ายจีนลงทุนในสัดส่วนที่มากขึ้น ทั้งในเรื่องการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ และเรื่องการก่อสร้างด้วย ส่วนรายละเอียดจะต้องให้ทางคณะทำงานที่มี รมว.คลังเป็นผู้เจรจาเงื่อนไขทางการเงิน ซึ่งคลังจะมีความเชี่ยวชาญกว่าคมนาคม และขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาของการรถไฟฯ ทำการตรวจสอบรายละเอียดการก่อสร้างอยู่เพื่อดูตัวเลขค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จีนได้ลงพื้นที่สำรวจออกแบบมา ซึ่งจะให้เสร็จในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2559”
***แจงค่าก่อสร้างทะลุ 5 แสนล้าน เพราะเดิมไม่มีช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด
ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทางฝ่ายจีนยังยืนยันที่จะพิจารณาอัตราที่ดีที่สุดให้ไทย ซึ่งล่าสุดยังอยู่ที่ 2.5% ส่วนไทยต้องการที่ไม่เกิน 2% ซึ่งเรื่องดอกเบี้ยจะสรุปได้ต้องรู้วงเงินค่าก่อสร้างและวงเงินที่ต้องกู้ก่อน สำหรับค่าก่อสร้างล่าสุดที่ประมาณ 5.3 แสนล้านบาทนั้นตัวเลขนี้ยังไม่นิ่ง และเดิมที่ระบุตัวเลขมูลค่าโครงการที่ประมาณ 3 แสนล้านบาทนั้นเป็นการลงทุนในส่วนกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย ยังไม่มีตัวเลขลงทุนช่วงแก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด และสถานีบ้านภาชี โดยสิ่งที่ไทยต้องทำคือ ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงของแบบที่ออกมากับค่าก่อสร้างที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม นายอาคมชี้แจงถึงประเด็นมูลค่าโครงการที่เพิ่มเป็นกว่า 5 แสนล้านบาทเนื่องจากจีนกำหนดค่าแรงสูงถึงวันละ 800 บาทและมีการนำเข้าวัสดุจากจีนทำให้ต้นทุนโครงการสูงขึ้นว่า โครงการนี้จะใช้ Local cost ทั้งหมด ค่าแรงจ่ายตามกฎหมายไทย ส่วนกรณีนำเข้ารางรถไฟนั้น เนื่องจากประเทศไทยยังผลิตรางรถไฟเองไม่ได้เพราะต้องใช้เหล็กต้นน้ำมาผลิตจึงต้องนำเข้า นโยบายของนายกรัฐมนตรีคือ ต้องการให้ผลิตเอง ซึ่งอาจจะต้องคุยกับจีนเพื่อให้ตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำในไทยได้หรือไม่ เป็นต้น ทุกอย่างที่จีนศึกษามาต้องตรวจสอบรายละเอียดก่อน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การตั้งบริษัทร่วมทุนด้านการก่อสร้างด้วย ถือเป็นเรื่องดีในการดำเนินโครงการ โดยจีนจะมีส่วนรับผิดชอบและรับความเสี่ยงในโครงการร่วมกับไทยมากขึ้น ซึ่งล่าสุดค่าก่อสร้างเพิ่มเป็นกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งนอกจากจะต้องเจรจาเรื่องสัดส่วนการร่วมทุนแล้วจะต้องเจรจาในส่วนของทรัพย์สินที่จะแปลงเป็นทุน อำนาจในการบริหารบริษัทร่วมทุน เป็นต้น