ไทยเตรียมงัดแผนสอง เจรจา “รถไฟไทย-จีน” ดันตั้งบริษัทร่วมทุน (SPV) คุมทั้งก่อสร้างและเดินรถเป็นแนวทางใหม่ หากจีนไม่ลดดอกเบี้ยต่ำกว่า 2% จากเดิมจะร่วมทุนเฉพาะเดินรถ และใช้เงินกู้ก่อสร้าง “อาคม” เผยเป็นไปได้ เคยแย้มกับจีนบ้างแล้วแต่ยังไม่ฟันธง ขอรอสรุปตัวเลขค่าก่อสร้างให้ชัดเจนก่อน ขณะที่เดินหน้าสัมมนาทำความเข้าใจโครงการต่อประชาชนตลอดแนวเส้นทาง “สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และระยอง”
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดรางมาตรฐานในเส้นทางก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ว่า โครงการความร่วมมือระหว่างไทย-จีนในการพัฒนารถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 845.27 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 118.14 กิโลเมตรนั้น ในการหารือร่วมกันในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2557 ถือว่ามีความก้าวหน้าไปมาก โดยได้ทำการศึกษาความเหมาะสม รูปแบบลงทุน โดยจีนได้ส่งทีมวิศวกรรมรถไฟเข้ามาทำงาน ซึ่งขณะนี้ตัวเลขค่าลงทุนที่มียังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริงและยังไม่ใช่ราคาสุดท้าย ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด ที่สำคัญ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการไทยและการใช้วัสดุในประเทศในการก่อสร้างและเดินรถ ซึ่งจีนอาจจะเข้ามาตั้งโรงงานประกอบรถไฟในไทยหรือนำเข้าโครงสร้างรถไฟมาประกอบในประเทศ โดยใช้วัสดุในประเทศ เป็นต้น
ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุน EPC โดยข้อตกลงเดิม ในส่วนของการก่อสร้างจะใช้เงินกู้ ส่วนการเดินรถ จะตั้งบริษัทร่วมทุน (SPV) ซึ่งล่าสุดจีนเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 2.5% ซึ่งไทยเห็นว่าไม่ควรเกิน 2% และอาจจะพิจารณาแหล่งเงินในประเทศที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า
ในขณะเดียวกันมีแนวทางเลือกอื่นที่อาจจะนำมาเจรจากับจีนหากไม่สามารถตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยได้ คือ การตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อรับผิดชอบทั้งส่วนของการก่อสร้างและการเดินรถ แต่ทั้งนี้จะต้องรอให้ได้ข้อสรุปตัวเลขเงินลงทุนโครงการที่ชัดเจนก่อนจึงจะตัดสินใจได้
“ต้องดูตัวเลขต้นทุนโครงการก่อนว่าเท่าไรกันแน่ ตอนนี้ตรวจสอบกันอยู่ เพราะค่าลงทุนจะสะท้อนถึงค่าดอกเบี้ย และสัดส่วนที่จะร่วมทุน ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยพูดกับจีนบ้างแล้วเรื่องตั้งบริษัทร่วมทุนส่วนของก่อสร้างด้วย แต่ยังไม่ได้คุยจริงจัง” นายอาคมกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย-จีน ได้มีการหารือในครั้งที่ 9 ได้มีการลงนามในกรอบความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ (Framework of Cooperation : FOC) และกำหนดพิธีเปิดตัวเริ่มต้นโครงการที่ศูนย์สั่งการการเดินรถ (OCC) บริเวณสถานีเชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้เท่านั้น แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องแบบการก่อสร้างและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งล่าสุดทางจีนยังคงยืนยันที่ 2.5% ในขณะที่ไทยเห็นว่าดอกเบี้ยควรไม่เกิน 2% โดยค่าก่อสร้างล่าสุดที่จีนเสนอสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงได้มีแนวคิดในการดำเนินโครงการว่า หากจีนยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% ในส่วนของค่าก่อสร้าง ไทยจะขอตั้งบริษัทร่วมทุนให้ครอบคลุมเรื่องการก่อสร้างไปด้วย จากเดิมที่จะตั้งบริษัทร่วมทุนรับผิดชอบในเรื่องการเดินรถและซ่อมบำรุงเพื่อตัดปัญหาเรื่องดอกเบี้ย สัดส่วนการถือหุ้นไทย 30-40% ส่วนจีน 60-70% เป็นต้น โดยไทยจะต้องพิจารณาในเรื่องการประเมินมูลค่าทรัพย์สินและสิทธิอำนาจในการบริหารในบริษัทร่วมทุน
สำหรับการออกแบบ ขณะนี้จีนได้สำรวจออกแบบช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ (บางซื่อ) -แก่งคอย ระยะทาง 118.14 กิโลเมตร และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 134.21 กิโลเมตร คืบหน้าประมาณ 80% และจะส่งครบ 100% ในเดือน ธ.ค. 58 คาดว่าจะก่อสร้างช่วง 1, 3 ได้ประมาณเดือน พ.ค. 2559 ส่วนช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 238.83 กิโลเมตร และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 354.09 กิโลเมตร ขณะนี้การออกแบบคืบหน้าประมาณ 50%
อย่างไรก็ตาม จะมีการจัดสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการฯ พัฒนารถไฟไทย-จีน ในเดือนมกราคม-เมษายน 2559 รวม 5 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดสระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และระยอง
รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า รูปแบบการลงทุน EPC ถือว่าเหมาะสม ซึ่งการเจรจาความร่วมมือรถไฟไทย-จีนที่ผ่านมา 3 รัฐบาล ครั้งนี้ซึ่งมีการลงนาม FOC ฉบับนี้ถือว่าใช้ภาษาได้รัดกุม ให้บริษัทไทย ผู้รับเหมาไทย สินค้าไทย มีส่วนร่วมกับโครงการไม่ใช่ใช้แต่ของจีน ส่วนอัตราดอกเบี้ยยังไม่สรุป ซึ่งทีมเจรจาของคลังจะพิจารณาแหล่งเงินที่อัตราดอกเบี้ยดีที่สุดซึ่งอาจจะใช้แหล่งเงินในประเทศก็ได้