xs
xsm
sm
md
lg

มองผ่านมุม “วรศักดิ์ มหัทธโนบล”: จีนศึกษาของไทยกับอุปสรรคที่ต้องฟันฝ่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 2 ก.ค. 2558
ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปรากฏการณ์ ‘ตื่นจีน’ ได้ผลักดันผู้คนในสังคมไทยหันมาสนใจภาษาจีนกันเพิ่มมากขึ้น ด้วยเป้าหมายเตรียมพร้อมรับมือกระแสอิทธิพลจีน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจที่กระจรกระจายไปทั่วโลกอย่างชัดเจนในระยะหลายปีที่ผ่านมา

ทว่าการมุ่งเรียนรู้ภาษาจีนเพื่อจะเด็ดดอกเก็บผลจากกิ่งก้านแห่งเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่กลับหลงลืมหรือละทิ้งบริบทด้านอื่นๆ ไม่ว่าด้านสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง ฯลฯ ก็ดูจะเป็นความตื้นเขินทางการศึกษาที่น่าวิตกกังวลอยู่ไม่น้อย

เพราะการทำความเข้าใจ “จีน” ซึ่งเป็นชาติที่มีภูมิหลังย้อนกลับไปได้กว่าห้าพันปี อาณาเขตที่กว้างใหญ่ไพศาล และความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ที่ซ้อนทับกันดังผลึกหิน แม้จะรู้และใช้ภาษาจีนได้ดีก็คงมิอาจตอบคำถามหรือมองทะลุเหตุการณ์ต่างๆ ได้ชัดเจนนัก

องค์ความรู้ด้าน “จีนศึกษา” ซึ่งปักหมุดหมายจะแสวงหาความเข้าใจจีนอย่างรอบด้าน จึงนับเป็นแขนงวิชาที่มีความสำคัญและคุณค่ายิ่งแก่การศึกษา แต่อย่างไรก็ดี ภาวะตื่นรู้เกี่ยวกับจีนที่เพิ่งลืมตาได้ไม่นานในไทย ก็ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคอีกหลายประการ

“มุมจีน” ได้สัมภาษณ์ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และอาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นเกี่ยวกับ “จีนศึกษา” เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา

ผศ.วรศักดิ์ มิเพียงเป็นอาจารย์ นักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย ยังเป็นนักเขียน คอลัมนิสต์ ที่ผลิตผลงานเรื่องจีนชุกมากที่สุดผู้หนึ่ง ทั้งแนวเนื้อหาด้านเศรษฐกิจการเมือง สังคม วัฒนธรรม ปรัชญาศาสนา ชาติพันธุ์ ตลอดจนเป็นวิทยากรประจำเวทีบรรยายสัมนาเรื่องจีน

ในการสัมภาษณ์ อาจารย์ได้หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจของวงการจีนศึกษาในไทยมาให้ได้ขบคิดกัน เริ่มต้นด้วยการเล่าย้อนถึงการทำงานของนักวิชาการจีนศึกษาในยุคก่อนหน้านี้ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นคนไทยเชื้อสายจีน เกิดและเติบโตในช่วงรัฐไทยต่อต้านความเป็นจีนและลัทธิคอมมิวนิสต์ ตรงนี้พอจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสังคมศาสตร์กับกลุ่มมนุษยศาสตร์

กลุ่มแรกที่เกิดขึ้นราวทศวรรษ 60 ต้องเจออุปสรรคพอสมควร คือหากศึกษาเรื่องเศรษฐกิจหรือการเมืองก็จะทำได้ยากเพราะขัดกับรัฐบาลไทยที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่หลังจากผ่านพ้นไปหลายสิบปี เมื่อไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับจีนแผ่นดินใหญ่ การทำงานของคนกลุ่มนี้ก็ราบรื่นเรื่อยมา

ส่วนกลุ่มที่สองซึ่งส่วนใหญ่แปลวรรณกรรมหรือนิยายแนวเหนือจริง กำลังภายใน ภูตผีปีศาจ ไม่เคยมีปัญหามาแต่ไหนแต่ไร เว้นเสียแต่จะแปลงานวรรณกรรมแนวสังคมนิยมที่สวนกับแนวทางเสรีนิยมของไทยในตอนนั้น โดยงานวรรณกรรมฝ่ายซ้ายทยอยเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ผ่านพ้นไปแล้ว

ขณะที่งานแปลของนักเขียนจีนยุคใหม่หรือช่วงก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ยังมีออกมาน้อยกว่างานแปลวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์หรือพวกจอมยุทธ์ต่อสู้ด้วยกำลังภายในมาก ซึ่งเป็นผลจากทัศนคติ ค่านิยม รสนิยมของคนในสังคมไทยนั่นเอง
หนังสือ เศรษฐกิจการเมืองจีน หนึ่งในผลงานทรงคุณค่าแก่วงการจีนศึกษาของอาจารย์วรศักดิ์ (ภาพ สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์)
กลับมาการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับจีนในปัจจุบัน โดยเฉพาะทางด้านวิชาการหรือสังคมศาสตร์ ก็พบปัญหาเกี่ยวกับตัวข้อมูล ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่รู้กันว่า สิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์หรือรัฐบาลจีนนำเสนอออกมานั้นล้วนเป็น ‘ข้อมูลด้านเดียว’ ที่เลือกเปิดเผยแต่แง่ดี ทำให้เป็นหน้าที่ของผู้รับข้อมูลที่ต้องใช้วิจารณญาณหรือทัศนะเชิงวิเคราะห์กลั่นกรองเอาเอง

“แม้ว่าจีนจะเปิดประเทศมากกว่าอดีตแล้ว แต่เขาก็เปิดในส่วนที่อยากจะเปิด และปิดในส่วนที่ไม่อยากให้เราล่วงรู้”

ยกตัวอย่างกรณีจีนกำลังปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังในปัจจุบัน ปรากฏว่าเมื่อสัมผัสกับคนวงในก็ได้ทราบเพิ่มเติมว่า มาตรการที่ทางการจีนใช้กำกับควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐนั้นได้ลงลึกถึงรายละเอียดในชีวิตประจำวัน เช่น มีกล้องวงจรปิดจับตาดูการทำงาน การใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

หรือบางหน่วยงานของจีนมีการลงโทษเจ้าหน้าที่ในสังกัด ชนิดที่คนในหน่วยงานนั้นก็งุนงงว่าทำผิดอะไร สมมติว่าเจ้าหน้าที่รายหนึ่งเชี่ยวชาญเรื่องสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าย่อมต้องรู้จักกับบรรดาเจ้าหน้าที่หรือมีเพื่อนชาวสหรัฐฯ แต่กลายเป็นถูกเพ่งเล็งว่าขายชาติหรือเอาความลับของชาติไปขายแทน

ข้อมูลจำพวกนี้อาจารย์วรศักดิ์ชี้ว่า ถ้าเราเป็นบุคคลภายนอกก็จะเข้าถึงได้น้อยมาก เวลาเขียนงานก็จะเกิดข้อจำกัดทางข้อมูลขึ้นมา

“จีนศึกษาของไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร” ยังขาดงานปฐมภูมิเพื่อต่อยอดฯความรู้

อาจารย์วรศักดิ์เผยว่าคำกล่าวนี้ “เป็นความจริงในระดับหนึ่ง” เริ่มจากดู ‘ปริมาณ’ ผลงานเรื่องจีนที่เป็นภาษาไทย ไม่ต้องพูดถึง ‘คุณภาพ’ ถามว่าเมื่อเทียบอัตราส่วนกับการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของประเทศจีนแล้วเป็นอย่างไร ก็ต้องบอกว่ายังไม่พอ

ทีนี้ดูต่อที่งานแปลที่ให้ความรู้เรื่องจีน ทั้งวรรณกรรมและวิชาการ ถามว่ามีจำนวนพอไหมก็คำตอบเดิมว่า “ไม่พอ” แม้จะพบงานแปลนิยายมากมายแต่ก็เป็นแนวบันเทิง เปรียบเป็นภาพยนตร์ก็แนวแอ็คชั่นดูสนุกๆ ส่วนงานแปลวรรณกรรมคลาสสิก หรือวรรณกรรมร่วมสมัยอย่างของหลู่ซวิ่นหรือปาจิน ซึ่งต้องอาศัยผู้แปลที่เก่งภาษาและมากความสามารถ ก็ยังมีจำนวนจำกัด

คำว่า “ไม่ก้าวหน้า” ก็คืองานศึกษาด้านจีนยังมีน้อยอยู่ ตรงนี้กล่าวโทษใครไม่ได้เพราะคนที่สนใจจะมาศึกษาเรื่องจีนอย่างจริงจังก็มีน้อยมาก แม้ว่าทุกวันนี้จะมีคนรุ่นใหม่ก้าวเข้ามาเพิ่มแต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี สรุปคือเราผลิตนักจีนศึกษาได้น้อย

“กระแสความสนใจเรื่องจีนในไทยพุ่งสูงขึ้นก็จริง แต่สูงขึ้นในแง่ที่ว่าคนสนใจเรื่องจีน เพราะต้องการมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมากกว่าความรู้ทางด้านจีนศึกษา”

เมื่อหันไปมองดูชาติตะวันตก เขามีนักจีนศึกษาหลายร้อยคนและหลายคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก ช่วยกันทำงานด้านจีนศึกษากันอย่างขมักเขม้น ที่สำคัญคือ มีการแปลเอกสารโบราณชิ้นสำคัญๆของจีนเป็นฉบับภาษาอังกฤษหมดแล้ว เช่น ซื่อซูอู่จิง (四书五经) บันทึกประวัติศาสตร์สื่อจี้ (史记) ของซือหม่าเชียน พงศาวดาร 20 กว่าเล่ม หรือแม้แต่เอกสารเล็กๆ น้อยๆ

“เอกสารเหล่านี้ เป็นพื้นฐานของการทำงานจีนศึกษา มิฉะนั้นแล้ว ก็มิอาจต่อยอดความรู้เรื่องจีนต่อไปได้หรือเป็นไปอย่างฉาบฉวย”

ตรงนี้หมายความว่าถ้าฝรั่งคนหนึ่งเรียนจบปริญญาตรี เกิดสนใจเรื่องจีน เรียนภาษาจีนแบบงูๆ ปลาๆ พออ่านพินอินและเปิดพจนานุกรมได้ เขาก็สามารถเข้าถึงเอกสารเหล่านี้ได้ ต่อจากนั้นก็เขียนชิ้นงานที่มีฐานจากแหล่งข้อมูลทางวิชาการระดับปฐมภูมิออกมาได้

กรณีนี้จึงอาจเป็นเรื่อง “วิสัยทัศน์ของชนชั้นปกครอง” ของไทย ที่ควรเข้ามามีบทบาทส่งเสริมและสนับสนุนให้มากขึ้น

คำแนะนำถึงคนรุ่นหลังที่สนใจจะศึกษาเรื่องจีน

หากจะศึกษาเรื่องจีนในทางวิชาการ อาจารย์กล่าวว่าคนไทยรุ่นใหม่มีอยู่สองทางเลือกในสถานการณ์เฉพาะหน้าเช่นนี้ โดยทางเลือกแรกคือต้องเก่งภาษาจีน อาจจะทั้งภาษาจีนราษฎร์หรือไป๋ฮว่า (白话) และภาษาจีนหลวงหรือเหวินเหยียน (文言) ส่วนทางเลือกสองคือต้องเก่งภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ต้องไปเรียนอยู่เมืองนอกเพื่อเข้าถึงเอกสารที่เขาแปลไว้ได้

“สิ่งสำคัญก็คือทุกวันนี้การศึกษาเรื่องจีนมันมีประเด็นร้อยแปดพันเก้าให้เราศึกษา ฉะนั้นก็เลือกศึกษาในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคมไทย”

กำลังโหลดความคิดเห็น