สัมภาษณ์ชุด 40 ปี สัมพันธ์ไทย-จีน : รศ. ดร.ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ จากครูสอนภาษาจีน สู่การบุกเบิกองค์ความรู้เรื่องจีน ตอนจบ
ปัจจุบัน อาจารย์ปกรณ์ดำรงตำแน่งผู้อำนวยการโครงการปริญญาโทวัฒนธรรมจีนศึกษาของคณะศิลปศาสตร์ และในระดับมหาวิทยาลัย ยังดำรงตำแหน่งประธานศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารีอีกด้วย เมื่อถามถึงการปฏิบัติงานในหน้าที่ดังกล่าว อาจารย์จึงให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
ผมมักจะมีชะตาที่กำหนดให้ได้ทำในเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจหรือเห็นว่าไม่สำคัญเสมอ เช่นเมื่อตอนไปเรียนปริญญาโทภาษาจีน ก็ไปในขณะที่ภาษาจีนเป็นวิชาที่ไม่ค่อยมีคนสนใจนัก ตอนนี้มีอาชีพเป็นครูสอนภาษาจีนซึ่งมีผู้คนสนใจกันมาก ผมก็ไม่ค่อยได้สอนตัวภาษาจีนโดยตรงแล้ว แต่ไปบุกเบิกวิชาในระดับที่เอาภาษาจีนไปใช้ค้นคว้าวิจัยต่อ และวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นวิชาการด้านที่คนสนใจกันน้อยมาก ส่วนงานของศูนย์ฯบรมราชกุมารี ก็เป็นการพยายามสร้างฐานข้อมูลภาษาไทยที่เกี่ยวกับจีนโดยเฉพาะ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีใครสนใจเลยเช่นกัน งานในตำแหน่งทั้งสองนี้ต้องเรียกว่ายังอยู่ในลักษณะ “ค่อย ๆ คืบ ค่อย ๆ คลาน”ไปทีละน้อย และมีโอกาสสูงที่จะล้มหายไปในที่สุด เพราะความที่มีคนสนใจกันน้อยนั่นเอง
ในเมื่อไม่น่าสนใจ และสังคมไม่สนใจ อาจารย์จะยังคงทำไปทำไม ?
สังคมไทยมีความจำเป็นจะต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับจีน นี่เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็พูดและยอมรับกันอยู่ แต่เหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่การมีองค์ความรู้นั้น เป็นคนละเรื่องกับการเพิ่มปริมาณคนรู้ภาษาจีน เพราะจะต้องสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและจะต้องมีฐานข้อมูลที่เรียกใช้ได้ในทันทีตลอดเวลา
ปัจจัยเหล่านี้จะต้องใช้เวลาสร้างนานนับสิบปีและต้องลงมือทำในวันนี้เพื่อหวังผลข้ามไปถึงรุ่นหน้า เหมือนปลูกไม้ยืนต้น ก็ต้องลงมือเพาะกล้าลงดินไว้ ถ้าไม่ปลูกอะไรเลยก็จะไม่มีต้นไม้นั้น จะมัวหวังซื้อต้นไม้สำเร็จรูปมาจัดตั้งวางไว้ ก็จะเห็นแต่ความงามของต้นไม้ปลอม แต่ไม่ได้กินผลอะไรเลย ผมยังคงทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการเพาะกล้านั้นไว้ แม้จะเพาะไม่ขึ้น ก็ยังเป็นประสบการณ์และตัวอย่างให้คนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้สาเหตุว่าทำไมจึงเพาะไม่ขึ้น
อยากให้อาจารย์อธิบายคำว่า “องค์ความรู้เกี่ยวกับจีน” สักเล็กน้อย
เราเรียนเพื่อให้รู้เรื่องเกี่ยวกับจีนไปทำไม และทำไมต้องเรียน เป็นโจทย์เบื้องต้นที่ควรจะต้องตอบให้ชัดเจน ในประวัติศาสตร์เมื่อประเทศทางตะวันตกเริ่มเรียนเรื่องจีน เขาก็มีจุดมุ่งหมายชัดเจน คือในสมัยแรก ๆ เริ่มจากความต้องการเผยแพร่คริสต์ศาสนา ถ้าต้องการเช่นนั้นก็จะต้องมีความรู้ว่าชาวจีนเขานึกคิดกันอย่างไร ศรัทธาเรื่องอะไรอยู่ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร และจะสื่อสารกันอย่างไรให้เชื่อใจกันได้ เป็นต้น เขาตั้งชื่อวิชาเช่นนี้ว่า Sinology บนรากศัพท์ภาษาละตินฟังดูมีกลิ่นอายโบราณ แต่ให้ความรู้สึกขลังและสนิทสนมสะท้อนความพยายามจะเข้าใจความเป็นจีนให้มากที่สุด
ต่อมาในยุคหลังที่อเมริกาต้องการรู้เรื่องจีนบ้าง ก็เพื่อประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์ อยากได้แนวทางการวางท่าทีต่อจีน เนื้อหาก็เปลี่ยนไปศึกษาสภาวะและสถานะนโยบายของประเทศจีนมากกว่าจะสนใจเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีน เขาก็เปลี่ยนชื่อเรียกศาสตร์แขนงนี้ว่า Chinese Studies ซึ่งฟังดูเหมือนแยกเขาแยกเราชัดเจนกว่า การสนองความต้องการที่ต่างกัน กำหนดให้ความสนใจและเนื้อหาของวิชาที่ศึกษาต่างกันไปด้วย
จีนศึกษาในไทยก็เช่นกัน เมื่อต้องการเสริมองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์ทางการทูต จีนศึกษาในอุดมศึกษาไทยจึงเริ่มที่คณะรัฐศาสตร์ก่อน แม้จะยังไม่มีความจำเป็นในการวางท่าทีต่อจีนมากเท่ากับอเมริกาก็ตาม อันที่จริงในวงการศึกษาไทยก็มีความพยายามจะตั้งชื่อเรียก 2 วิชานี้ให้แยกต่างจากกัน เช่นแทนที่จะใช้คำว่า “จีนศึกษา” ซึ่งใช้ทั่วไป ก็ประดิษฐ์ชื่อเรียกว่า “จีนวิทยา” บ้าง “ จีนคดี” บ้าง “จีนศาสตร์” บ้าง แต่ก็ไม่เป็นที่เข้าใจแพร่หลายนัก ส่วนความสนใจเรื่องจีนของสังคมไทยในปัจจุบันนี้ เมื่อเรามุ่งหมายเพียงแค่ต้องการคบค้าสื่อสารกับจีนได้ ก็เร่งเรียนภาษาจีนกันเป็นการใหญ่เพื่อให้สื่อสารได้ก็พอ ไม่ต้องการความรู้อะไรอื่นมากไปกว่านั้น
วิชาในโครงการวัฒนธรรมจีนศึกษาของอาจารย์คงเป็นแบบ Sinology ? ไม่โบราณล้าสมัยเกินไปหรือ
ก็ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมาย ถ้าเราคิดว่าสังคมไทยจำเป็นจะต้องเข้าใจภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของคนที่อยู่ในวัฒนธรรมจีน เราก็ต้องเรียนด้านนี้ ประโยชน์ที่ได้น่าจะเป็นระดับจุลภาคมากกว่า คือเราอาจจะสามารถบ่มเพาะ ปรุงแต่ง หรือยกระดับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์เฉพาะบุคคลได้จากการเรียนรู้และซึมซับประสบการณ์เชิงวัฒนธรรมจากอารยธรรมอื่น ๆ ได้เสมอ
ถ้าประวัติศาสตร์และมรดกของไทยไม่รุ่มรวยพอที่จะบ่มเพาะคนไทยให้มีโลกทัศน์และชีวทัศน์รอบด้านที่กว้างขวางลุ่มลึกเพื่อให้รู้เท่าทันและรู้จักวางตัวเผชิญกับโลกที่แคบลงจนมาบีบตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกวันนี้ ก็จำเป็นต้องอาศัยมรดกภูมิปัญญาของโลกมาช่วยเสริม ผมคิดว่าสมบัติจีนก็มีคุณค่าไม่น้อยกว่าสมบัติของอารยธรรมตะวันตกที่เราเชื่อถือคล้อยตามกันมาตลอด และคงจะไม่ใช่เรื่องฉลาดนักที่จะปฏิเสธการเรียนเรื่องที่เรายังไม่ค่อยเข้าใจเพราะหลงคิดว่าจะเอาไปใช้อะไรไม่ได้ แล้ววันหนึ่งก็พากันแตกตื่นมาเร่งเรียนเรื่องที่เราไม่เคยใส่ใจกันมาก่อน ดังอาการที่ปรากฏอยู่กับอาเซียนศึกษาในปัจจุบัน ข้อสำคัญ ต้องเข้าใจว่าการศึกษาเรื่องโบราณไม่ใช่เรื่องล้าสมัย การไม่ศึกษาเรื่องโบราณต่างหากที่กำลังจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย
ตอนนี้เราก็สื่อสารกับจีนได้มากพอสมควรแล้วใช่ไหม ?
ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ถ้าหวังจะสื่อสารด้านภาษาอย่างเดียว ปัจจุบันในทุกวงการของไทยน่าจะมีคนพอที่ทำหน้าที่ “ล่ามภาษา” ได้ไม่มากก็น้อย แต่คนจีนที่รู้ภาษาไทยก็อาจจะมีบทบาทด้านนี้ด้วย ต่อไปภายหน้าก็คงต้องยกระดับคำถามให้ลึกซึ้งขึ้นว่า องค์กรไทยที่ต้องการประสิทธิผลจะเลือกใช้คนไทยที่รู้ภาษาจีนหรือคนจีนที่รู้ภาษาไทย เพราะอะไร เป็นต้น
ภาษาจีนจะกลายเป็นภาษาสากลแทนที่ภาษาอังกฤษในอนาคตหรือไม่ โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออก
ออกจะเป็นคำถามที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถึงจะทำนายอนาคตได้แม่นยำ และเป็นเช่นที่ว่าจริง แต่เราจะเลิกเรียนภาษาอังกฤษกันหรือ? ไม่ใช่เรื่องเกินปกติหรอกที่คนในรุ่นถัดจากนี้ไป จะเชี่ยวชาญภาษาสักสองหรือสามภาษาไปพร้อม ๆ กัน
คลิกอ่าน: ชำแหละการศึกษาภาษาจีน และสภาพองค์ความรู้จีนในไทย