เอเจนซี - จีนสั่งห้าม “การเล่นคำ” ในกลุ่มสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ชี้เหตุก่อให้เกิด “จลาจลทางภาษาและวัฒนธรรม” ด้านผู้เชี่ยวชาญติงเป็นข้ออ้างลงโทษคนซุบซิบนินทาทางอ้อม
ประกาศิตจากสำนักบริหารสื่อสิ่งพิมพ์ กิจการวิทยุกระจายเสียง ภาพยนตร์ และโทรทัศน์แห่งชาติ (State Administration of Press, Publication, Radio, Film and Television) ระบุเหตุผลว่าด้วยความมิชอบด้วยกฎหมายในการเขียนและการพูดภาษาจีน รวมถึงส่งผลต่อการส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมยากยิ่งขึ้นและชี้นำสาธารณะโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไปในทางที่ผิด
คำสั่งดังกล่าวมุ่งกำชับเจ้าหน้าที่วิทยุและโทรทัศน์ทุกระดับงานต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับและลงโทษการใช้ภาษาจีนที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ โดยรายการต่างๆ ควรยึดถือมาตรฐานการสะกดและการใช้อักษร คำ วลี และสำนวนอย่างเข้มงวด
“สำนวนเป็นคุณลักษณะเด่นประการหนึ่งของภาษาจีน อันกอปรด้วยมรดกทางวัฒนธรรม แหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางจริยธรรม และระบบความคิดลึกซึ้งที่เป็นรากฐานของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง”
อย่างไรก็ดี นักวิชาการด้านจีนศึกษา มหาวิทยาลัยฝึกหัดครูปักกิ่ง (Beijing Normal University) นายเดวิด โมเซอร์ กล่าวว่า “คำสั่งนับเป็นเรื่องตลกที่สุด เพราะการเล่นคำถือเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางภาษาจีน”
“คงเป็นความคิดของกลุ่มคนเล็กๆ หรือแค่คนๆ เดียว ที่คร่ำเคร่งศีลธรรมจรรยา ไร้อารมณ์ขัน และใฝ่อนุรักษ์นิยม ทำให้ทุกคนจำต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้” โมเซอร์กล่าว “แต่ผมกำลังสงสัยว่าสิ่งนี้อาจเป็นข้ออ้างในการลงโทษประชาชน ที่พลิกแพลงภาษาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับผู้นำหรือนโยบายของทางการ โดยอิงเหตุผลศีลธรรมทางภาษา”
ทั้งนี้ ภาษาจีนเป็นภาษาที่มีคำพ้องเสียงจำนวนมากซึ่งเอื้อต่อการเล่นคำที่มีความหมายสองนัยยะ โดยปรากฏเห็นได้ทั้งในคำพูดวรรคเด่นวรรคดัง คำสอนตามขนบธรรมเนียมประเพณี เรื่องเล่าตลกขบขัน ตลอดจนบทสนทนาออนไลน์ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน
ตัวอย่างเช่นเมื่อมีคู่รักแต่งงานกัน คนรู้จักจะพากันมอบผลอินทผลัมกับถั่วลิสง โดยในภาษาจีนผลอินทผลัมอ่านว่า เจ่า (枣) ส่วนถั่วลิสงอ่านว่า ฮวาเซิง (花生) พ้องเสียงกับคำอวยพร “เจ่าเซิงกุ้ยจื่อ” (早生贵子) หรือ “ขอให้ทั้งสองมีลูกชายในเร็ววัน” หรืออีกกรณีของการโฆษณาทางการแพทย์ ใช้วิธีแทนที่อักษรเดี่ยวตัวแรกในวลี “เค่อ ปู้ หลง ห่วน” (刻不容缓 - เร่งด่วนมาก, ชักช้ารีรอไม่ได้) เปลี่ยนเป็น “เค๋อ ปู้ หลง ห่วน” (咳不容缓- อาการไอไม่ต้องอ้อยอิ่งทิ้งไว้)
ขณะที่ชาวเน็ตจีนก็สร้างสรรค์หนทางในการซุบซิบนินทาประเด็นหรือเรื่องราวของบุคคล ที่ทางการพยายามเซ็นเซอร์ปิดกั้น ด้วยบ่อยครั้งอ้างเหตุผลเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม อาทิ การคอร์รัปชั่นของนักการเมืองคนดัง การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน เรื่องลับหลังม่านของบรรดาชนชั้นนำ หรืออุบัติเหตุใหญ่ที่บั่นทอนภาพลักษณ์ประเทศ เป็นต้น