xs
xsm
sm
md
lg

บางคำถามที่ยังไม่มีคำตอบจากกรณีควีนอังกฤษตำหนิ จนท.จีน “หยาบคาย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ระหว่างงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณ พระราชวังบักกิงแฮม กรุงลอนดอน ในวันแรกแห่งการเยือนอังกฤษอย่างเป็นรัฐพิธีของประมุขแดนมังกร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2015 </i>
บีบีซีนิวส์/เอเจนซีส์ - สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชดำรัสถึงพวกเจ้าหน้าที่จีนว่า ประพฤติตน “หยาบคายมาก” ระหว่างการเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นรัฐพิธีเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

ในงานพระราชทานเลี้ยง ณ สวนของพระราชวังบักกิงแฮม ของกรุงลอนดอน ขณะที่มีฝนตกเทลงมาเมื่อวันอังคาร (10 พ.ค.) ควีนเอลิซาเบธทรงออกพระโอษฐ์ว่า “โชคร้ายจริง” เมื่อเลขาธิการพระราชวังเบิกตัว ลูซี ดอร์ซี ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เข้าเฝ้าฯ โดยกราบทูลแนะนำว่า เธอเป็นผู้รับผิดชอบการรักษาความปลอดภัยในช่วงการเยือนของผู้นำจีน

การที่ทรงออกพระโอษฐ์ชนิดมิได้ทรงระมัดระวังปกปิดป้องกันอะไรเช่นนี้ จัดว่ามิใช่เป็นพระจริยวัตรปกติของพระองค์ แต่กระนั้นก็ก่อให้เกิดคำถามบางประการเกี่ยวกับการเยือนคราวนั้น ซึ่งยังคงไม่มีคำตอบ
<i>สมเด็จพระราชนีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับ  ลูซี ดอร์ซี ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลอังกฤษ ในงานเลี้ยงพระราชทานที่สวนของพระราชวังบักกิงแฮม ในกรุงลอนดอน เมื่อวันอังคาร (10 พ.ค.)  สื่ออังกฤษรายงานว่าในช่วงเวลานี้เองที่มีเสียงพระราชดำรัสของควีนตำหนิพวกเจ้าหน้าที่จีน </i>
พวกเจ้าหน้าที่จีนทำอะไรซึ่งทำให้ควีนตรัสว่า “หยาบคาย” เหลือเกิน?

ตอบสรุปกันสั้นๆ ก็คือ เรายังไม่ทราบ

ตอนที่เลขาธิการพระราชวังกราบทูลแนะนำนั้น เขาพูดว่า ดอร์ซีถูก “ฝ่ายจีนเล่นงานอย่างร้ายกาจมากๆ”

ผู้บัญชาการดอร์ซีเองก็กราบทูลว่า สิ่งที่เธอประสบมาถือว่า “เป็นช่วงเวลาแห่งการทดสอบจริงๆ” และ “พวกเขาเดินออกจากแลงคาสเตอร์เฮาส์ และบอกกับข้าพระพุทธเจ้าว่า ทริปนี้จบแล้ว” ทั้งนี้ อาคารแลงคาสเตอร์เฮาส์เป็นอาคารรับรองที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการต่างประเทศและเครือจักรภพอังกฤษ ตั้งอยู่ใกล้พระราชวังบักกิงแฮม

เป็นที่ชัดเจนว่าสมเด็จพระราชินีนั้นทรงทราบถึงเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเป็นอย่างดีโดยตลอด และได้ตรัสแทรกขึ้นมาว่า “พวกเขาแสดงความหยาบคายมากต่อท่านเอกอัครราชทูต” ซึ่งทรงหมายถึง บาร์บารา วูดเวิร์ด เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำจีน

โดยที่ผู้บัญชาการตำรวจ ดอร์ซี ตอบรับว่า “พวกเขาเดินออกจากห้องไป ต่อหน้าต่อตาพวกเราทั้ง 2 คน (ดอร์ซี และเอกอัครราชทูตวูดเวิร์ด) ”

สิ่งที่ผู้บัญชาการตำรวจ ดอร์ซี กล่าวนั้นหมายความว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้ข่มขู่ที่จะยกเลิกการเดินทางเยือนอย่างเป็นรัฐพิธีคราวนี้ทั้งหมด? หรือเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกำหนดการเท่านั้น?

เป็นความขัดแย้งไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับการดำเนินการทางด้านความปลอดภัย (ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจ ดอร์ซี มีหน้าที่รับผิดชอบ และดังนั้นเธอจึงแสดงอาการถูกบีบคั้นกดดันอย่างชัดเจน) หรือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญทางการทูตกว้างไกลกว่านั้นอีก?

เราพูดได้เพียงแค่ว่ายังไม่ทราบ ฝ่ายตำรวจก็ไม่ได้มีการออกคำแถลงใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

ประธานาธิบดีสี และมาดามเผิง ภริยาของเขา เป็นพระราชอาคันตุกะในสมเด็จพระราชินีและเจ้าชายฟิลิป พระสวามี ที่พระราชวังบักกิงแฮม ระหว่างการเดินทางเยือนอังกฤษอย่างเป็นรัฐพิธีคราวนั้น ด้วยเหตุนี้จึงอาจอธิบายได้ว่าทำไมควีนจึงทรงทราบเรื่องราวรายละเอียดขนาดนี้

การปฏิบัติการของตำรวจเป็นอย่างไรในตอนที่ประธานาธิบดีสีอยู่ในลอนดอน?

ตำรวจนครบาลกรุงลอนดอนต้องออกมาแถลงปกป้องตนเอง เนื่องจากถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งหลายกล่าวหาว่าตำรวจปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมต่อกลุ่มผู้ประท้วงผู้นำจีน ในช่วงการเยือนของประธานาธิบดีสี ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

ผู้บัญชาการตำรวจ ดอร์ซี ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งทันทีภายหลังการเยือนของผู้นำจีนผ่านพ้นไปแล้ว โดยมีเนื้อความว่าเธอรู้สึกผิดหวังที่ได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ตำรวจนครบาล “กำลังปฏิบัติงานตามคำสั่งของฝ่ายจีนในการปราบปรามการประท้วง”
<i>ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (ที่1 จากขวา) และมาดามเผิง ภริยา (ที่3 จากขวา) เข้าร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณ พระราชวังบักกิงแฮม ซึ่งสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ (ที่ 2 จากขวา) และ เจ้าชายฟิลิป พระสวามี (ที่4 จากขวา) ทรงจัดต้อนรับ ในคืนวันที่ 20 ตุลาคม 2015 </i>
ทำไมเรื่องนี้จึงเปิดเผยกันออกมาในเวลานี้?

พระราชดำรัสในเรื่องนี้ของควีนถูกบันทึกเอาไว้โดยไมโครโฟนของกล้องวิดีโอที่กำลังบันทึกภาพเหตุการณ์งานพระราชทานเลี้ยงในสวนคราวนี้ โดยผู้ที่ถ่ายคือ ปีเตอร์ วิลคินสัน ช่างภาพอย่างเป็นทางการประจำพระองค์สมเด็จพระราชินี

คลิปวิดีโอที่เขาบันทึกไว้ถูกนำออกเผยแพร่ให้แก่สื่อมวลชนทีวีแห่งต่างๆ ตามข้อตกลง “รวมการเฉพาะกิจ” ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติมาตรฐานสำหรับการรายงานข่าวพระราชกรณียกิจต่างๆ (เพื่อที่จะได้ไม่ต้องให้สื่อทีวีทุกเจ้าคอยส่งทีมช่างภาพของตนเองไปทำข่าวพระราชกรณียกิจทุกๆ งาน)

จนเมื่อคลิปวิดีโออยู่ในมือของสื่อทวีต่างๆ แล้วนั่นแหละ ถึงได้ตรวจพบพระราชดำรัสที่มิได้มีความรัดกุมทางการทูตนี้

แต่ในตอนนั้นทำไมทุกๆ ฝ่ายต่างบอกว่าการเยือนของผู้นำจีนประสบผลสำเร็จดีมาก?

ใครๆ ก็พูดเช่นนั้นจริงๆ ในตอนนั้นประธานาธิบดีสีแถลงว่า เขาเชื่อว่าการเยือนของเขาจะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับจีน ขึ้นสู่ “จุดสูงยิ่งขึ้นจุดใหม่”

ในขณะที่หลังมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอพระราชดำรัสของควีนคราวนี้ ทางพระราชวังบักกิงแฮมได้ออกคำแถลงระบุว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับ “พระราชปฏิสันถารส่วนพระองค์” ของสมเด็จพระราชินี แต่ก็บอกด้วยว่า ทุกๆ ฝ่ายต่างทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การเดินทางเยือนคราวนั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น

ส่วน หลู่ คัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า การเยือนสหราชอาณาจักรของประธานาธิบดีคราวนั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก และ “เป็นหลักหมายแสดงถึงการเริ่มต้นแห่งยุคทองระหว่างจีนกับสหราชอาณาจักร”

อย่างไรก็ตาม จากพระราชดำรัสของควีนย่อมทำให้เวลานี้เราทราบกันแล้วว่า เบื้องหลังฉากลงไปนั้นมีช่วงเวลาแห่งการทดสอบอันตึงเครียดอยู่ด้วย อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกรุงลอนดอน และเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำจีน กระนั้น นี่ไม่ได้หมายความว่าภาพรวมของการเยือนคราวนั้นมิใช่ความสำเร็จ

เคอร์รี บราวน์ ศาสตราจารย์ด้านจีนศึกษาแห่งคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน และอดีตนักการทูตอาวุโสของอังกฤษประจำปักกิ่ง บอกกับบีบีซีว่า เป็นเรื่องโดดเด่นเตะตามากที่กระทั่งบุคคลผู้ซึ่งทรงมีประสบการณ์ทางการทูตอย่างยาวนานมาถึง 60 ปีอย่างสมเด็จพระราชินี ก็ยังคงพบว่าการรับมือกับระเบียบพิธีการทูตและกลไกของฝ่ายจีนนั้นเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัส

“ในแง่ของการสร้างบรรยากาศระหว่างพวกนักการทูตในจีนกับในสหราชอาณาจักรแล้ว มันไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ง่ายดาย และเป็นสิ่งที่ต้องก้าวผ่านอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เต็มไปหมดอย่างที่ปรากฏอยู่ในพระราชดำรัส”

ในสื่อมวลชนจีนมีการพูดถึงกรณีนี้อย่างไรบ้าง

ในขณะนี้ยังไม่มีการรายงานข่าวอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ในจีนแผ่นดินใหญ่ เคอร์รี อัลเลน นักวิเคราะห์สื่อจีนแห่งบีบีซี มอนิเตอริ่ง หน่วยงานของบีบีซีซึ่งทำหน้าที่เฝ้าติดตามและรายงานข่าวของสื่อมวลชนทั่วโลก ระบุ

“นี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร พระราชดำรัสของควีนจะต้องถูกถือว่าเป็นสิ่งที่สร้างความอับอายขายหน้าอย่างสูงให้แก่ชนชั้นนำของจีน เนื่องจากแนวความคิดว่าด้วย “การรักษาหน้า” ซึ่งก็คือการรักษาศักดิ์ศรีหรือเกียรติคุณเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างเหลือเชื่อทีเดียวในประเทศนี้” เธอกล่าว

“สืบเนื่องจากพระราชดำรัสนี้มีความอ่อนไหวมาก พวกสื่อของรัฐจีนจะต้องถูกกำหนดให้ถอยห่างอย่าเพิ่งรายงานข่าวเรื่องนี้ จนกว่ารัฐบาลจะตัดสินใจว่าจะทำการตอบโต้อย่างเป็นทางการอย่างไร

“มีผู้ใช้พวกไมโครบล็อกยอดนิยม อย่างเช่น ซิน่า เว่ยโป๋ วิจารณ์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ และก็มีปฏิกิริยาตอบกลับมาอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม พวกเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์กำลังเฝ้าตรวจจับและทำการเซ็นเซอร์ความเห็นเหล่านี้เพื่อจำกัดผลกระทบ”

รายงานของโทรทัศน์บีบีซี เวิลด์ นิวส์ ซึ่งถ่ายทอดให้ชมได้ในประเทศจีน ก็จะขึ้นจอดำเป็นพักๆ เมื่อใดก็ตามที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการเยือนอังกฤษของประธานาธิบดีสี

กำลังโหลดความคิดเห็น