xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : ควีนอังกฤษเตือน “คิดให้หนักก่อนโหวต” อนาคต “อังกฤษ-สก็อตแลนด์” - มือมืดตั้งด่านตรวจพาสปอร์ตผู้ดีขับเข้ากลาสโกว์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและสกอตแลนด์ร่วม 300 ปีจะถูกชี้ชะตาในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ย.) ด้วยการลงประชามติของชาวสกอตที่จะต้องการเห็นสกอตแลนด์อยู่ในสหราชอาณาจักรอังกฤษต่อไป หรือจะก้าวออกมาจากร่มเงาธงยูเนียนแจ็กตั้งเป็นประเทศใหม่เหมือนที่รอคอยมาหลายร้อยปี ทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอน หวั่นวิตก และรวมไปถึงสมเด็จพระราชินีนาถอังกฤษ เอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระกระแสดำรัสต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก “ขอให้ตรองให้หนักก่อนลงคะแนน” และล่าสุดมือมืดแอบตั้งด่านตรวจพาสปอร์ตบริเวณอังกฤษและสกอตแลนด์ล่วงหน้าก่อนวันลงคะแนน พร้อมข้อความ “เปิดใช้อย่างเป็นทางการหลังวันลงประชามติ (19) และบรรยากาศสุดคึกคักในสกอตแลนด์ก่อนเปิดคูหาลงคะแนน

หนังสือพิมพ์อังกฤษดิ อินดีเพนเดนต์ รายงานเมื่อวานนี้ (16) ว่า จากผลสำรวจโพลของไอซีเอ็มโพล และโอพีเนียน เซอร์เวย์ ของ2 สำนักก่อนวันลงประชามติชี้ว่า มีผู้ลงคะแนนโหวตโนต้องการให้สก็อตแลนด์อยู่ใต้ร่มเงาอังกฤษต่อไปราว 52% (แคมเปญโหวตโน Together Better) และผลลงคะแนนต้องการให้สกอตแลนด์ประกาศอิสรภาพจำนวน 48% (แคมเปญจ์โหวตเยส สกอตแลนด์) ทำให้อนาคตของสหราชอาณาจักรอังกฤษต้องตกอยู่ในมือของผู้มีสิทธิ์ที่ยังไม่ตัดสินใจ

และจากกระแสร้อนแรงที่ถูกจับตาจากคนทั้งโลก ล่าสุดเมื่อวานนี้ (16) หนังสือพิมพ์อังกฤษ เดอะมิลเลอร์ รายงานว่า มีมือมืดแอบตั้งด่านตรวจพสาปอร์ตจำลองบริเวณพรมแดนระหว่างอังกษและสกอตแลนด์ พร้อมกับป้ายประกาศ “เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ (19) ซึ่งเป็น 1 วันหลังจากการลงประชามติ

นักขับชาวอังกฤษพบกับด่านตรวจบริเวณเจดบะระ (Jedburgh) พรมแดนอังกฤษ-สกอตแลนด์ และต้องชะลอหยุดรถเมื่อมีชายแต่งกายคล้ายตำรวจ และสวมเสื้อกั๊กสีสะท้อนขอดูใบขับขี่นักขับที่ต้องการเดินทางเข้าสกอตแลนด์ ในขณะเดียวกันที่ด่านมีป้ายประกาศติดว่า “ด่านตรวจคนเข้าเมืองสกอตแลนด์ - จุดตรวจหนังสือเดินทาง จะเปิดทำการอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ (19)” ซึ่งถือเป็นสีสันสร้างอารมณ์ขันให้กับทั้งสองฝ่าย

ในขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ สมเด็จพระราชินีนาถ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ทรงตรัสต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกถึงอนาคตของสกอตแลนด์ว่า “ขอให้ชาวสกอตคิดใคร่ครวญให้หนักก่อนเข้าคูหาลงคะแนน” แต่กระนั้น พระองค์ไม่แสดงถึงจุดยืนเป็นแนวทางว่าชาวสกอตควรออกเสียงสนับสนุนหรือคัดค้านการประกาศเอกราช เพราะพระองค์ยังทรงประสงค์ดำรงความเป็นกลางตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศกำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายฝ่ายได้ตีความกระแสพระราชดำรัสของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ว่าพระนางชี้เป็นนัยว่า ฝ่ายที่หนุน “โหวตเยส สกอตแลนด์” ควรคิดให้หนักหากต้องแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรอังกฤษที่มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสร์ร่วมกันมาอย่างยาวนานถึง 300 ปี

ทั้งนี้ สมเด็จพระราชินีนาถ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ทรงตรัสถึงสกอตแลนด์ต่อฝูงชนหลังจากเสร็จสิ้นการเข้าโบสถ์ในวันอาทิตย์ (14) ที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากพระตำหนักบัลโมรอล (Bulmoral) ในสกอตแลนด์ และเมื่อเร็วๆ นี้สำนักพระราชวังบัคกิงแฮมได้ออกแถลงการณ์ว่า ควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะยังทรงยืดถือความเป็นกลางทางการเมือง แต่นักการเมืองบางส่วนจากพรรคคอนเซอร์เวตีฟ ปาร์ตี ต้องการให้พระประมุขของชาติมีกระแสพระราชดำรัสออกมาสู่สาธารณชนก่อนถึงวันเปิดคูหาเพราะ “การตัดสินชี้ชะตาจะทำให้เป็นการสิ้นสุดเดอะยูเนียนในที่สุด”

และเป็นที่ประจักษ์ต่อทุกคนว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีความผูกพันธ์กับดินแดนสกอตแลนด์อย่างลึกซึ้ง และรู้กันโดยทั่วไปว่าในช่วงหน้าร้อนของทุกปี สมเด็จพระราชินีมักจะเสด็จไปพักผ่อนที่สกอตแลนด์ที่พระตำหนักบัลโมรอล ซึ่งพสกนิกรชาวอังกฤษมักเห็นภาพพระนางดำเนินเสด็จในป่า หรือทรงม้า



ด้านสื่อสกอตแลนด์นาววันนี้ (17) ได้ใช้ข้อมูลกราฟิกอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและสกอตแลนด์เพื่อให้เข้าใจภายใน 5 นาที
#1 แสดงให้เห็นว่าสก็อตแลนด์ได้รับเงินอุดหนุนจากภาษีจากสหราชอาณาจักรอังกฤษถึง 9.3 % ต่อปี ทำให้เป็นที่สงสัยว่าสก็อตแลนด์จะอยู่ได้ด้วยตนเองหรือไม่หากต้องแยกตัวออกไป และพบว่ามีชาวอังกฤษถึง 8.3 % ของประชากรสหราชอาณาจักรที่ตั้งรกรากอยู่ในสก็อตแลนด์
#2 จากชาร์ตแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้สก็อตแลนด์จะได้รับเงินอุดหนุนจากภาษีมาก แต่ชาวสก็อตกลับจ่ายภาษีสูงกว่าชาวอังกฤษ และนี่อาจเป็นหนึ่งในคำตอบที่สามารถชี้ได้ว่า สก็อตแลนด์สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจจากอังกฤษต่อไป
#3 ก๊าซธรรมชาติและแหล่งน้ำมันดิบในทะเลเหนือจะกลายเป็นประด็นสำคัญหลังจากชะตาของสหราชอาณาจักรอังกฤษถูกตัดสิน เพราะจะถือเป็นรายได้หลักของรัฐบาลสก็อตชุดใหม่ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นหลังการประกาศเอกราช ดังนั้นจึงเป็นคำถามว่า สก็อตแลนด์ควจจะมีส่วนแบ่งจำนวนมากเท่าใดในทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ รวมไปถึงการผลิต และการตั้งราคาขาย เพราะในปัจจุบันนี้รายได้จากทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานจากทะเลเหนือที่มี North Sea oil เป็นผู้จัดการ และกระจายรายได้ แต่หากผลประชามติตัดสินใจแยกตัว จะทำให้สก็อตแลนด์จะได้รับส่วนแบ่งเมื่อคิดเชิงถูมิประเทศ หรือตัดสินจากจำนวนพลเมือง
#4 แต่ทางรัฐบาลอังกฤษได้คาดการณ์ล่วงหน้าถึงความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลสก็อตตั้งใหม่จะไม่มีความมั่นคงทางด้านการคลังหลังจากการประกาศเอกราชเนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันไม่แน่นอน อีกทั้งทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานของทะเลเหนือกำลังค่อยหมดไป ซึ่งชี้ได้ว่า สก็อตแลนด์น่าจะได้รับส่วนแบ่งหาประโยชน์ทางทะเลเหนือตามลักษณะภูมิประเทศเป็นสำคัญ
#5 และเป็นที่น่าแปลกใจว่าถึงแม้รัฐบาลสก็อตจะตระหนักในปัญหาความไม่แน่นอนกับรายได้ทางการคลัง แต่กระนั้นยังออกแบบจำลอง 6 สถานการณ์ด้วยกันที่ถึงแม้สถานการณ์จะเป็นเชิงลบแต่รัฐบาลสก็อตยังให้ภาพเชิงบวกอย่างชัดเจน เช่น จะยังคงมีรายได้จากแหล่งพลังงานธรรมชาติอย่างคงที่ในอนาคต
 #6 ปัญหาสกุลเงินใหม่ ที่สื่อสก็อตแลนด์นาวรายงานว่า ชาวสก็อตยังต้องการใช้สกุลเงินปอนด์ร่วมกับอังกฤษต่อ รวมไปถึงงบประมาณการคลังร่วมกับสหราชอาณาจักรอังกฤษหลังการประกาศแยกประเทศ แต่ทว่าก่อนหน้านี้อังกฤษประกาศแข็งกร้าวที่จะไม่ให้สก็อตแลนด์ใช้สกุลเงินปอนด์ร่วมด้วย ซึ่งสก็อตแลนด์จะมีทางเลือกจำกัดแค่ 3 ทาง หลังตั้งประเทศใหม่คือ  (1) ยังคงใช้สกุลเงินปอนด์ต่อไป แต่กระทรวงการคลังของสก็อตแลนด์จะไม่สามารถควบคุมสกุลเงินได้ รวมไปถึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (2) ใช้สกุลเงินยูโร ที่มีนโยบายความเท่าเทียมกันของประเทศสมาชิก แต่จะทำให้สก็อตแลนด์ต้องประสบความเสี่ยงค่าเงินยูโรร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นของสหภาพยุโรป (3) ตั้งสกุลเงินใหม่ แต่รัฐบาลสก็อตจะประสบปัญหาลำบากจากค่าเงินลอยตัวในตลาด
#7 นอกจากนี้แล้ว สก็อตแลนด์ยังต้องรับผิดชอบหนี้สาธารณะก้อนโตร่วมกับสหราชอาณาจักรอังกฤษราว 1,300 พันล้านปอนด์ และคาดการณ์ว่านี้สาธารณะก้อนโตของเดอะยูเนียนจะพุ่งสูงถึง 78.7% ของจีดีพี ในปี 2015-2016 และจะทำให้ต้องหาอัตราส่วนของกองหนี้ที่สก็อตแลนด์ต้องแบกรับหลังจากตั้งเป็นรัฐใหม่
#8 ปัญหาโอบอุ้มสถาบันการเงินยาวเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลสก็อตแลนด์จะไม่สามารถช่วยโอบอุ้มสถาบันการเงินเหล่านี้ อาทิ Lloyds หรือHBOS และ the Royal Bank of Scotland ได้หากเกิดปัญหาขึ้น
#9 และที่สำคัญชาวสก็อตยังคงผูกพันธ์กับสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักรอังกฤษอย่างเหนียวแน่น เช่น ราชวงศ์อังกฤษ และ BBC
#10 สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ปัญหาความเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปจะสิ้นสุดทันทีหากมีการประกาศแยกตัว และชาวสก็อตหวังเป็นอย่างมากว่าจะมีการแก้กฎหมาย Article 48 of the Lisbon Treaty เพื่ออนุญาตให้ประเทศเกิดใหม่ที่แต่เดิมเคยเป็นสมาชิกนั้นสามารถกลับเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้โดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตั้งแต่เริ่มแรก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าทางอียูประกาศชัดว่า หากสก็อตแลนด์ตั้งเป็นชาติใหม่สำเร็จจริง รัฐบาลสก็อตแลนด์ต้องเริ่มต้นกระบวนการตั้งแต่แรกสุดเพื่อขอเข้าเป็นสมาชิกอียูใหม่อีกครั้งภายใต้กฎหมาย Article 49 of the Treaty on European Union 

กำลังโหลดความคิดเห็น