สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชจริยวัตรอันเด่นล้ำในด้านจีน ทรงเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์แบบในการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีน อีกทั้งทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีน ครบถ้วนทุกมณฑลและมหานคร ทั้งยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกการเดินทางสู่ประเทศจีนให้ประชาชนชาวไทยได้อ่านถึงกว่าสิบเล่มด้วยกัน นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชนิพนธ์แปลวรรณกรรมจีนยุคปัจจุบัน พระราชจริยวัตรเหล่านี้ช่วยให้สัมพันธไมตรีและความเข้าใจระหว่างประชาชนชาวไทย-จีนมีความลึกซึ้งแนบแน่นยิ่งขึ้น
เรื่องราวพระจริยวัตรแห่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯในด้านจีนดังกล่าวข้างต้นนี้ ได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือ เมื่อได้ใกล้ชิดยุคลบาท โดยเป็นหนังสือรวมข้อเขียนบันทึกความทรงจำของพระอาจารย์ 12 ท่าน ผู้เคยถวายพระอักษรภาษาจีนแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทั้งในประเทศไทย และเมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษา ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง นับว่าเป็นหนังสือเฉลิมพระเกียรติเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ณ วันที่ 2 เมษายน 2558
ข้อเขียน 12 ชิ้น ในหนังสือ เมื่อได้ใกล้ชิดยุคลบาท บันทึกเกี่ยวกับพระจริยวัตรอันสูงส่ง และเปี่ยมด้วยพระเสน่ห์แห่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ อย่างมีชีวิตชีวา มีคุณค่าควรแก่การอ่าน มีรายละเอียด เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่มิอาจรับรู้ได้จากแหล่งใด ด้วยเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ของกลุ่มพระอาจารย์ “ผู้ใกล้ชิดยุคลบาท” ที่ได้เข้าเฝ้า และถวายการสอนภาษาจีน พระอาจารย์ทุกท่านล้วนประทับใจซาบซึ้งในพระราชอัธยาศัยและพระวิริยะภาพด้านการศึกษาของพระองค์ท่านที่เป็นไปด้วยความมั่นคงสม่ำเสมอ อุตสาหะและต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ทั้งยังทรงรังสรรค์ผลงานที่ทรงคุณูปการแก่วงการจีนศึกษาของไทยอย่างเอกอุ
หนังสือ เมื่อได้ใกล้ชิดยุคลบาท ยังได้รวบรวมภาพพระจริยวัตรของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มากมาย โดยหลายภาพเป็นภาพถ่ายที่หาได้ยาก
ทั้งนี้ การแปลหนังสือ เมื่อได้ใกล้ชิดยุคลบาท จากต้นฉบับภาษาจีน 走近诗琳通公主 เป็นความริเริ่มโดยคณะกรรมการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมอบหมายให้ศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารีเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งได้มอบให้สำนักพิมพ์ชวนอ่าน เป็นผู้จัดพิมพ์
ขอหยิบยกบางบทตอนจากข้อเขียนในหนังสือฯ เมื่อได้ใกล้ชิดยุคลบาท มาเป็นตัวอย่างแสดงถึงสารัตถะและอรรถรสแห่งชีวิตชีวา ซาบซึ้งใจ ของหนังสือฯ
บทบันทึกเรื่อง “เสน่ห์แห่งพระจริยวัตรในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” โดย เผย์เสี่ยวรุ่ย ศาสตราจารย์ประจำคณะภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้เล่าใน ตอน “วาสนาที่ผูกพันกับจีน”.....
“ใน ปี ค.ศ.1973 ระหว่างที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปเยือนประเทศสวีเดน ได้เสด็จชมพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุเอเชียตะวันออกไกล ในกรุงสต็อกโฮล์ม และได้ทอดพระเนตรเห็นเครื่องเคลือบดินเผาของจีนจำนวนมาก นับแต่นั้นมาก็ทรงเริ่มสนพระราชหฤทัยในเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน ครั้นเมื่อทรงเข้ารับการศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ทรงพระอักษรหนังสือและตำราเกี่ยวกับประเทศจีนจำนวนมากทั้งที่เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส กระทั่งในปี ค.ศ.1980 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนับสนุนให้ทรงพระอักษรภาษาจีนกับพระอาจารย์ชาวจีนที่สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยจัดถวาย หลังจากนั้น ก็ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในความรู้ด้านภาษาจีนอยู่เป็นอาจิณ ตลอด 30 ปี...”
“ช่วงเวลา 30 วัน ที่ทรงพระอักษรอยู่ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ทรงใช้ปากกาลูกลื่นจนน้ำหมึกหมดไปถึง 8 ด้าม น่าจะถือได้ว่าเป็นสถิติประวัติการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในวงการอาจารย์และนักศึกษา”
ข้อเขียนของพระอาจารย์ เผย์เสี่ยวรุ่ย ได้เผยรายละเอียดเกี่ยวกับพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในศาสตร์และศิลป์ต่างๆหลายแขนง พระราชนิพนธ์เกี่ยวกับจีนหลายเล่มเป็นหนังสือขายดีตลอดกาลในประเทศไทย อาทิ ย่ำแดนมังกร มุ่งไกลในรอยทราย เกล็ดหิมะในสายหมอก ใต้เมฆที่เมฆใต้ และคืนถิ่นจีนใหญ่ และผลงานพระราชนิพนธ์แปลวรรณกรรมจีน
นอกจากนี้พระราชนิพนธ์วรรณกรรมเยาวชนเรื่องแก้วจอมแก่น ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาจีนและพิมพ์เผยแพร่ในประเทศจีน อีกทั้งผลงานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ที่ได้รับการจัดพิมพ์หนังสือรวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ 2 เล่ม ซึ่งล้วนเป็นภาพผลงานที่ทรงถ่ายไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศจีน ตลอดจนพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี การเขียนภาพลายเส้นการ์ตูน
บทบันทึกเรื่อง “พระวิริยะอุตสาหะ พระอัจฉริยภาพ และพระจริยวัตรอันโดดเด่น: บันทึกการถวายพระอักษรภาษาจีน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” โดย หวังรั่วเจียง ศาสตราจารย์ประจำคณะภาษาจีนสำหรับชาวต่างชาติ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เผยในตอน “เราได้เป็นนักเรียนนอกแล้ว”
“หลังจากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายแล้ว ก็ทรงตั้งความหวังว่าจะได้เสด็จ ไปศึกษายังต่างประเทศอยู่เสมอมา แต่ด้วยพระราชกรณียกิจอันมากล้น ประกอบกับพระราชภาระตามหมายกำหนดการต่างๆของสำนักพระราชวัง จึงเป็นเหตุให้ไม่อาจเป็นไปตามพระราชประสงค์ข้อนี้ได้ ครั้งเมื่อทรงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงพระอักษรที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ก็มีรับสั่งกับพระสหายเก่าด้วยความเบิกบานพระราชหฤทัยว่า “เราได้เป็นนักเรียนนอกแล้ว””
อาจารย์ หวัง เล่าความประทับใจในจิตวิญญาณแห่งความใฝ่รู้และแสวงหาวิชาของพระองค์ “...พระปณิธานในการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นั้น แรงกล้านัก เรื่องที่ยังไม่เข้าพระราชหฤทัย ก็จะทรงติดตามไต่ถามจนถ่องแท้ให้ได้ เช่น เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปเยือนท่านศาสตราจารย์ จี้เซี่ยนหลิน
“....ทันทีที่เสด็จถึงห้องรับแขกที่บ้านพักของท่านจี้เซี่ยนหลิน ยังไม่ทันจะได้ประทับนั่งหรือประพาสทักทาย ก็ทรงดำรัสถามขึ้นว่า ภาษาโตคาเรียนคือภาษาอะไร ในยามนั้นข้าพเจ้าออกนึกกังวลใจว่าทรงดำรัสถามอย่างทันทีทันใด ท่านจี้เซี่ยนหลินจะจับความตามได้ไม่ทัน เคราะห์ยังดีที่ท่านจี้เซี่ยนหลิน เข้าใจพระราชอัธยาศัยใฝ่รู้ของพระองค์ท่านเป็นอย่างดี จึงรีบอธิบายอย่างกระชับได้ใจความ....”
บทบันทึกเรื่อง “เมื่อได้ใกล้ชิดพระยุคลบาท” โดย จังอิง ศาสตราจารย์ประจำคณะภาษาจีนสำหรับชาวต่างชาติ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง บันทึกในตอน “ดั่งรัตนชาติที่ไม่จำเป็นต้องเจียระไน” ว่า “การนำอาหารที่เหลือห่อกลับบ้าน ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์หนึ่งแล้ว การรู้จักเสียดายเห็นค่าของอาหารเช่นนี้ นับเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งเกินกว่าที่คนธรรมดาทั่วไปจะเข้าถึงได้ ผู้ที่ไม่เข้าใจในองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ อาจสรุปได้เพียงว่า เป็นเพราะได้พบอาหารที่ถูกพระราชหฤทัยเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง หากมีโอกาสได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดและได้สังเกตพระจริยวัตรในพระองค์ ก็จะไม่เกิดความเข้าใจผิดเช่นนี้”
บทบันทึกเรื่อง “พระราชหฤทัยอันงดงาม” โดย ฟั่นชุนหมิง อาจารย์ประจำศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่การทูต กรุงปักกิ่ง ได้เล่าในบันทึกตอน “กับปวงพสกนิกร”
“ข้าพเจ้าเห็นหลังร้านมีเพิงกันแดดไม่ใหญ่โตนักอยู่หลังหนึ่ง ภายในเพิงมีร้านไม้ตั้งอยู่ บนร้านมีของจำพวกพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม วางไว้เป็นกองๆ ขณะที่ข้าพเจ้านึกงุนงงอยู่ว่าเสด็จเข้ามาเพื่อทอดพระเนตรอะไร ก็หันไปเห็นหญิงชราคนหนึ่งนั่งอยู่บนด้านหนึ่งของร้าน สวมใส่เสื้อผ้าธรรมดาเหมือนอย่างที่เห็นได้ทั่วไปตามชนบทไทย เห็นได้ชัดว่าหญิงชรานั้นไม่คาดคิดว่าจะเสด็จถึงหลังร้าน ครั้งเห็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเสด็จพระราชดำเนินเข้ามา จึงออกอาการหวาดเกรงในพระบารมีอยู่ แต่ร่างกายก็ขยับไม่ได้ ที่แท้หญิงชราป่วยเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง คือคุณย่าของพระสหาย เมื่อตอนฉายพระรูปร่วมกับครอบครัวพระสหาย คงจะตระหนักว่าสภาพร่างกายของตนไม่เหมาะสม จึงไม่ได้ปรากฏตัวออกไปเฝ้าฯด้วย ครั้นได้ทรงถามพระสหายถึงคุณย่า และทรงทราบความว่าคุณย่ายังมีชีวิตอยู่โดยพักอยู่ที่หลังร้าน แม้กำลังจะเสด็จขึ้นประทับในรถยนต์พระที่นั่งแล้ว แต่ก็ทรงหันพระวรกายกลับ เสด็จไปตามทางแคบๆเพื่อให้คุณย่าที่อยู่หลังร้านได้เฝ้าฯ ในขณะนั้นแดดแรงมาก ขบวนเสด็จทุกคนสวมชุดพิธีการที่ตัดจากผ้าไหม ร้อนจนเหงื่อไหลไคลย้อย แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ยังคงทรงเกษมสำราญ ตรัสประภาษกับคุณย่าอยู่ครู่ใหญ่จึงเสด็จกลับออกมา ข้าพเจ้าแอบถามเพื่อนชาวไทยที่ยืนอยู่ข้างๆว่า “ดูเหมือนจะทรงไม่รู้สึกร้อน” เพื่อนชาวไทยท่านนั้นตอบด้วยภาษาจีนง่ายๆว่า “ทรงไม่กลัวร้อน ไม่กลัวหนาว ไม่กลัวอะไรเลย จะกลัวก็แต่ทรงไม่มีงานจะทำ”
บทบันทึกเรื่อง “เพราะจริงแท้ จึงสูงส่ง” โดย หวังจวิ้นเซียง อาจารย์ประจำศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ทูต กรุงปักกิ่ง เล่าความประทับใจว่า
“เสน่ห์แห่งพระบารมีในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นั้น มีลักษณะพิเศษจริง โดยส่วนตัวข้าพเจ้าเข้าใจเอาเองว่า “ความพิเศษ” นี้ อยู่บนพื้นฐานของ “ความจริงแท้” เพราะ “จริงแท้” จึง “สูงส่ง” และ “ควรแก่การเทิดทูน”
“ความจริงแท้ในลำดับต้นคือ ความธรรมดาเรียบง่าย”
บทบันทึกเรื่อง “ธงแห่งมิตรภาพ แบบอย่างแห่งแสงสว่าง” โดย หานเจี่ยค่วง อาจารย์ประจำศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ทูต กรุงปักกิ่ง เล่าถึงน้ำพระราชหฤทัยแห่งมิตร “เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองเวิ่นชวน มณฑลเสฉวน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ทรงเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่อุบัติภัยเป็นอันมาก มีรับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยส่งเต็นท์จำนวน 1,000 หลัง ไปช่วยเป็นการด่วน และยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อีก 10 ล้านหยวน ช่วยสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ทดแทนที่เสียหายพังทลายไป ตลอดช่วงที่มีการระดมความช่วยเหลือเพื่อกู้ภัยในครั้งนั้น มักจะมีพระราชปรารภให้ข้าพเจ้าได้ยินเป็นย่อยครั้งว่า “ถ้ามีอะไรให้ช่วย ขอให้แจ้งมา”...
บทบันทึกเรื่อง “เช้าวันเสาร์” โดย จูเสี่ยวซิง อาจารย์ประจำศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่การทูต กรุงปักกิ่ง ได้บันทึกตอนสำคัญแห่งสัมพันธภาพไทย-จีน ตอนหนึ่ง ดังต่อไปนี้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงวางพระองค์ให้ผู้คนทั่วไปที่เข้าเฝ้าฯ รู้สึกผ่อนคลาย ทรงเต็มไปด้วยพระอารมณ์ขันและถ่อมพระองค์ ใฝ่พระราชหฤทัยในความรู้แขนงต่างๆ อย่างกว้างขวาง และทรงพระปรีชาเป็นเลิศ ทั้งยังทรงอุทิศพระองค์อย่างเต็มพระสติกำลังในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน-ไทยโดยเสมอมา ดังนั้นในปี ค.ศ. 2009 จึงได้รับการถวายรางวัล “มหามิตรนานาชาติที่ผูกพันกับประชาชาติจีน” ซึ่งดำเนินการคัดเลือกโดยโครงการ “สายใยจีน-10 มหามิตรนานาชาติที่ผูกพันกับประชาชาติจีน...”
“...สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นผู้แทนของบรรดามหามิตรที่ได้รับเลือก มีพระราชดำรัสด้วยภาษาจีนในงานพิธีมอบรางวัลฯว่า
“คำว่า “มิตร” เป็นคำที่มีนัยลึกซึ้งและงดงาม มิตรแท้ล้ำค่ายิ่งกว่าทรัพย์สินใดๆในโลก ข้าพเจ้าและผู้ได้รับรางวัลในวาระนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีสักวันหนึ่งที่มนุษย์ชาติจะส่งมอบมิตรภาพให้แผ่ไปทั่วทุกมุมโลก ข้าพเจ้าเชื่ออย่างจริงใจว่า มีแต่การที่ประชาชนของทุกๆชาติสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีไมตรีจิตต่อกันเท่านั้น จึงจะส่งผลให้สามารถก้าวไปสู่โลกแห่งอารยธรรมที่สูงส่งงดงาม มีสันติสุขยิ่งขึ้นตามที่มนุษยชาติต่างปรารถนา…”
ในท้ายเล่มของหนังสือ เมื่อได้ใกล้ชิดยุคลบาท ได้ประมวลพระราชนิพนธ์ และพระราชนิพนธ์แปล ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เฉพาะที่เกี่ยวกับจีน ตั้งแต่ พ.ศ. 2524- ปัจจุบัน ดังต่อไปนี้
พระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน
ย่ำแดนมังกร (พ.ศ. 2524)
มุ่งไกลในรอยทราย (พ.ศ. 2533)
แกะรอยโสม (พ.ศ. 2534)
ไอรัก คืออะไร? (พ.ศ. 2536)
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1-5 (พ.ศ. 2537)
ใต้เมฆที่เมฆใต้ (พ.ศ. 2538)
เย็นสบายชายน้ำ (พ.ศ. 2540)
คืนถิ่นจีนใหญ่ (พ.ศ.2541)
เจียงหนานแสนงาม (พ.ศ. 2543)
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก (พ.ศ. 2544)
หวงเหออู่วัฒนธรรม (พ.ศ. 2544)
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย (พ.ศ. 2548)
พระราชนิพนธ์แปล
ผีเสื้อ 蝴蝶 ผลงานของ หวังเหมิ่ง 王蒙 (พ.ศ.2537)
เก็จแก้วประกายกวี (บทกวีจีน พ.ศ. 2538), เมฆเหินน้ำไหล 行云流水ผลงานของ ฟังฟัง 方方 (พ.ศ. 2539)
หยกใสร่ายคำ (บทกวีจีน พ.ศ. 2541)
เพียงวันพบ วันนี้ที่สำคัญ (รวมพระราชนิพนธ์แปล พ.ศ. 2548) ประกอบด้วย ความเรียงเรื่อง แสงโคมของไอ้ร์เค่อ爱尔的灯光ผลงานของปาจิน巴金 และเรื่องสั้นขนาดยาวเรื่อง สาวน้อยเสี่ยวหยูว 少女小渔ผลงานของ เหยียนเกอหลิน 严歌苓
หมู่บ้านเล็กตระกูลเป้า 小鲍庄ผลงานของ หวังอันอี้ 王安忆 (พ.ศ. 2555)
นารีนครา 她的城ผลงานของ ฉือลี่ 池莉 (พ.ศ. 2556)
ตลอดกาลน่ะ นานแค่ไหน 永远有多远ผลงานของ เที่ยหนิง 铁凝 (พ.ศ. 2557)
ข้อมูลหนังสือ
ชื่อหนังสือ: เมื่อได้ใกล้ชิดยุคลบาท
ผู้เขียน: เผย์เสี่ยวรุ่ย, หวังรั่วเจียง, จังอิง, ฟั่นชุนหมิง, จี้หนานเซิง, หวังจวิ้นเซียง, หวังเยี่ย, หลี่เถียนฟู, จังเยี่ยนชิว, เยี่ยนหฺวา, หานเจี่ยค่วง, และ จูเสี่ยวซิง
คณะผู้แปล :
จตุวิทย์ แก้วสุวรรณ์, ธีรวัฒน์ ธีรพจนี, นัยน์พัศ ประเสริฐเมฆากุล, ยุวดี ถิรธราดล, สุนทรี ศรีวันทนียกุล,สุพิชญา ชัยโชติรานันท์,
อรณิศา วิริยธนานนท์
สำนักพิมพ์ชวนอ่าน
พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2557
จำนวนหน้า 304 หน้า
ราคาปก 450 บาท
ISBN : 978-616-7935-01-0