xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละการศึกษาภาษาจีน และสภาพองค์ความรู้จีนในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ. ดร.ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโทวัฒนธรรมจีนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2558
สัมภาษณ์ชุด 40 ปี สัมพันธ์ไทย-จีน : รศ. ดร.ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ จากครูสอนภาษาจีน สู่การบุกเบิกองค์ความรู้เรื่องจีน (ตอนที่ หนึ่ง)

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าเป็นยุค “จีนเรืองอำนาจ” ที่ฝรั่งเรียก Rising China ในขณะเดียวกัน การเรียนรู้ภาษาจีนและการทำความรู้จักกับประเทศจีนกลายเป็นกระแสนิยมในหลาย ๆประเทศทั่วโลก ประเทศไทยก็มิได้อยู่ในข่ายยกเว้น ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเรียนการสอนภาษาจีนมีการขยายตัวอย่างมหาศาลและอย่างรวดเร็วจนเรียกได้ว่าตั้งสติกันแทบไม่ทัน มีการเปิดสอนภาษาจีนขึ้นในแทบทุกสถาบันการศึกษา ทั้งระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา ประถมศึกษา แม้จนกระทั่งในระดับโรงเรียนอนุบาล

นอกจากนี้ โรงเรียนสอนภาษาจีนภาคพิเศษของเอกชน ก็ผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ดในหน้าฝน กระจายไปทั่วทุกท้องที่บนแผ่นดินไทย เพื่อรองรับความต้องการเรียนภาษาจีนของชาวไทยทุกภาคส่วนที่ดูเหมือนจะกระหายขึ้นพร้อม ๆ กันในทันทีทันใด ปัจจุบันนี้ หากจะประมาณตัวเลขกันคร่าว ๆ ก็อาจจะพบว่า ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าผลิตบัณฑิตปริญญาตรีวิชาเอกภาษาจีนออกมาไม่น้อยกว่า 6,000 คน ในแต่ละปี ยังไม่นับบัณฑิตสาขาต่าง ๆ ที่จบการศึกษาจากประเทศจีน(จึงมีความรู้ภาษาจีนด้วย) อีกปีละนับร้อย

ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 40 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน จึงน่าจะเป็นโอกาสเหมาะที่จะลองทบทวนถึงความก้าวหน้าของสังคมไทยในด้านองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับจีนว่ามีมากน้อยเพียงพอขนาดไหน ในวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสสนทนากับ รศ. ดร.ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโทวัฒนธรรมจีนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงประเด็นปัญหาดังกล่าว

“ถ้ากล่าวถึงองค์ความรู้เรื่องจีนของไทยในรอบ 40 ปีหลังจากที่เริ่มกลับมาคบกับจีนใหม่ ก็อาจจะสรุปภาพกว้าง ๆ ได้ว่าเรามีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่เป็นความก้าวหน้าในเชิงถดถอยเมื่อเทียบกับองค์ความรู้ที่เราสั่งสมมาตั้งแต่สมัยอดีต ซึ่งสมัยนั้นเราอาศัยเพียงชาวจีนโพ้นทะเลเป็นฐานข้อมูลหลักโดยปราศจากสื่อด้านสารสนเทศที่แสนมหัศจรรย์เป็นตัวช่วยอย่างในสมัยนี้ คนไทยที่รู้ภาษาจีนในปัจจุบันอาจจะมีจำนวนเพิ่มจากอดีตมากขึ้นเป็นร้อยเท่าพันทวี แต่ส่วนใหญ่ก็จะมุ่งมั่นฝึกปรือภาษาเพียงเพื่อให้ใช้สื่อสารได้เท่านั้น ดังนั้นนอกจากจะมีข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับจีนมากขึ้น ก็ไม่ได้สนใจจะตรวจสอบทำความเข้าใจคนจีนหรือสังคมจีนให้มากไปกว่าข้อมูลที่ได้ เมื่อเทียบกันแล้ว จึงดูเหมือนว่าคนในสังคมไทยสมัยที่จีนยังอยู่หลังม่านไม้ไผ่มีความเอาใจใส่ต่อเรื่อง “ความเป็นจีน” มากกว่าปัจจุบัน
กิจกรรมปฐมนิเทศน์นักศึกษาปริญญาโทโครงการวัฒนธรรมจีนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาจารย์ปกรณ์เล่าประวัติการเรียนรู้เรื่องจีนของอาจารย์ให้เราฟังอย่างสังเขปว่า

“ผมเป็นลูกจีนที่เกิดในช่วงสมัยที่นโยบายรัฐไม่ส่งเสริมให้เรียนภาษาจีน ก็จะเป็นเหมือนกับลูกจีนทั่ว ๆไป ไม่มีอะไรพิเศษ คือได้เรียนภาษาจีนในระดับประถมศึกษาเท่าที่รัฐอนุญาต และ “แอบเรียน” เพื่อกันลืมเมื่อตอนอยู่ชั้นมัธยม จนเลิกเรียนไปโดยปริยายเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ลูกจีนรุ่นเดียวกับผมส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเช่นนี้ การเรียนภาษาจีนในสภาวะเช่นนั้น จึงมักจะเกิดคำถามขึ้นเสมอว่าจะเรียนไปทำไมในเมื่อไม่เห็นประโยชน์ใช้สอยอะไรเลย ผิดกับนักเรียนสมัยนี้ที่ไม่ต้องคิดมาก แต่ส่วนมากเราก็จะตอบตาม ๆ กันตามประสาซื่อว่าเพราะมีเชื้อสายจีนจึงควรรู้ภาษาจีนไว้ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าทำไมถึงควรรู้ แต่ในที่สุด เหตุกับผลก็สลับที่กัน กลายเป็นว่า ที่ผมรู้ภาษาจีนก็เพราะมีเชื้อสายจีนเท่านั้นเอง

“อย่างไรก็ตาม เมื่อผมเรียนจบปริญญาโทด้วยวิทยานิพนธ์ที่เขียนเกี่ยวกับปรัชญาจีน ก็ทำให้ผมเกิดความรู้มากขึ้นว่า ความรู้ภาษาจีนของผมไม่เพียงพอสำหรับทำความเข้าใจเรื่องราวของจีนในอีกระดับหนึ่ง ที่ลำพังเอกสารภาษาอังกฤษสมัยนั้นไม่อาจช่วยให้ได้คำตอบ จึงตัดสินใจไปเรียนปริญญาโทด้านภาษาจีนต่ออีกใบหนึ่ง และกลายเป็นเหตุปัจจัยให้ผมยังคงอยู่ในวังวนของภาษาจีนมาจนทุกวันนี้”

เมื่อย้อนกลับไปถามเรื่ององค์ความรู้เรื่องจีนที่รู้สึกว่าสังคมไทย “ถดถอย” อาจารย์ปกรณ์ ก็แสดงทัศนะขยายความว่า

คำว่า “ภาษาจีน” กับ “องค์ความรู้เรื่องจีน” มีความหมายไม่เท่ากัน ผู้ที่มีองค์ความรู้เรื่องจีนอุดมสมบูรณ์อาจจะเป็นคนที่ไม่รู้ไม่เชี่ยวชาญภาษาจีนก็เป็นได้ ในขณะที่ผู้รู้ภาษาจีนแต่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับจีนเลยก็มีอยู่มาก แน่นอนว่าการรู้ภาษาจีนมีส่วนช่วยอย่างสำคัญในการเรียนรู้เรื่องจีน ผู้รู้ภาษาจีนจึงได้เปรียบที่จะอ้างว่าตนรู้เรื่องจีน แต่เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้เรียนภาษาจีนมักจะไม่ค่อยใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสร้างองค์ความรู้เรื่องจีนกันสักเท่าใดนัก เพราะมักจะพอใจเพียงแค่ความรู้ระดับข้อมูลที่ช่วยให้สามารถติดต่อสื่อสารกับชาวจีนได้เท่านั้น พูดอีกอย่างก็คือ ชาวไทยส่วนใหญ่ไม่คิดจะรู้ภาษาจีนไปเพื่อใช้เป็นเครื่องมือไต่บันไดไปแสวงหาความรู้เรื่องจีนเพิ่มเติม เพราะมุ่งสนใจแต่เรื่องโอกาส เรื่องตลาดหรือเรื่องการบริโภคมากกว่า เราจึงพบว่าหนังสือองค์ความรู้เกี่ยวกับจีนที่เขียนโดยพระยาอนุมานราชธนหลายเล่มยังคงเป็นแหล่งข้อมูลภาษาไทยที่สำคัญอยู่ทั้ง ๆ ที่ล่วงสมัยไปนานแล้ว”

อาจารย์ปกรณ์วิเคราะห์สภาพทางวิชาการจีนในปัจจุบันต่ออีกว่า

“ผมคิดว่า การศึกษาภาษาจีนของคนในสังคมไทยนั้นเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง มีอาการตื่นเต้นหรือแตกตื่นตามกระแสตื่นจีนของโลก นโยบายการศึกษาระดับชาติไม่เคยตอบปัญหาหรือวิจัยอย่างจริงจังว่า เราต้องการเพิ่มประชากรที่รู้ภาษาจีนไปทำอะไร เราเปิดสอนภาษาจีนกันอย่างรีบด่วนทั้ง ๆ ที่ยังไม่พร้อมและไม่รู้ชัดว่าต้องการให้ทรัพยากรมนุษย์ของเรารู้ภาษาจีนในสัดส่วนขนาดไหนและรู้ไปเพื่ออะไร ถ้าถามนักศึกษาที่เลือกเรียนภาษาจีนเป็นวิชาเอกในปัจจุบัน ส่วนมากก็จะไม่รู้ทิศทางที่แท้จริงของตน แต่ก็มักจะตอบตาม ๆ กันไปตามประสาซื่อว่า จะช่วยให้หางานทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่เราก็อาจจะพบข้อเท็จจริงพร้อม ๆ กันไปด้วยว่า บัณฑิตที่รู้ภาษาจีนแต่ไม่มีโอกาสใช้ภาษาจีนในการประกอบอาชีพเลยก็มีอยู่มากในสัดส่วนที่ชวนให้ตั้งคำถามได้ว่าเราสูญเปล่าไปกับการผลิตผู้รู้ภาษาจีนมากน้อยแค่ไหน

"นอกจากไร้ทิศทางแล้ว นโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาจีนของไทยในปัจจุบันก็มีความเป็นตัวของตัวเองน้อยมาก เพราะไม่มีแผนสร้างบุคลากรที่ชัดเจน เนื่องจากไม่รู้ความต้องการของตัวเอง เราจะเห็นได้ไม่ยากว่า ความก้าวหน้าด้านปริมาณของชาวไทยผู้รู้ภาษาจีนนั้น มีปัจจัยส่งเสริมหลายประการที่เป็นไปและขึ้นอยู่กับนโยบายของจีนเป็นสำคัญมากกว่าจะขึ้นอยู่กับความต้องการของไทยเอง ถ้ากล่าวอย่างมองโลกในแง่ร้ายสักหน่อยก็คือ นโยบายการเรียนภาษาจีนของไทยถูกโน้มนำกำกับโดยรัฐบาลจีนมากกว่าโดยรัฐบาลไทย

"เราไม่เคยได้ยินเสียงของผู้สนใจเรียนภาษาจีนที่บอกเหตุผลของการเรียนในทำนองว่า การรู้ภาษาจีนจะช่วยให้มีสติปัญญารู้เท่าทันจีนมากขึ้นเลย แน่นอนว่ารัฐบาลจีนไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบเรื่องคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของเราเลยในเมื่อเขามีเป้าประสงค์เพียงด้านปริมาณเท่านั้น

"การเรียนการสอนภาษาจีนในปัจจุบันส่วนใหญ่จึงเป็นไปอย่างฉาบฉวยและชี้นำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจบนฐานของโลภจริตมากกว่าบนฐานของฉันทะทางปัญญา เราจึงได้ผลน้อยในแง่ของการเพิ่มพูนสติสัมปชัญญะให้แก่สังคมไทย แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการศึกษาด้านอื่น ๆ ของไทยก็สนใจแต่เรื่องปริมาณมากกว่าคุณภาพ และพอใจกับการสั่งสมใบปริญญามากกว่าการบ่มเพาะภูมิปัญญาอยู่แล้ว”

โปรดติดตามการสัมภาษณ์ตอนที่ สอง (จบ) ในสัปดาห์หน้า (25 เม.ย.2558)


กำลังโหลดความคิดเห็น