เอเจนซี - ผู้เชี่ยวชาญฯ ชี้สถานการณ์ตลาดหุ้นจีนที่ดิ่งร่วงเกือบร้อยละ 30 นับจากกลางเดือน มิ.ย. คือบทพิสูจน์ล่าสุดของรัฐบาลจีนที่มีเดิมพันสูงทั้งการเหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจโดยรวมและฉุดดึงอำนาจทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์
เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ รายงาน (8 ก.ค.) ว่า การยื้อยุดประคองตลาดหุ้นจีนในเวลานี้ เปรียบเสมือนการประลองกำลังระหว่างศักยภาพของรัฐบาลจีนซึ่งเป็นอำนาจทางการเมือง กับพลังของตลาดซึ่งเป็นพลวัตรเศรษฐกิจ และยังเป็นการต่อสู้ระหว่างระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งกำลังหาจุดสมดุลของวิถีแห่งการปฏิรูประบบการเงิน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังจากตลาดหุ้นจีนร่วงลงอย่างหนัก เกือบร้อยละ 30 ในเวลาไม่ถึงเดือน กระแสความวิตกในตลาดหุ้นจีนได้ลามไปฮ่องกง ส่งผลต่อหลักทรัพย์ของกิจการต่างๆ ในแผ่นดินใหญ่ เมื่อนักลงทุนต่างชาติเทขายทิ้งหุ้นด้วยความกลัวว่าจะสูญเงินลงทุน ทำให้ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงร่วงลงราว 2,000 จุด หรือกว่าร้อยละ 8 แตะที่ 22,907.72 จุด ขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้กรีซ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงอีกด้วย
รายงานข่าวกล่าวว่า รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการช่วยสกัดภาวะชะลอตัวเศรษฐกิจ หยุดการร่วงตกแบบไม่มีที่หมายสิ้นสุด อาทิ มาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และมาตรการผ่อนปรนการกู้ยืมฯ หนุนเสริมด้วยมาตรการของกลุ่มโปรกเกอร์บริษัทหลักทรัพย์จีนชั้นนำ 21 ราย ที่ประกาศเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา จะร่วมอัดฉีดการลงทุน อย่างน้อย 120,000 ล้านหยวน (ราว 600,000 ล้านบาท) เพื่อประคับประคองเสถียรภาพตลาดหุ้นในประเทศ ที่ขณะนี้ร่วงลงไปเกือบร้อยละ 30 นับจากกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมิอาจหยุดกระแสเทขาย บรรดานักลงทุนทั่วโลกต่างกำลังวิตกวิกฤตตลาดหุ้นในจีน เนื่องจากกลัวกันว่าการล้มครืนของตลาด จะทำลายเสถียรภาพเศรษฐกิจมังกรที่มีขนาดใหญ่อันดับสองของโลก
อย่างไรก็ตาม มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดหุ้นเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นยังไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต ยังร่วงลงอีกร้อยละ 5.9 หรือ 219.93 จุด โดยปิดที่ 3,507.19 จุด ต่ำสุดในรอบเกือบสี่เดือน ส่วนดัชนีเซินเจิ้น หุ้นกิจการขนาดเล็กตกลงไปกว่าร้อยละ 2.94 หรือ 334.71 จุด ปิดที่ 11,040.89 ต่ำสุดในรอบสี่เดือนเช่นกัน
รายงานข่าวกล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ดัชนีหุ้นฮั่งเส็ง ร่วงอีกร้อยละ 5.84 หรือ 1,458.75 จุด ปิดที่ 23,516.56 จุด นับเป็นการร่วงหนักที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 2551 ซึ่งเป็นวันที่ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติการเงินโลก
ผู้เชี่ยวชาญฯ กล่าวว่า การร่วงดิ่งของตลาดหุ้นจีนครั้งนี้ อาจสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจจีน ซึ่งใหญ่โตเป็นอันดับสองของโลก นอกจากนั้นหากสถานการณ์เลวร้ายกว่านี้ อาจจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดความไม่สงบทางสังคม ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า อัตราเติบโตของเศรษฐกิจจีนในรอบไตรมาสแรกปีนี้เป็นผลจากการซื้อขายหุ้น ดังนั้นเมื่อภาคการเงินเกิดการชะลอตัวอย่างแรง ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้เช่นกัน
กลไกการตลาดคือความท้าทายอำนาจสูงสุดของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยตลาดหุ้นมีจำนวนผู้ลงทุนถึง 90 ล้านราย มากกว่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่มี 87.8 ล้านคน
ลอเรนซ์ บราห์ม นักเศรษฐศาสตร์การเมือง กล่าวว่า นี่คือการเผชิญหน้ากันระหว่างการจัดการการตลาดเสรี กับการจัดการการเมือง
ด้านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ยังคงไม่แสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับสถานการณ์นี้ แต่ตลอดสัปดาห์นี้ นายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ ได้นั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการแห่งรัฐเพื่อระดมสมองจัดการกับสถานการณ์ตลาดหุ้นที่ดิ่งหนักที่สุดนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 นี้ ไม่ว่าจะเป็นการตัดจำนวน การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering หรือไอพีโอ), สร้างกองทุนรักษาเสถียรภาพตลาด, ส่งเสริมให้บรรดาบริษัทกิจการของรัฐเข้ามาลงทุนในตลาดฯ และย้ำบอกนักลงทุนไม่ให้ตกใจ พร้อมกับพยายามฟื้นความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้เร็วที่สุด
บราห์ม กล่าวว่า สิ่งที่แน่นนอนเรื่องหนึ่งคือ รัฐบาลคงต้องระดมสรรพกำลังทางการเมืองเพื่อหยุดการทรุดร่วงของหุ้นในตลาด เพราะหากระบบการเงินและการธนาคารล่ม ปัญหาจะยกระดับเป็นภัยคุกคามความไม่สงบทางสังคม
เสี่ยวยู่ว์ ผู ศาสตราจารย์ภาคการเมืองจีน จากมหาวิทยาลัยเนวาดา เห็นด้วยว่า ฝ่ายการเมืองมีความวิตกกังวลในปัญหาสังคมที่อาจเกิดขึ้นตามมา จึงต้องทำทุกวิธีเพื่อคุมสถานการณ์นี้ให้ได้
สตีฟ ซัง ประธานสถาบันศึกษาจีนร่วมสมัย มหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม กล่าวว่า ไม่ว่าอย่างไร รัฐบาลก็คงต้องเข้ามาจัดการวิกฤตินี้ และประชาชนจะติดตามรวมทั้งตอบสนอง ถ้ารัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ เดิมพันความศรัทธานี้ก็คงจะขยายวงรุนแรงมากขึ้น
วอร์เรน ซุน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย โมนาช เปรียบเปรยว่าตอนนี้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังเล่นสิ่งที่เรียกว่า "คาสิโนทุนนิยม" และการใช้ตลาดหุ้นเพื่อเกื้อหนุนกิจการเอกชนทั้งหลาย อาจจะจบลงด้วยสภาวะฟองสบู่
ด้านนักวิเคราะห์การเมืองบางคนกล่าวว่า โครงสร้างอำนาจทางการเมืองของประเทศจีนที่ปรากฏ ไม่เหมาะกับการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ
เล่ย เหมา ศาสตราจารย์ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจ วอร์วิก กล่าวว่า เหตุการณ์ล่าสุดนี้ มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นหินก้อนใหญ่โถมทับรัฐบาล มีหลายกระทรวงที่ควรรับผิดชอบในความล้มเหลว อาทิ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์, หน่วยงานควบคุมตรวจสอบของรัฐ ซึ่งไม่ได้มองเห็นหรือคาดการณ์ความเสี่ยงระดับสูงอีกทั้งไม่ตอบสนองก่อนที่จะเกิดปัญหา
เหมา บอกว่า แม้รัฐบาลภายใต้การนำของสี จิ้นผิง และหลี่ เค่อเฉียง จะประสบความสำเร็จในการเปิดตลาดการเงิน แต่ผู้มีหน้าที่รับนโยบายไปปฏิบัติกลับไม่สามารถทำอะไรต่อ นอกจากนั่งฟังรับคำสั่ง เหมือนวิถีบริหารเดิมๆ แบบจีนที่เคยเป็นมา และที่สุดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ย้อนกลับมาลดทอนความเชื่อมั่นของรัฐบาลสีและหลี่ ซึ่งที่สุดแล้ว สิ่งที่ต้องตระหนักคือ การเมืองที่ล้มเหลวในตลาดหุ้น จะยิ่งทำให้ตลาดหุ้นกลายเป็นเรื่องการเมืองมากขึ้น