เอเจนซี - ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงร่วงลงราว 2,000 จุด หรือกว่าร้อยละ 8 แตะที่ 22,907.72 จุด หลังจากตลาดหุ้นจีนร่วงลงอย่างหนัก ขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้กรีซ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลง
รายงานข่าวกล่าวว่า มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดหุ้นเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นยังไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต ยังร่วงลงอีกร้อยละ 5.9 หรือ 219.93 จุด โดยปิดที่ 3,507.19 จุด ต่ำสุดในรอบเกือบสี่เดือน ส่วนดัชนีเซินเจิ้น หุ้นกิจการขนาดเล็กตกลงไปกว่าร้อยละ 2.94 หรือ 334.71 จุด ปิดที่ 11,040.89 ต่ำสุดในรอบสี่เดือนเช่นกัน
ล่าสุด กระแสความวิตกในตลาดหุ้นจีนที่ลามไปฮ่องกง ส่งผลต่อหลักทรัพย์ของกิจการต่างๆ ในแผ่นดินใหญ่ เมื่อนักลงทุนต่างชาติเทขายทิ้งหุ้นด้วยความกลัวว่าจะสูญเงินลงทุน หลังตลาดหุ้นจีนตกฮวบเกือบร้อยละ 30 ในเวลาไม่ถึงเดือนที่ผ่านมา
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการช่วยสกัดภาวะชะลอตัวเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และมาตรการผ่อนปรนการกู้ยืมเพื่อหลักทรัพย์ หนุนเสริมด้วยมาตรการของกลุ่มโปรกเกอร์บริษัทหลักทรัพย์จีนชั้นนำ 21 ราย ที่ประกาศเมื่อวานนี้ (4 ก.ค.) จะร่วมอัดฉีดการลงทุน อย่างน้อย 120,000 ล้านหยวน (ราว 600,000 ล้านบาท) เพื่อช่วยประคับประคองเสถียรภาพตลาดหุ้นในประเทศ ที่ขณะนี้ร่วงลงไปเกือบร้อยละ 30 นับจากกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมิอาจหยุดกระแสเทขาย บรรดานักลงทุนทั่วโลกกำลังวิตกวิกฤตตลาดหุ้นในจีน เนื่องจากกลัวกันว่าการล้มครืนของตลาด จะทำลายเสถียรภาพเศรษฐกิจมังกรที่มีขนาดใหญ่อันดับสองของโลก
รายงานข่าวกล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ดัชนีหุ้นฮั่งเส็ง ร่วงอีกร้อยละ 5.84 หรือ 1,458.75 จุด ปิดที่ 23,516.56 จุด นับเป็นการร่วงหนักที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 2551 ซึ่งเป็นวันที่ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติการเงินโลก
ผู้เชี่ยวชาญฯ กล่าวว่า การร่วงดิ่งของตลาดหุ้นจีนครั้งนี้ อาจสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจจีน ซึ่งใหญ่โตเป็นอันดับสองของโลก นอกจากนั้นหากสถานการณ์เลวร้ายกว่านี้ อาจจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดความไม่สงบทางสังคม ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า เพิ่มอัตราเติบโตของเศรษฐกิจจีนในรอบไตรมาสแรกปีนี้เป็นผลจากการซื้อขายหุ้น ดังนั้นเมื่อภาคการเงินเกิดการชะลอตัวอย่างแรง ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้เช่นกัน รวมทั้งความหวั่นวิตกของเศรษฐกิจโดยรวมในกลุ่มสหภาพยุโรป หลังจากที่กรีซ ไม่รับข้อเสนอเงื่อนไขหนี้ของบรรดารัฐมนตรีคลังยูโรโซนตามที่คาดกันไว้ โดยนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานสภายุโรป ได้กล่าวว่า "รัฐบาลกรีซจะมีเวลาอย่างช้าที่สุดถึงวันพฤหัสบดีที่ 9 ก.ค.นี้ ในการเสนอรายละเอียดข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปที่ครอบคลุมและเฉพาะเจาะจง และกลุ่มผู้นำของอียู ทั้ง 28 ประเทศ จะประชุมกันอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 12 ก.ค.นี้