xs
xsm
sm
md
lg

ราชบุรีฯ จ่อลุย 5 โรงไฟฟ้าเพิ่มทั้งใน-ตปท. ลั่น ธ.ค.เซ็นร่วมทุน CGN ผุดนิวเคลียร์ที่จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ รุกขยายธุรกิจไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ เตรียมเซ็นสัญญาร่วมทุนกลุ่ม CGN ธ.ค.นี้ เพื่อถือหุ้น 10% โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จีน ลุ้นรู้ผลการประมูลโรงไฟฟ้าจาวา 7 ที่อินโดนีเซียปลายปีนี้ และยื่นเสนอพัฒนาโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มราชการ 7 โครงการรวม 35 เมกะวัตต์ พร้อมชง กฟผ.-เรกูเลเตอร์ต่ออายุโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์ยีอีก 5 ปีหลังสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟใน 5 ปีข้างหน้า

นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยเป้าหมายแผนขยายธุรกิจระยะสั้น 2 ปีข้างหน้าว่า บริษัทฯ จะให้ความสำคัญในการร่วมมือกับพันธมิตรในการขยายการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาร่วมทุน 5 โครงการที่มีศักยภาพ คือ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจาวา 7 ขนาดกำลังผลิต 2 พันเมกะวัตต์ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยร่วมทุนกับกลุ่มบ้านปูเพื่อยื่นประมูลคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้ หากบริษัทฯ ชนะประมูลก็จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของอินโดนีเซียถือหุ้น 30% บ้านปูและราชบุรีฯ จะถือหุ้นฝ่ายละ 35%

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4 ขนาดกำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ ใน สปป.ลาว โดยลงนามสัญญาเพื่อศึกษาและพัฒนาโครงการกับบริษัท Lao World Engineering & Construction ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยเวิลด์เพาเวอร์พันธมิตรของบริษัทในโรงไฟฟ้าราชบุรีเวอล์ดโคเจเนเรชั่น และโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์ โดยบริษัทฯ ได้ยื่นเสนอพัฒนา 7 โครงการที่ภาคกลางและภาคตะวันออก รวม 35 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้สิทธิในการพัฒนาโครงการอย่างน้อย 2 โครงการ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จับมือกับกลุ่ม China General Nuclear Power Corporation (CGN) ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจไฟฟ้าของจีน เพื่อตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 2 พันเมกะวัตต์ทางตอนใต้ของจีน ใช้เงินลงทุนรวม 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.3 แสนล้านบาท คาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมทุนได้ในเดือนธันวาคมนี้ โดยราชบุรีฯ จะถือหุ้นส่วนน้อยเพียง 10% ของทุนจดทะเบียน นับเป็นก้าวแรกในการขยายธุรกิจไฟฟ้าในจีน

รวมทั้งยังศึกษาข้อมูลรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น 3 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ โดยจะร่วมทุนพันธมิตรไต้หวัน จากก่อนหน้านี้ที่ราชบุรีฯ ได้จับมือกับกลุ่มเชาว์ สตีล ร่วมทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม 2 โครงการที่ญี่ปุ่น คิดเป็นกำลังการผลิต 33.51 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะสร้างมูลค่ากิจการ (Enterprise Value) ให้ได้ 1.88 แสนล้านบาท ในปี 2561 คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 8 พันเมกะวัตต์ และในปี 2566 มีมูลค่ากิจการ 2.82 แสนล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 9.7 พันเมกะวัตต์ จากปัจจุบันบริษัทมีมูลค่ากิจการ 1.24 แสนล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 6.57 พันเมกะวัตต์

นายรัมย์กล่าวต่อไปว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์ยีขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์จะครบกำหนดสัญญาซื้อขายไฟกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดังนั้นบริษัทได้ทำหนังสือยัง กฟผ.และเรกูเลเตอร์เพื่อเสนอทางเลือก 2-3 แนวทาง อาทิ ขอต่ออายุสัญญาขายไฟอีก 5 ปีในราคาค่าไฟที่ต่ำลง หรือใช้กำลังการผลิตไฟของโรงไฟฟ้าดังกล่าวเสนอขายให้พม่าที่ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่แลกกับการซื้อก๊าซฯ พม่า โดยให้ กฟผ.เป็นผู้ลงทุนด้านสายส่งไปยังพม่า ซึ่งอนาคตหากพม่ามีการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ก็ยังสามารถส่งไฟกลับมาขายไทยได้ด้วย

งบลงทุนในปีหน้าบริษัทฯ วางไว้ที่ 4 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโรงไฟฟ้าหงสา 3 พันล้านบาท ส่วนแผนการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าหงสาเพิ่มอีก 1ยูนิตนั้น คงต้องดูปริมาณสำรองถ่านหินว่าเพียงพอหรือไม่ และหารือกับ สปป.ลาวว่าต้องการเก็บถ่านหินไว้ใช้ในอนาคตหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น