ราชบุรีฯ เผย ต.ค.นี้เซ็นสัญญาร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ลาว ขนาด 300-400 เมกะวัตต์ โดยถือหุ้นเกิน 50% โดยมีพันธมิตรไทยรายใหม่ร่วมถือหุ้นด้วย พร้อมยื่นประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหิน JAVA 7 ขนาด 2 พันเมกะวัตต์ ที่อินโดนีเซีย คาดว่าได้ข้อสรุปภายใน 1เดือน ด้าน “รัมย์” ว่าที่ซีอีโอคนใหม่ ยันสานต่อแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 10 ปี เร่งหาพันธมิตรใหม่เสริมหวังรุกธุรกิจต้นน้ำและปลายน้ำ
นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคมนี้บริษัทฯ จะลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ สปป.ลาว ขนาดกำลังการผลิต 300-400 เมกะวัตต์ โดยโครงการนี้จะเป็นการร่วมทุนระหว่างราชบุรีถือหุ้นใหญ่เกิน 50% ที่เหลือเป็นการถือหุ้นโดยพันธมิตรไทยอีก 1-2 ราย และรัฐบาลลาว หลังจากนั้นจะมีการเจรจาค่าไฟต่อไป เพื่อเสนอขายไฟในโครงการเข้าประเทศไทยด้วย
นายพงษ์ดิษฐกล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ ยังได้ร่วมกับ บมจ.บ้านปู ยื่นประกวดราคาโรงไฟฟ้าถ่านหิน JAVA 7 ขนาดกำลังการผลิต 2 พันเมกะวัตต์ ที่ประเทศอินโดนีเซีย เงินลงทุนรวม 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือนนี้
การยื่นประมูลสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวที่อินโดนีเซียมีคู่แข่งยื่นประมูลร่วมด้วยทั้งสิ้น 7 กลุ่ม ประกอบด้วย จีน 4 ราย ไทย 1 ราย และมาเลเซียอีก 2 ราย ซึ่งการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง โดยโครงการนี้ผลตอบแทนการลงทุนไม่น้อยกว่า 12% โดยบ้านปูและราชบุรีถือหุ้นฝ่ายละ 50% หากบริษัทชนะประมูลโครงการดังกล่าวจะดึงการไฟฟ้าของอินโดนีเซีย (PLN) เข้าร่วมถือหุ้นด้วย 20% ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้า
ส่วนโครงการประมูลโรงไฟฟ้าอินโดนีเซียยังมีอีกหลายโครงการที่สนใจเข้ายื่นประมูลในอนาคต หากรัฐเปิดประมูลก็จะไปยื่น โดยจะยื่นประมูลโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงขนาด 250 เมกะวัตต์ที่อินโดนีเซีย
สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่นนั้น บริษัทยังได้เจรจากับบริษัทหัวหมิง จากไต้หวัน ร่วมทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการ กำลังรวม 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะพัฒนาโครงการอย่างเป็นรูปธรรมในปีหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้ร่วมทุนกับกลุ่มเชาวสตีล อินดัสตรี พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการที่ญี่ปุ่น รวม 33 เมกะวัตต์
ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าที่พม่าทุกโครงการในขณะนี้คงต้องรอความชัดเจนการเลือกตั้งในพม่าช่วงปลายปีนี้ โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าปากเหมืองถ่านหินที่เชียงตุง 600เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินมะริด กำลังผลิต 2,640 เมกะวัตต์
ด้านนายรัมย์ เหราบัตย์ รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และว่าที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง กล่าวว่า ภายหลังรับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่จะสานงานต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ระยะยาว 10 ปีที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มองค์กรให้ได้ถึง 2.82 แสนล้านบาทในปี 2566 หรือคิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 9,700 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องเติบโตปีละ 350 เมกะวัตต์ จากที่ปี 2557 มีกำลังการผลิตรวม 6,200 เมกะวัตต์ โดยสิ่งที่จะดำเนินการคือต้องหาพันธมิตรที่เชี่ยวชาญมาร่วมงาน ทั้งทำธุรกิจไฟฟ้า และธุรกิจต้นน้ำ และธุรกิจปลายน้ำ อาทิ แอลเอ็นจี ทำให้ราชบุรีเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำในภูมิภาคนี้ ในขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ วัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งบริหารกระแสเงินสดที่มีอยู่ 1.7 หมื่นล้านบาทให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด
ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมลงนามกับหลายองค์กร เช่น กลุ่ม ปตท. กลุ่มชูบุ จากญี่ปุ่น กลุ่ม CGN จากจีน ที่จะร่วมทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจีน กลุ่มเชาวสตีล และกลุ่มบ้านปู เป็นต้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า ราชบุรีฯ เตรียมลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4 ขนาดกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ ที่ สปป.ลาว ซึ่งเดิมโครงการนี้ทางรัสเซียเป็นเจ้าของโครงการ แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้า ทางรัฐบาลลาวจึงได้มีการเรียกคืนก่อนที่จะให้ราชบุรีฯ เป็นผู้ดำเนินการต่อไป โดยโครงการนี้จะมีการดึงพันธมิตรไทยเข้าร่วมถือหุ้นด้วย โดยบริษัทไทยดังกล่าวมีการทำธุรกิจในลาวอยู่แล้ว และเป็นพันธมิตรใหม่ที่ไม่ใช่พันธมิตรรายเดิมที่เคยร่วมทุนกับราชบุรีฯ