ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ เบนเข็มมุ่งหาธุรกิจใหม่นอกเหนือธุรกิจไฟฟ้าเพื่อเสริมรายได้ สนใจร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้า โรงพยาบาล หลังโรงไฟฟ้าเดิม 2 แห่งคิดเป็นกำลังผลิต 2.1 พันเมกะวัตต์จะหมดอายุสัญญาใน 5-10 ปีข้างหน้า และรัฐไม่มีแผนรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไอพีพีและเอสพีพีในประเทศ พร้อมทั้งจับมือพันธมิตรเดิมลุยลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ
นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจใหม่นอกเหนือจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า เพื่อแสวงหารายได้มาชดเชยโรงไฟฟ้าเดิมที่จะหมดอายุลงใน 5-10 ปีข้างหน้า คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2.1 พันเมกะวัตต์ที่จะหายไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มมูลค่ากิจการให้บรรลุเป้าหมาย 282,000 ล้านบาทในปี 2566 ตามแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของบริษัทฯ
โดยโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้จะทยอยครบหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าลงใน 5 ปีข้างหน้า คิดเป็นกำลังผลิตไฟ 700 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าราชบุรีที่จะหมดอายุสัญญาใน10 ปีข้างหน้า คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 1.4 พันเมกะวัตต์
ซึ่งธุรกิจใหม่ที่แตกไลน์ออกไปนอกเหนือจากธุรกิจไฟฟ้า ในความเห็นส่วนตัวที่ยังไม่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทฯ มองว่าธุรกิจที่น่าสนใจคือ โครงการรถไฟฟ้า และรถเมล์ไฟฟ้าที่บริษัทมีความชำนาญด้านเทคนิค ซึ่งทางกลุ่มล็อกซเล่ย์ได้นำมาทดลองตลาดในประเทศ และยังสนใจธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุ ที่ธุรกิจเหล่านี้มีอัตราการเติบโตสูงว่าน่าจะมีอนาคตที่ดี ซึ่งขณะนี้มีบริษัทใหญ่หลายรายได้แตกไลน์ธุรกิจไป ไม่ว่าจะเป็นบุญรอดฯ หันไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือ ปตท.หันมาทำธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น
นายพงษ์ดิษฐกล่าวต่อไปว่า ส่วนแผนการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปี 2558-2579 ( PDP 2015) โอกาสที่บริษัทฯ จะพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งไอพีพีและเอสพีพีในประเทศมีน้อย เนื่องจากบอกไม่ได้ว่าจะมีการเปิดประมูลได้เมื่อใด ขณะที่โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนก็มีขนาดกำลังการผลิตไม่มาก ไม่สามารถเข้ามาทดแทนกำลังการผลิตไฟฟ้าของกุล่มผลิตไฟฟ้าราชบุรีที่หายไปได้
ดังนั้น บริษัทจะมุ่งเน้นการขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอาเซียน พร้อมทั้งหาแนวทางร่วมมือทางธุรกิจกับกลุ่มบริษัทในเครือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล) รวมทั้งเจรจากับพันธมิตรเดิมของบริษัท เช่น บ้านปู กลุ่ม ปตท. ชูบุ อิเล็กทริก รวมทั้งกลุ่มพันธมิตรใหม่อย่างกลุ่ม CGN และกลุ่มเชาว์สตีล เพื่อลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในต่างประเทศ
โครงการใหม่ที่บริษัทฯ กำลังศึกษาความเหมาะสมในการลงทุน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้ามะริด ที่พม่า ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Agreement, MOA) กับรัฐบาลพม่าในราวเดือนมิถุนายนนี้ นอกจากนี้ยังมีโครงการคลังก๊าซแอลเอ็นจีในประเทศพม่าที่เจรจาเข้าร่วมทุนกับกลุ่ม ปตท. โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน JAVA7 กำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์ในอินโดนีเซียที่จะร่วมลงทุนกับกลุ่มบ้านปู โดยได้ผ่านคัดเลือกด้านคุณสมบัติให้สามารถเข้ายื่นประมูลโครงการดังกล่าวได้ โดยมีแผนจะดึงพันธมิตรญี่ปุ่นเข้ามาร่วมถือหุ้นในการประมูลโครงการนี้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน SUMSEL 5 อีก 3 โครงการ กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ที่อินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทได้เข้าไปตรวจสอบสถานะสินทรัพย์ (ดีลดิลิเจนต์) คาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือน มิ.ย.นี้ โดยบริษัทสนใจเข้าไปถือหุ้น 40-49%
โครงการโรงไฟฟ้ากำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ในประเทศจีนที่เจรจาร่วมทุนกับกลุ่ม CGN โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมในญี่ปุ่น และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 100 เมกะวัตต์ และพลังงานลม กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ในประเทศฟิลิปปินส์ร่วมกับกลุ่มเชาว์สตีล
บริษัทฯ ยังได้เร่งศึกษาและเจรจาร่วมทุนโครงการด้านพลังงานขนาดใหญ่ใน เวียดนาม โดยจะเข้าไปร่วมทุนโครงการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภคเพื่อป้อนโครงการปิโตรเคมีและโรงกลั่นของกลุ่ม ปตท. รวมทั้งสนใจเข้าร่วมทุนในโครงการโรงไฟฟ้ากวางจิ ของ กฟผ.อินเตอร์ฯ ที่เวียดนาม
นายพงษ์ดิษฐกล่าวถึงผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะมีรายได้รวม 6 หมื่นกว่าล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 5.9 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นโตขึ้นในสัดส่วนเดียวกับรายได้ เนื่องจากปีนี้บริษัทรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าหงสาจำนวน 2 ยูนิต สร้างรายได้ให้บริษัทในปีนี้ 2.3 พันล้านบาท และกำไร 900 ล้านบาท