xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรก! นำร่องรถเมล์ไฟฟ้าสาย สจล.-แอร์พอร์ตลิงก์ลาดกระบัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สจล. จับมือ ขสมก. พัฒนารถเมล์ไฟฟ้า หวังผลิตรถไฟฟ้าใช้ในประเทศ หวังลดการนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมนำร่องเปิดใช้บริการรถเมล์ไฟฟ้าสาย สจล.- แอร์พอร์ตลิงก์ลาดกระบัง

วันนี้ (19 พ.ค.) ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้จัดให้มีพิธี “ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรม ระหว่าง สจล. กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)” พร้อมเปิดทดสอบเส้นทางนำร่องรถเมล์ไฟฟ้า สาย สจล.- แอร์พอร์ตลิงก์ลาดกระบัง โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รักษาการแทนอธิการบดี สจล. กล่าวว่า เป้าหมายของการร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อแสดงเจตนารมย์ร่วมกันในการรับผิดชอบทางสังคมและยกระดับความรู้ ทักษะในการให้บริการแก่ประชาชน รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาชีพวิศวกรรม โดย สจล. ให้การสนับสนุนด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับภารกิจหน้าที่ของ ขสมก. เช่น วิศวกรรมจราจรและขนส่ง วิศวกรรมความปลอดภัยทางถนน วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมโยธา รวมถึงได้มีการศึกษาวิจัยที่ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาให้เกิดใหม่ ตลอดจนนวัตกรรมในอนาคตของรถโดยสาร ขสมก. ซึ่งขณะนี้ สจล. อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนารถเมล์ไฟฟ้า คาดว่าในอีกไม่นาน สจล. จะสามารถพัฒนารถเมล์ไฟฟ้าขึ้นใช้เองได้

ในอนาคตนั้น เทคโนโลยีและการใช้พลังงานจะเปลี่ยนไปเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น แต่การนำรถไฟฟ้ามาใช้นั้นจะมีราคาสูง เพราะประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้เอง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้น ความร่วมมือระหว่าง สจล. กับ ขสมก. เพื่อทำให้ในอนาคตจะสามารถดำเนินการได้เอง และให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟฟ้าในประเทศได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและสนับสนุนในเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็ต้องพึ่งพาและนำเข้ารถไฟฟ้า ทำให้เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก” ศ.ดร.สุชัชชวีร์ กล่าว

ด้าน นางปราณี ศุกระศร กรรมการบริหารกิจการองค์กร และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการขสมก. กล่าวว่า ขสมก.ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพบริการที่สะดวก ทันสมัย และ ปลอดภัย ซึ่งเบื้องต้น มีการพัฒนาหารถใหม่มาแทนรถเก่า จำนวน 489 คัน เป็นรถที่ใช้แก๊สธรรมชาติ เพื่อช่วยด้านสิ่งแวดล้อม โดยพร้อมเปิดให้บริการเร็วๆนี้ ดังนั้น ความร่วมมือกับ สจล. จะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ โดย ขสมก. จะดำเนินการเป็นศูนย์เรียนรู้การซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารให้นักศึกษา สจล. ได้มาฝึกงาน แลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อเป็นประสบการณ์สำหรับการทำงานในอนาคต และเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านคมนาคมของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปิดภาคเรียนนี้ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ปี 3 - ปี 4 จะเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ฝึกงาน การทำงานจริง ซึ่งจะช่วยเพื่มประสบการณ์ให้นักศึกษานำความรู้ไปใช้และเป็นวิศวกรที่มี คุณภาพต่อไป
 
 
 
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น