พพ.-กฟผ.ยืนยันเดินหน้าส่งเสริมพลังงานทดแทนตามแผน PDP ฉบับใหม่ เตรียมเปิดเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการแสงอาทิตย์) ในแบบ FiT ภายในสิ้นเดือนนี้ “กฟผ.” แจงพลังงานทดแทนจะต้องเดินไปพร้อมๆ กับพลังงานหลัก
นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ปลายเดือนกรกฎาคมนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการแสงอาทิตย์) ในแบบ FiT รูปแบบการแข่งขันด้านราคา หรือ COMPETITIVE BIDDING คาดว่าจะประกาศหลักเกณฑ์ได้ภายใน 29 ก.ค.นี้ โดยจะมีทั้งโซนนิ่งเชื้อเพลิงแต่ละส่วน และระบบสายส่งที่พร้อมรองรับ โดยพื้นที่ภาคอีสานสายส่งเต็มจึงไม่สามารถเปิดในพื้นที่ดังกล่าวได้
“เบื้องต้นที่จะรับซื้อคงจะได้ราว 800 เมกะวัตต์ป้อนระบบปี 2560 นอกจากนี้จะเสนอขยายเวลากำหนดส่งไฟฟ้าเข้าระบบ หรือ COD ส่วนของโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในส่วนราชการและสหกรณ์การเกษตร 800 เมกะวัตต์ ซึ่งกำหนดสิ้นสุด มิ.ย. 59 อาจเป็น มิ.ย. 60 แต่ปริมาณรับซื้ออาจเหลือเพียง 500 เมกะวัตต์ หากมีการนำส่วนของโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่ทหารเดิม 300 เมกะวัตต์มาหัก” นายธรรมยศกล่าว
ทั้งนี้ หากเอกชนสามารถทำตาม COD ทั้งหมดประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจำนวน 9,200 เมกะวัตต์ จำนวนนี้คิดเป็นไฟฟ้าจากพลังน้ำ 3,000 เมกะวัตต์ และคิดเป็นไฟฟ้าที่เข้าระบบแล้ว 4,500 เมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ค้างท่อซึ่งกำลังเดินหน้าแก้ปัญหา รวมทั้งเชื้อเพลิงอื่นๆ อาทิ ชีวมวลที่มีการผลิตเป็นไฟฟ้าในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัจจุบันมีเอกชนสนใจลงทุนพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น และบางปีก็มากกว่าแผนทำให้ความพร้อมของสายส่งบางพื้นที่มีจำกัด
“แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ฉบับใหม่ได้กำหนดสัดส่วนพลังงานทดแทนไว้ประมาณ 1.9 หมื่นเมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 20% ของการผลิตไฟทั้งหมด ซึ่งหากดูจากเมกะวัตต์นั้นจะสูง 40% แต่ก็ต้องเข้าใจว่าศักยภาพจริงที่จะนำมาใช้ได้นั้นจึงคิดเป็นเพียง 20%” นายธรรมยศกล่าว
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.พร้อมที่จะสนับสนุนพลังงานทดแทน แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าพลังงานหลักที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลยังมีส่วนสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป เพราะพลังงานทดแทนแม้ว่าตัวเลขเมกะวัตต์จะสูงแต่ศักยภาพนำมาใช้ได้จริงเพียง 50% เท่านั้น และยังไม่สามารถสั่งจ่ายไฟได้ทันทีขึ้นอยู่กับธรรมชาติ เช่น แสงแดด ลม จะมาตอนไหน
“พลังานทดแทน โรงไฟฟ้าจากก๊าซ และถ่านหินก็ยังจำเป็นที่ต้องไปด้วยกัน ดูตัวอย่างเยอรมนีที่มีพลังงานทดแทน 8 หมื่นเมกะวัตต์แต่ต้องมีพลังงานถ่านหิน 6 หมื่นเมกะวัตต์ มีนิวเคลียร์ และน้ำ รวมมีการผลิตไฟฟ้า 1.7 แสนเมกะวัตต์ แต่การใช้อยู่เพียง 8 หมื่นเมกะวัตต์เพราะอะไร เพราะมีพลังงานทดแทนสูงจึงต้องมีโรงไฟฟ้าหลักคอยสำรองเอาไว้ตลอดเวลา เพราะพลังงานแสงอาทิตย์และลมศักยภาพที่ใช้ได้จริงจะไม่ได้สูงอย่างจำนวนเมกะวัตต์และขึ้นอยู่กับช่วงเวลา” นายสุนชัยกล่าว
นอกจากนี้ การส่งเสริมพลังงานทดแทนก็จะต้องค่อยๆ ทำ เพราะหากเร่งมากเกินไปเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลงนั่นหมายถึงต้องลดกำลังผลิตโรงไฟฟ้าที่เป็นเชื้อเพลิงหลักลงมา และหากเชื้อเพลิงหลักนั้นต่ำกว่าพลังงานทดแทนก็จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชนเพราะมีสัญญาซื้อขายระยะยาวผูกมัดไปแล้ว และการลดการผลิตไฟฟ้าหากต่ำเกินไปก็จะมีโอกาสน็อกได้เช่นเดียวกับเครื่องยนต์อื่นๆ
ปัจจุบัน กฟผ.อยู่ระหว่างเพิ่มการลงทุนขยายสายส่ง โดยวงเงินลงทุน 5 ปี (2558-2562) ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท เน้นลงทุนขยายสายส่งในพื้นที่ภาคใต้ เริ่มเสร็จตั้งแต่ปี 2563-2567 โดยความพร้อมของสายส่งนั้นนอกจากการลงทุนของ กฟผ.แล้ว ยังต้องขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประชาชนด้วยว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่