xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ยันผลศึกษาชี้เดินรถสีน้ำเงินต่อเนื่อง เจรจารายเดิม สะดวก-ลดต้นทุน 1.6 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.ส่งผลศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียเดินรถสีน้ำเงินแบบต่อเนื่องกับเดินรถแยกอิสระให้คมนาคม ก่อนชง สคร. และ PPP เดินหน้าคัดเลือกเอกชน เทคะแนนเดินรถต่อเนื่องและเจรจาตรง BMCL ผู้เดินรถรายเดิม ผู้โดยสารสะดวก ประหยัดต้นทุนได้ 1.6 หมื่นล้านตลอดสัมปทาน 30 ปี ส่วนโอนเดินรถสีเขียวให้ กทม.ยังติดปมไม่มีกฎหมายรองรับกรณี กทม.เดินรถนอกเขตพื้นที่ หวั่นโดนผู้ถูกเวนคืนฟ้องร้องได้

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ต.ค. บอร์ด รฟม.ได้พิจารณารูปแบบการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หลังจาก ครม.เห็นชอบให้ใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนร่วมลงทุนหรือดำเนินงานในกิจการของภาครัฐ พ.ศ. 2556 แทน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ซึ่งบอร์ดได้เห็นชอบผลการศึกษาการลงทุนเป็นแบบ PPP Net Cost คือการให้สัมปทานเอกชนเดินรถ พร้อมทั้งรับความเสี่ยงค่าโดยสาร หลังจากพิจารณาผลการศึกษาการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างการเดินรถต่อเนื่อง กับการเดินรถแยกอิสระกับสายสีน้ำเงินเฉลิมรัชมงคล และจะทำให้ผู้โดยสารมีความสะดวกไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนขบวนรถ นอกจากนี้ยังสามารถประหยัดต้นทุน เนื่องจากสามารถใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูยน์ควบคุมการเดินรถร่วมกับสายเฉลิมรัชมงคลได้

“การเดินรถแบบต่อเนื่องมีข้อดีมากกว่าการเดินรถแบบแยกอิสระ เนื่องจากเป็นการเจรจากับผู้รับงานรายเดิม คือ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ซึ่งโครงสร้างสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังสถานีบางซื่อ ต้องเดินลงบันไดมาอีกประมาณ 200 เมตร ใช้เวลาเฉลี่ย 7 นาที แตกต่างจากสถานีสยามฯ ของรถไฟฟ้า BTS ที่ผู้โดยสารไม่สามารถเดิมข้ามฝั่งมาเปลี่ยนขบวนรถ ข้อเสียของการเดินรถแบบต่อเนื่องแทบไม่มีเลย และเราก็สามารถเลือกได้ว่าจะเจรจากับรายเดิมหรือเปิดประมูลใหม่ แต่เราคงไม่เลือกประมูล เพราะต้องกำหนดให้ใช้ระบบแบบเดิมซึ่งจะกลายเป็นการล็อกสเปกทันที”

โดย รฟม.จะต้องเสนอผลการศึกษาข้อดีข้อเสียทั้งหมดไปยังกระทรวงคมนาคมให้ตรวจแผน คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้า และหากกระทรวงคมนาคมเห็นชอบจะต้องส่งเรื่องกลับมายัง รฟม.เพื่อเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือคณะกรรมการ PPP เห็นชอบ และแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 ซึ่งคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดนี้จะใช้เวลา 90 วัน โดยเป้าหมายจะเปิดเดินรถให้บริการภายในปี 2562

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่าการเดินรถแบบต่อเนื่องทำให้มีความสะดวก และทำให้มีจำนวนผู้โดยสารมากกว่าการเดินรถแบบแยกอิสระ 5% และประหยัดต้นทุนโครงการตลอดอายุสัมปทาน 30 ปีได้ถึง 16,000 ล้านบาท เนื่องจากใช้ระบบเดิม ผู้ให้บริการรายเดิม รวมทั้งสามารถใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงร่วมกับสายเฉลิมรัชมงคล และผู้โดยสารมีความปลอดภัยแบบเบ็ดเสร็จมากกว่ามีผู้ให้บริการ 2 รายในสายทางเดียวกัน ที่สำคัญคือรัฐบาลมีนโยบายว่าต้องคำนึงถึงความสะดวกของประชาชน และประหยัดงบประมาณภาครัฐให้มากที่สุด ดังนั้นการเดินรถต่อเนื่องน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

***โอนเดินรถสายสีเขียวให้ กทม.สะดุด เหตุไม่มีกฎหมาย

ส่วนความคืบหน้าการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ และสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคตให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) บริหารนั้น พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายของ รฟม.มีการท้วงติงว่าการดำเนินการดังกล่าวยังไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน เช่น กรณีที่ กทม.เป็นองค์กรส่วนท้องถิ่นจึงไม่สามารถบริหารงานนอกเขตพื้นที่ได้นั้นพบว่า แม้องค์กรส่วนท้องถิ่นของจังหวัดสมุทรปราการจะอนุญาตให้ กทม.บริหารในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการได้ก็ตาม จึงสุ่มเสี่ยงต่อการฟ้องร้อง อีกทั้งพบว่าการที่ รฟม.เวนคืนที่ดินประชาชนมาดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าซึ่งถือเป็นสาธารณประโยชน์นั้น รฟม.จะไม่สามารถโอนที่ดินไปให้หน่วยงานอื่นได้ เว้นแต่จะโอนที่ดินคืนสู่เจ้าของเดิมคือประชาชนที่ถูกเวนคืน

อย่างไรก็ตาม รฟม.ยังคงเดินหน้าดำเนินการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 2 เส้นทางให้ กทม.ต่อไป เนื่องจากเป็นมติของคณะกรรมการจัดการระบบการจราจรทางบก (คจร.) แต่ต้องรายงานให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบว่ามีข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และควรหาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาช่วย รฟม.พิจารณาเรื่องนี้ด้วย

ส่วนการเดินรถรอยต่อ 1 สถานี จากเตาปูน-บางซื่อนั้น คาดว่าภายในเดือน พ.ย.จะได้รับความเห็นชอบจาก ครม. จากนั้น รฟม.จะลงนามในสัญญาเพื่อว่าจ้างให้ BMCL รับงาน โดยจะเจรจากับ BMCL เพื่อเร่งรัดการทำงานให้เร็วขึ้นกว่า 15 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น