xs
xsm
sm
md
lg

ประธาน รฟม.เร่งงานรื้อสะพานเกษตร ส่วนสะพานรัชโยธินจ่อรื้อ เม.ย. 59

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธานบอร์ด รฟม.ลงพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสีเขียว, สีน้ำเงินต่อขยาย และสีม่วง เร่งผู้รับเหมาสีเขียวรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรเสร็จใน 2 เดือน ก่อนลงมือสร้างฐานราก และสะพานยกระดับเพื่อเปิดใช้ในปี 60 ขณะที่สะพานรัชโยธิน คาด กทม.ส่งมอบพื้นที่ ต.ค.นี้ เริ่มรื้อย้ายสาธารณูปโภค ปิดจริง เม.ย. 59 พร้อมเร่งเจรจากรมทางหลวงส่งมอบพื้นที่ 4 จุด ชี้ล่าช้าแล้ว 1 เดือน

วันนี้ (7 ต.ค.) เวลา 09.30 น. พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมด้วยนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น.ดูแลงานจราจร และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สัญญาที่ 1 (โครงสร้างทางวิ่งยกระดับช่วงหมอชิต-สะพานใหม่) ได้ลงพื้นที่บริเวณพื้นที่ก่อสร้างสะพานข้ามแยกเกษตร ถนนพหลโยธินเพื่อตรวจความคืบหน้างานรื้อสะพานข้ามแยกเกษตร ซึ่งได้กำชับให้เร่งรัดงานเร็วที่สุดเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร ส่วน รฟม.แจ้งว่าได้ทยอยส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาแล้ว โดยยังติดอีก 4 จุด คือ แยกลาดพร้าว, แยกหลักสี่, คปอ.-กม.25, สภ.อ.คูคต ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.) ยังไม่เห็นชอบแบบ ซึ่งขณะนี้ถือว่าการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าประมาณ 1 เดือน

โดยตามแผนจะใช้เวลารื้อสะพานข้ามแยกเกษตร 2 เดือน (12 ก.ย.-8 พ.ย. 2558) โดยล่าสุดได้รื้อถอนผิวถนนยางมะตอยจำนวน 13,500 ตร.ม.แล้ว และเตรียมรื้อถอนแผ่นสะพาน งานรื้อถอนคานสะพาน (I-Girder) และงานรื้อถอนคานขวางสะพาน(Cross Beam) ซึ่งหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผู้รับจ้างจะรื้อถอนสะพานให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 17 ต.ค. เพื่อคืนพื้นผิวจราจรในพื้นที่ให้มีเท่าเดิม บรรเทาปัญหาจราจร ช่วงรับปริญญา และหลังรื้อสะพานเสร็จจะเริ่มก่อสร้างฐานรากและเสาโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้า 8 เดือน จากนั้นจะก่อสร้างสะพานยกระดับของรถยนต์ทดแทนประมาณ อีก 1 ปี เปิดใช้ได้ในเดือน ต.ค. 2560

ส่วนการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินและก่อสร้างอุโมงค์นั้นอยู่ระหว่างรอกรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่งมอบพื้นที่ คาดว่าภายในเดือน ต.ค.นี้ โดยผู้รับเหมาจะเริ่มรื้อย้ายสาธารณูปโภคบนพื้นราบโดยรอบ 4-6 เดือนซึ่งจะยังไม่ปิดสะพาน และจะรื้อสะพานประมาณเดือน เม.ย. 2559 ประมาณ 2 เดือน และก่อสร้างอุโมงค์ประมาณ 13.5 เดือน

ส่วนการเดินรถนั้น พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า อยู่ระหว่างเตรียมเพื่อเจรจากับ กทม. โดยจะสามารถเปิดเดินรถได้ปลายปี 2563-ต้นปี 2564 โดยขณะนี้ภาพรวมงานโยธาของสายสีเขียวอยู่ที่ 0.87% เร็วกว่า 0.07% โดยสัญญาที่ 1 (โครงสร้างทางวิ่งยกระดับช่วงหมอชิต-สะพานใหม่) บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ผู้รับจ้าง ผลงาน 0.94% เร็วกว่าแผน0.12% สัญญาที่ 2 (โครงสร้างทางวิ่งยกระดับช่วงสะพานใหม่-คูคต) กิจการร่วมค้า UN-SH-CH ผู้รับจ้าง ผลงาน 1.13% เร็วกว่าแผน 0.04% สัญญาที่ 3 (ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร) กิจการร่วมค้า STEC -AS-3 ผู้รับจ้าง ผลงาน 0.40% ช้ากว่าแผน 0.10% สัญญาที่ 4 (งานระบบราง) กิจการร่วมค้า STEC -AS-4 ผู้รับจ้าง ผลงาน 0.58% เร็วกว่าแผน 0.15%

ทางด้าน พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น.ดูแลงานด้านจราจร กล่าวว่า หลังจากมีการปิดและรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรแล้ว การจราจรจะติดขัดมากอยู่ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็น จะติดขัดในเส้นวิภาวดีและเกษตรนวมินทร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็พยายามเร่งแก้ไขให้ในแต่ละจุด แต่ช่วงนี้ปิดเทอม การจราจรไม่มีปัญหา และหลังจากรื้อสะพานแล้วเสร็จจะคืนพื้นผิวจราจรให้ 1 ช่องทางในทุกจุด ยกเว้นช่วงที่มีการสร้างฐานรากจะใช้ประมาณข้างละ 1 เลน หลังฐานรากแล้วเสร็จจะคืนผิวจราจรให้ข้างละครึ่งเลน จะทำให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน พล.อ.ยอดยุทธได้ไปตรวจงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ) และศูนย์ซ่อมบำรุง บางไผ่ ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ซึ่งขณะนี้ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ได้รับมอบรถไฟฟ้าแล้ว 9 ตู้จากทั้งหมด 63 ตู้ เพื่อเริ่ม ทดสอบระบบในเดือน ธ.ค.นี้ และเปิดเดินรถอย่างไม่เป็นทางการช่วง เม.ย.-พ.ค. 59 ก่อนเปิดอย่างเป็นทางการเดือน ส.ค. 59

กำลังโหลดความคิดเห็น