บอร์ด รฟม.ไฟเขียวผลเจรจาว่าจ้าง BMCL เดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ สัญญา 1 ปี ค่าจ้าง 52 ล้านบาท โดยจะไม่เก็บค่าโดยสารเพิ่ม ประชาชนใช้บริการได้ต่อเนื่องจากรถไฟฟ้าใต้ดินเฉลิมรัชมงคล ขณะนี้ยืนยันแนวทางเจรจาตรง BMCL เดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย “ยอดยุทธ” ชี้รวดเร็วคุ้มค่ากว้าเปิดประมูล ลุ้น ครม.พิจารณาใหม่ ยืนยันพร้อมดำเนินการตามมติ
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ได้มีมติเห็นชอบผลการเจรจางานเดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ กับ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL แล้ว โดยคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ที่มี นายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง รองผู้ว่าฯ รฟม. (ปฏิบัติการ) เป็นประธาน ได้ดำเนินการเจรจาได้ข้อยุติการว่าจ้าง BMCL เดินรถและทำสัญญาเป็นระยะเวลา 1 ปี แบ่งค่างานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ค่าลงทุนติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบตั๋วโดยสารที่สถานีเตาปูน จำนวน 693 ล้านบาท โดยรัฐจะทยอยจ่ายคืน และค่าจ้างเดินรถ 1 สถานี วงเงิน 52 ล้านบาทต่อปี โดยหลังจากนี้ รฟม.จะส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อให้รับทราบผลการเจราจร และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการลงนามสัญญาว่าจ้างต่อไป
สำหรับอัตราค่าโดยสาร 1 สถานีดังกล่าว รฟม.จะไม่คิดค่าบริการ ทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการต่อมาถึงสถานีเตาปูนได้ โดยจ่ายค่าโดยสารต่อเนื่องมาจากสายสีน้ำเงินเฉลิมรัชมงคล ซึ่งมีอัตราเริ่มต้นที่ 16 บาท และสิ้นสุดที่ 42 อย่างไรก็ตาม ในการเปิดเดินรถ 1 สถานี จากเตาปูน-บางซื่อนั้นจะไม่พร้อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือน ส.ค. 2559 นี้ โดยรถไฟขบวน 3 ขบวนแรกจะเดินทางมาถึงไทยประมาณวันที่ 19 ก.ย. 58 ส่วนที่เหลืออีก 19 ขบวนจะครบในเดือน ธ.ค. 58 โดย รฟม.จะต้องเร่งรัดให้โดยเร็วที่สุด
ส่วนการจัดหาผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กม.นั้น พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า ทาง รฟม.ยังเห็นว่าควรจะเจรจาตรงกับเอกชนรายเดิม คือ BMCL จะมีความเหมาะสมและได้ประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตลอดสาย มีลักษณะเป็นวงกลมดังนั้นควรให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่อง (Through Operation) ซึ่งที่ผ่านมา รฟม.ได้เสนอเรื่องขอเปลี่ยนรูปแบบการร่วมลงทุน จาก PPP -Gross Cost เป็นรูปแบบ PPP-Net Cost และใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 แทน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 และได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อเสนอขออนุมัติจาก ครม.ต่อไป หาก ครม.เห็นว่าควรจะใช้วิธีการประกวดราคา ทาง รฟม.ก็พร้อมที่จะดำเนินการตามมติ
โดยจากการศึกษาของ รฟม.เห็นว่าหากดำเนินการประกวดราคาจะต้องร่างทีโออาร์ใหม่เพื่อประกวดราคา อีกทั้งการเจราจรตรงกับ BMCL จะส่งผลให้ประชาชนได้ประโยชน์ในการใช้บริการมากกว่า เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการเปลี่ยนขบวนรถ และไม่ต้องจ่ายค่าโดยสารซ้ำซ้อน รวมทั้งการเจราจรกับรายเดิมจะใช้เวลาประมาณ 7-8 เดือน ซึ่งจะเร็วกว่าการเปิดประกวดราคา นอกจากนี้ จะต้องเร่งคัดเลือกเอกชนเข้ามาเดินรถให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 ก่อนที่งานระบบวางรางจะแล้วเสร็จในปี 2561 ทั้งนี้หากดำเนินการล่าช้า รฟม.จะต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาโครงสร้างและระบบรางที่เสร็จก่อน
อย่างไรก็ตาม เรื่องความโปร่งใสในการเจรจาตรงนั้น เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้ทำสัญญาคุณธรรมไปแล้ว ดังนั้น ในการเจรจาจะต้องให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาร่วมด้วย ส่วนการต่อรองราคานั้นมีมาตรฐานควบคุมอยู่แล้ว ดังนั้นเชื่อว่าจะสามารถควบคุมวงเงินว่าจ้างที่เหมาะสมได้อย่างแน่นอน