“คมนาคม-รฟม.” จ่อเสนอ ครม.ขอปรับรูปแบบลงทุนเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จาก PPP-Gross Cost (จ้างเดินรถและซ่อมบำรุง) เป็น PPP-Net Cost (สัมปทาน) และใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 แทน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 เพื่อเจรจาตรง BMCL หลังบอร์ดสภาพัฒน์สั่งเปิดประมูล ด้านบอร์ด รฟม.ยันเดินรถต่อเนื่องประชาชนสะดวก เจรจาตรงใช้เวลาน้อยกว่าประมูล เร่งเปิดเดินรถได้ทันปี 62 ส่วน 1 สถานี(เตาปูน-บางซื่อ) เร่งเจรจาให้ยุติใน 1 เดือน
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) ได้แจ้งมติอย่างเป็นทางการมายังกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2558 ว่า ไม่เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ใช้วิธีการประกวดราคาคัดเลือกเอกชนเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 27 กม. ซึ่งไม่สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ที่ให้เจรจาตรงกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL เพื่อให้การเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อเนื่องตลอดสาย (Through Operation) โดยผู้โดยสารจะลงต่อรถที่สถานีท่าพระเพียงแห่งเดียวซึ่งทำให้มีความสะดวก อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง ค่าซ่อมบำรุง โดยตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ให้สอบถามไปยังกระทรวงการคลังและ สศช. หากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมีความเห็นต่างจากคณะกรรมการมาตรา 13 จะต้องใช้วิธีการประกวดราคาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35
ทั้งนี้ มติบอร์ด สศช.ระบุว่า หาก รฟม.จะดำเนินการตามมติบอร์ด รฟม.ที่ให้ใช้แนวทางจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบการลงทุนแบบรูปแบบ PPP-Net Cost (สัมปทาน โดยเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง พร้อมทั้งรับความเสี่ยงค่าโดยสาร และจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ) เป็นลำดับแรกก่อน หากไม่สำเร็จให้ใช้รูปแบบ PPP-Gross Cost (รัฐเป็นผู้รับความเสี่ยงค่าโดยสารและจ้างเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง โดยรัฐจ่ายค่าจ้างเดินรถ) นั้น จะต้องเสนอขออนุมัติจาก ครม.ก่อน ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ โดยกระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม.ขอเปลี่ยนแปลงมติ ครม.เดิมเมื่อปี 2553 ที่ให้ รฟม.ดำเนินการโดยใช้รูปแบบ PPP-Gross Cost มาเป็น PPP-Net Cost ซึ่งจะทำให้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2556
โดยกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ รฟม.เร่งทำแผนและตารางเวลาเปรียบเทียบระหว่าง การใช้รูปแบบ PPP-Gross Cost ซึ่งจะต้องเปิดประกวดราคาตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน 35ฯ กับรูปแบบ PPP-Net Cost ซึ่งจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2556 และใช้วิธีเจรจาตรงได้ เพื่อนำมาตัดสินใจอีกครั้งว่าทั้ง 2 แนวทางมีระยะเวลาในการดำเนินงานมากน้อยกว่ากันเท่าไร เนื่องจากในการดำเนินงานจะต้องพิจารณาการเปิดเดินรถให้พอดีกับการก่อสร้างงานโยธาที่จะแล้วเสร็จในปี 2562 ด้วย โดยให้ รฟม.สรุปรายละเอียดรายงานต่อกระทรวงคมนาคมในวันที่ 6 ส.ค.นี้
“ขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ถือว่าจบแล้วเมื่อบอร์ด สศช.มีมติไม่เห็นด้วยกับการเจรจาตรง แต่หาก รฟม.จะใช้รูปแบบ PPP-Net Cost จะต้องเสนอ ครม.ขอยกเลิกมติเดิม เท่ากับเปลี่ยนไปใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ซึ่งจะเป็นโครงการแรก โดยตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 จะต้องตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 ขึ้นมาพิจารณา และเสนอเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะเลขาฯ คณะกรรมการ PPP พร้อมกันนี้จะมีการสอบถามความเห็นไปยังสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังและ สศช.เหมือนเดิม โดยรวบรวมความเห็นกลับมาที่ สคร. และส่งกลับมาที่กระทรวงคมนาคมเพื่อให้คณะกรรมการมาตรา 35 ดำเนินงานต่อ และเมื่อได้ดำเนินการคัดเลือกแล้วเสร็จจะต้องเสนอ ครม.เห็นชอบเพื่อลงนาม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่แตกต่างจาก พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35” นางสร้อยทิพย์กล่าว
ด้าน พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานบอร์ด รฟม. กล่าวว่า บอร์ด รฟม.มีมติยืนยันการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายต่อเนื่องตลอดสายเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และใช้รูปแบบ PPP-Net Cost เพื่อลดความเสี่ยงของภาครัฐ และใช้ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 โดยจะเร่งเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.ตัดสินใจต่อไป ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบจะทำให้ รฟม.สามารถใช้วิธีเจรจาตรง โดยตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ขึ้นมา ในขณะที่ขั้นตอนและระยะเวลาจะสั้นกว่าการเปิดประกวดราคา และประหยัดค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบควบคุมการเดินรถ และค่าซ่อมบำรุง ค่าบริหารจัดการถึงเกือบ 9,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 25 ปี โดยจะสามารถลงนามสัญญากับผู้รับเดินรถได้ภายในกลางปี 59 หรือไม่เกินไตรมาส 3 ปี 59 ซึ่งจะทำให้เปิดเดินรถได้ทันกับการก่อสร้างงานโยธาที่จะแล้วเสร็จในปี 62
ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า หากเจรจาตรงกับ BMCL จะใช้เวลาสั้นกว่าการเปิดประกวดราคาใหม่อย่างน้อย 6 เดือน ซึ่ง รฟม.กำลังเร่งทำตารางเวลาเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตาม แนวทางการเจรจากับ BMCL และรูปแบบ PPP-Net Cost จะเกิดประโยชน์มากกว่า นอกจากรวดเร็วแล้ว รัฐยังไม่ต้องรับความเสี่ยง ขณะที่เอกชนจะมีความเป็นไปได้ในการลงทุนเพราะเป็นการเดินรถต่อเนื่อง ซึ่งผู้โดยสารจะเกิดความสะดวก และทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นตลอดสาย จะมีโอกาสในการทำรายได้ที่คุ้มทุนมากขึ้น
ส่วนการเดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อนั้น คณะกรรมการมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 35 อยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาของ BMCL ซึ่งเห็นว่ายังมีราคาที่สูงไป และข้อเสนอขอสัญญาชั่วคราวเดินรถ 1 ปี โดยใช้ขบวนรถไฟฟ้าของสายเฉลิมรัชมงคลก่อน เพื่อรอการพิจารณาการเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หากบริษัทเป็นผู้รับเดินรถจะสั่งซื้อรถไปพร้อมกันเพื่อความคุ้มค่า โดยคาดว่าจะสามารถสรุปได้ภายใน 1 เดือน จากนั้นจะเร่งเสนอ ครม.ขออนุมัติ และลงนามในสัญญาภายในเดือน ต.ค. 58 พร้อมกันนี้ จะเจรจาให้บริษัทเร่งติดตั้งระบบเพื่อเปิดเดินรถพร้อมสายสีม่วงในเดือน พ.ค.-ส.ค. 59