เดินรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ติดหล่มบอร์ด สศช.สั่งเปิดประมูล “ประจิน” ยอมรับมติชี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 เป้าหมายเดินรถต่อเนื่องถือว่าจบ “อาคม” ยันบอร์ด สศช.พิจารณารอบคอบแล้วไม่กระทบล่าช้า ด้าน “ผู้ว่าฯ รฟม.” เตรียมรายงานบอร์ด พร้อมเร่ง TOR เพื่อประมูลปลายปี 58 เผยต้องปรับราคากลางใหม่ซึ่งจะสูงจากวิธีเจรจาตรง BMCL แน่นอน
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 27 กม. ว่า จากที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) มีมติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดประกวดราคาคัดเลือกเอกชนเดินรถซึ่งไม่สอดคล้องต่อมติของคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ที่ให้เจรจาตรงกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ดังนั้น รฟม. จะต้องใช้วิธีประกวดราคาและใช้รูปแบบ PPP -Gross Cost (รัฐเป็นผู้รับความเสี่ยงค่าโดยสารและจ้างเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง โดยรัฐจ่ายค่าจ้างเดินรถ) โดยอัตโนมัติ
ทั้งนี้ หาก สศช.เห็นชอบตามมติ มาตรา 13 นั้นกระทรวงคมนาคม จะเสนอ ครม.พร้อมกับขอเปลี่ยนเป็นรูปแบบ PPP-Net Cost (สัมปทานโดยเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง พร้อมทั้งรับความเสี่ยงค่าโดยสาร และจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ) เพื่อให้การเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อเนื่องตลอดสาย (Through Operation) แต่เมื่อบอร์ด สศช.ไม่เห็นชอบแนวทางนี้ถือว่าจบแล้ว ต้องส่งเรื่องกลับไปที่คณะกรรมการมาตรา 13 เพื่อให้ดำเนินการประกวดราคา ซึ่ง รฟม.รายงานว่าจะใช้เวลาในการร่างขอบเขตของงาน (TOR) และเอกสารประกวดราคา และยื่นข้อเสนอประมาณ 4 เดือน (90-150 วัน) กรณีมีการร้องเรียนอาจจะใช้เวลาถึง 6 เดือน (180 วัน)
“เท่ากับตอนนี้การเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยายล่าช้าไปอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนทางกระทรวงการคลังนั้น ได้พูดคุยกันก่อนหน้านี้มีความเห็นเป็นกลาง คือ จะไม่ขัดต่อความเห็นของทางกระทรวงคมนาคม แต่อย่าลืมกระทรวงคมนาคม มี รมต. 2 คน คือ ผม และ รมช.อาคม ซึ่งเป็นผู้ไปเจรจากับทางกระทรวงการคลัง และตอนนี้ยังไม่ได้บอกผลทางคลังว่าเป็นอย่างไร แต่บอร์ด สศช.มีมติออกมาแล้วว่าให้เปิดประมูล การทำงาน การทำหน้าที่จะไม่มีการกดดันกัน” รมว.คมนาคม กล่าว
ส่วนการเดินรถ 1 สถานีช่วงเตาปูน-บางซื่อนั้น พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ครม.มีมติชัดเจนไปแล้วว่า ให้ BMCL เป็นผู้เดินรถ และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ซึ่งจะเปิดบริการในปี 2559 แน่นอน ดังนั้น หากไม่สามารถเปิดเดินรถได้ทันกับสีม่วงบริษัทจะเสียรายได้ เชื่อว่าจะมีวิธีเร่งรัดได้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และในฐานะเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า มติของบอร์ดสภาพัฒน์พิจารณาอย่างรอบคอบภายใต้เหตุผล ซึ่งกระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์เป็นหน่วยงานที่จะต้องให้ความเห็นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) หากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมีความเห็นต่างจากมติของคณะกรรมการมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 จะต้องกลับไปใช้วิธีการประกวดราคาโดยอัตโนมัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ส่วนข้อกังวลว่า วิธีประกวดราคาจะทำให้การเปิดเดินรถล่าช้าไม่ทันตามกำหนดนั้น ยืนยันบอร์ดสภาพัฒน์ได้พิจารณาในประเด็นนี้แล้ว
***รฟม.เร่งออก TOR ประมูลปลายปี 58 คาดใช้เวลา 1 ปี
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า ทราบมติบอร์ดสภาพัฒน์แล้ว ซึ่งตามกฎหมาย รฟม.จะต้องกลับไปใช้รูปแบบการประกวดราคาคัดเลือกเอกชนเข้ามาเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยายซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ในการดำเนินการตั้งแต่การกำหนดร่างขอบเขตของงาน (TOR) และเอกสารประกวดราคา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากมีรายละเอียดบางส่วนที่ดำเนินการไว้บ้างแล้ว โดยจะสามารถประกาศร่าง TOR เชิญชวนได้ภายในปลายปี 2558 นี้ จากนั้นจะให้เวลาผู้สนใจยื่นข้อเสนอ 90 วัน และเข้าสู่การประกวดราคา และเมื่อเจรจาต่อรองกับผู้ชนะ ซึ่งคาดว่าหากสามารถเริ่มกระบวนการประกวดราคาได้ในปลายปี 2558 จะสรุปผลได้ปลายปี 2559 และเสนอ ครม.พิจารณาได้ ซึ่งประเมินว่าจะเปิดเดินรถได้ตามแผนเดิมปี 2562 หรือล่าช้าเล็กน้อย
“จะต้องรายงานบอร์ด รฟม.ให้รับทราบเพื่อเดินหน้าการประกวดราคาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ซึ่ง คณะกรรมการมาตรา 13 จะดำเนินการตั้งแต่กำหนดเงื่อนไข TOR ประกวดราคาและเจรจาต่อรอง ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน แต่ในขั้นตอนการเจรจาต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมเรื่องเวลาได้ว่าจะยืดเยื้อแค่ไหน แต่คร่าวๆ หากเริ่มประกาศ TOR ปลายปี 58 อย่างเร็ว จะสรุปผลและเสนอ ครม.ขออนุมัติในปลายปี 59” นายพีระยุทธ กล่าว
นอกจากนี้ ในส่วนของราคากลางกรณีที่วิธีเปิดประกวดราคานั้นจะต้องมีการปรับปรุงจากราคากลางเดิมที่ประเมินไว้สำหรับการเจรจาตรงกับ BMCL ที่จะถูกกว่าการประกวดราคา เนื่องจากการเจรจาจะลดค่าใช้จ่ายในส่วนของระบบควบคุมการเดินรถ ที่ศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) ที่หลักสอง ปลายสายทาง เพราะสามารถใช้ร่วมกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลได้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในเรื่องบุคลากร เป็นต้น