BMCL ห่วงรอยต่อเดินรถ 1 สถานี เตาปูน-บางซื่อ เสร็จไม่ทันพร้อมเปิดสีม่วง ชี้ รฟม.ควรเร่งสรุปเจรจาหวั่นประชาชนต่อรถลำบาก เผยเสนอลงทุนติดตั้งระบบกว่า 700 ล้าน พร้อมเดินรถ MRT เพิ่ม 1 สถานีแล้ว ส่วนสีม่วงมีค่าดูแลรักษาเดือนละกว่า 14 ล้าน เหตุสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่มีรถวิ่งเพราะทำสัญญาเดินรถช้า เผยรถขบวนแรกประกอบเสร็จกลาง ส.ค.นี้ ถึงแหลมฉบัง ก.ย. 2558 ยันเปิด ส.ค. 59 เร็ว 5 เดือน จากกำหนด ธ.ค. 59
นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ช.การช่าง อยู่ระหว่างเจรจาการเดินรถไฟฟ้าจำนวน 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. รฟม.ได้เชิญไปร่วมการเจรจา ซึ่งบริษัทฯ ได้ยื่นข้อเสนอในการลงทุนและแผนการเดินรถเบื้องต้น บริษัทฯ จะต้องรับผิดชอบติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบตั๋วโดยสารที่สถานีทั้งหมด คาดว่าจะใช้งบประมาณ 700-800 ล้านบาท ใช้เวลาติดตั้งประมาณ 15 เดือน และเดินรถโดยใช้ขบวนรถจากรถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคล หรือต่อมาอีก 1 สถานี
“เพิ่งมีการเจรจา 1 สถานีซึ่งบริษัทฯ ได้ยื่นข้อเสนอไป ขณะนี้เตาปูนมีแต่สถานีอย่างเดียว ซึ่งหากจะเปิดเดินรถ 1 สถานีให้พอดีกับเปิดรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ จะต้องตัดสินใจและเซ็นสัญญากันวันนี้แล้ว เพราะหลังจากนี้เวลาที่เหลือจะไม่ทัน ซี่งจะทำให้ผู้โดยสารไม่สะดวกในการต่อเชื่อมจากสีม่วงกับ MRT เพราะขาดช่วงไป 1 สถานี รวมถึงหากสามารถเจรจาเรื่องการเดินรถสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ได้ข้อสรุปโดยเร็ว จะทำให้สามารถสั่งซื้อระบบต่างๆ ของ 1 สถานีร่วมด้วย จะทำให้ราคาถูกลง ช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก ซึ่งขณะนี้งานโยธาของส่วนต่อขยายคืบหน้ากว่า 60% แล้ว โดยตามแผนจะมีการสั่งซื้อระบบและตัวรถไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้ประมาณ 28-30 ขบวนด้วย” นายพงษ์สฤษดิ์กล่าว
ส่วนความคืบหน้าการผลิตรถไฟฟ้า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ซึ่งทำสัญญากลุ่มกิจการร่วมค้า มารุเบนิ-โตชิบา ประเทศญี่ปุ่นนั้น ขบวนแรก (3 ตู้) จากทั้งหมด 21 ขบวน จะผลิตแล้วเสร็จกลางเดือน ส.ค. 2558 โดยจะส่งมาทางเรือ กำหนดถึงท่าเรือแหลมฉบังในกลางเดือน ก.ย. 2558 จากนั้นจะเป็นการทดสอบขั้นตอนที่ 1 นำรถขบวนแรกไปทำการวิ่งทดสอบระบบแบบรายตู้ และรายขบวน (Individual Test) ก่อน จากนั้นอีก 20 ขบวนจะทยอยส่งเข้ามาครบทั้งหมดในเดือน ธ.ค. 2558 หรืออย่างช้าต้น ม.ค. 59 โดยทุกขบวนจะเข้าสู่กระบวนการแยกทดสอบ จากนั้นจะทำการทดสอบขั้นที่ 2 เป็นการทดสอบร่วมของขบวนรถกับระบบอาณัติสัญญาณ กับชานชาลา การเข้าจอดสถานี การเปิดปิดประตูโดยสารกับประตูชานชาลาสถานี (Integration System) ประมาณ 3 เดือน หรือถึงเดือน เม.ย. 59 และขั้นตอนที่ 3 ทดสอบเสมือนจริง วิ่งตั้งแต่เช้าถึงปิดบริการ กำหนดสถานการณ์ต่างๆ เพื่อทดสอบการอพยพ ระบบป้องกันภัยต่างๆ โดยช่วงแรกอาจจะใช้กระสอบทรายแทนน้ำหนักบรรทุกผู้โดยสาร
“คาดว่าช่วง พ.ค. 59 ซึ่งเป็นช่วงทดสอบเสมือนจริงน่าจะให้ประชาชนใช้บริการได้ในช่วงเช้า และเย็น ส่วนกำหนดเปิดให้บริการจริงจะเป็นเดือน ส.ค. 2559 เร็วกว่าแผนงาน 5 เดือนจากเดิมจะเปิดในเดือน ธ.ค. 2559 ส่วนอัตราค่าโดยสารนั้น รฟม.อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษากำหนดอัตราค่าโดยสาร คาดว่าจะใกล้เคียงกับรถไฟฟ้า MRT และสามารถใช้ตั๋วร่วมกันได้”
อย่างไรก็ตาม แม้จะเร่งการผลิตรถและเปิดเดินรถสายสีม่วงได้เร็วกว่ากำหนดถึง 5 เดือน แต่การก่อสร้าง งานโยธาของสายสีม่วงนั้นเสร็จตั้งแต่ต้นปี 2558 เหลือเพียงการก่อสร้างในส่วนของเดปโป้เท่านั้น ทำให้ทุกวันนี้ รฟม.ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาโครงสร้าง และระบบ รวมถึงค่ารักษาความปลอดภัย ค่าทำความสะอาด ทั้ง 20 สถานี กว่า 14 ล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากการเจรจาส่วนของการเดินรถล่าช้า จึงเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับการพิจารณาโครงการในอนาคตว่าระยะเวลาการก่อสร้างงานโยธาและการพิจารณาเรื่องเดินรถควรจะพอดีกัน