xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มจัดส่งรถไฟฟ้าสีม่วงลงเรือแล้ว 2 ขบวน 6 ตู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บีเอ็มซีแอลเริ่มรับมอบตู้รถไฟฟ้าจากญี่ปุ่น สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ จำนวน 2 ขบวน 6 ตู้ โดยออกจากท่าเรือไดโกกุซึ่งตั้งอยู่ในเขตซูรูมิ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ลงเรือเดินทางมายังท่าเรือแหลมฉบังของไทยแล้ว โดยจะส่งมอบครบ 21 ขบวน 63 ตู้ภายในมกราคม 2559

บริษัท มารุเบนิ คอร์ปอเรชั่น (มารุเบนิ) และโตชิบา คอร์ปอเรชั่น (โตชิบา) แจ้งถึงความคืบหน้าในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างมารุเบนิกับโตชิบา และได้รับคัดเลือกให้จัดหาระบบรถไฟฟ้าและระบบซ่อมบำรุงให้แก่โครงการเป็นระยะเวลา 10 ปี เริ่มต้นจากการบริหารจัดการระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วงในเชิงพาณิชย์ โดยการจัดส่งตู้รถไฟฟ้าครั้งแรกจำนวน 2 ขบวน 6 ตู้ จากท่าเรือไดโกกุซึ่งตั้งอยู่ในเขตซูรูมิ เมืองโยโกฮามา จังหวัดคะนะงาวะ จะมีขึ้นในวันที่ 7 กันยายน 2558 และรถไฟอีก 21 ขบวน 63 ตู้จะมาถึงประเทศไทยภายใน เดือนมกราคม 2559

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายใหม่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร มีเส้นทางเดินรถจากสถานีบางใหญ่ถึงบางซื่อ กรุงเทพฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2559 โครงการได้รับการพัฒนาโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยใช้รูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (PPP) โดยใช้งบประมาณจากเงินกู้ตามโครงการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (ODA : Official Development Assistance) จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ได้รับคัดเลือกให้เป็นบริษัทผู้จัดหาอุปกรณ์สำหรับระบบรางและการให้บริการรถไฟฟ้า รฟม. และ BMCL ได้ทำสัญญากับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้าง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชั้นนำของไทย ให้ดำเนินการก่อสร้างระบบรางรถไฟ ภายใต้สัญญากับ ช.การช่าง มารุเบนิ และโตชิบา จะจัดหาระบบการให้บริการรถไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบครอบคลุมการจัดหาตู้รถไฟฟ้า อุปกรณ์การจ่ายไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบ ควบคุมและระบบติดต่อสื่อสาร โดยตู้รถไฟฟ้าได้รับการผลิตโดย บริษัท เจแปน ทรานสปอร์ต เอ็นจิเนียริ่งจำกัด และกลุ่มบริษัท อีสท์ เจแปน เรลเวย์ จำกัด

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีม่วงจะเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2559 โดยมารุเบนิและโตชิบาให้คำมั่นสัญญาอย่างเต็มที่ว่าเทคโนโลยีต่างๆ ของญี่ปุ่นจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานครได้

กำลังโหลดความคิดเห็น