xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เคาะสัญญาจ้าง BMCL เดินรถเตาปูน-บางซื่อ 1 ปี เตรียมฟีดเดอร์เชื่อมก่อน เหตุเปิดไม่พร้อมสีม่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.สรุปผลเจรจา BMCL รับงานเดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ต่อรองค่าลงทุนระบบที่ 740 ล้าน พร้อมทำสัญญาจ้างเดินรถแบบชั่วคราว 1 ปีตามรูปแบบ PPP-Gross Cost ช่วงรอยต่อระหว่างรอผลสรุปเดินรถสายสีน้ำเงินต่อขยายก่อนทำสัญญาเต็มไปพร้อมกันเหตุคุ้มค่ากว่า ยอมรับเปิด 1 สถานีไม่ทันกับสายสีม่วง เตรียมแผนสำรองประสาน ขสมก.จัดฟีดเดอร์เชื่อมช่วงเตาปูน-บางซื่อ

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ว่า คณะกรรมการ ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ที่มี นายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง รองผู้ว่าฯ รฟม.(ปฏิบัติการ) เป็นประธานได้ประชุมเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยได้เชิญ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL มาเจรจาต่อรองในเรื่องค่าดำเนินการ ค่าติดตั้งระบบ และระยะเวลาในการเดินรถ ซึ่งได้ข้อสรุปแล้ว ซึ่งตามขั้นตอนจะรายงานให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มี พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธานรับทราบในการประชุมต้นเดือน ก.ย.นี้ และเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และลงนามในสัญญากับเอกชนต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการมาตรา 13 ได้พิจารณาในประเด็นอายุสัญญาที่เดิมเคยมีแนวทางว่าการเดินรถ 1 สถานีนี้ควรมีระยะเวลาของสัญญาสิ้นสุดในปี 2572 พร้อมกับสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งเท่ากับจะมีระยะเวลาประมาณ 15 ปี ซึ่งหลักธุรกิจแล้วไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุนเพราะระยะเวลาน้อยและยังเป็นการเดินรถเพียง 1 สถานีเท่านั้น ซึ่ง กก.มาตรา 13 เห็นด้วยและมีมติว่าควรจะให้การเดินรถ 1 สถานีหมดอายุสัญญาไปพร้อมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) จะเหมาะสมกว่า ดังนั้น ในระหว่างที่การเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายยังไม่ได้ข้อสรุป เห็นว่า รฟม.ควรจ้าง BMCL เดินรถ 1 สถานีในรูปแบบ PPP-Gross Cost เป็นระยะเวลา 1 ปีไปก่อน

สำหรับระยะเวลาในการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบตั๋วโดยสารที่สถานีเตาปูนและการทดสอบนั้นจะต้องใช้เวลา 15 เดือน เนื่องจากหลังลงนามสัญญาจะมีกระบวนการสั่งซื้อก่อน ซึ่งต้องเห็นใจเอกชน และจะเร่งขั้นตอนในการดำเนินงานให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ มีแนวโน้มสูงว่าจะเดินรถ 1 สถานีไม่ทันกับที่รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) เปิดให้บริการในช่วง พ.ค.-ส.ค. 2559 ดังนั้น รฟม.ได้เตรียมแผนสำรองในการจัดระบบฟีดเดอร์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีเตาปูน-บางซื่อ เพื่อใช้ระบบรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลได้ ซึ่งขณะนี้มี 2 แนวทาง คือ 1. ประสานกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในการจัดรถ ขสมก.บริการ หรือ 2. กรณีที่ระบบของ ขสมก.ไม่สามารถจัดรองรับให้ได้ รฟม.จะต้องดำเนินการจัดหารถมาเป็นฟีดเดอร์เอง โดยจะประสานกับ BMCL ในการให้บริการ

“รฟม.จะพยายามเร่งรัดทาง BMCL ในเรื่องการติดตั้งระบบและทดสอบให้เร็วขึ้นจากกรอบเวลา 15 เดือน ซึ่งก็ต้องดูว่ามีอะไรที่เร่งได้ อะไรที่เกินความจำเป็นอาจจะให้ปรับไปทำทีหลัง เร่งที่จำเป็นทำก่อน ซึ่งต้องดูในรายละเอียดของแผนงานกันอีกทีเมื่อได้ลงมือทำ แต่คาดว่าน่าจะเปิดเดินรถ 1 สถานีไม่ทันกับเปิดสายสีม่วงแน่นอน” ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการมาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 มีที่ นายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง รองผู้ว่าฯ รฟม. (ปฏิบัติการ) เป็นประธาน ได้เชิญผู้บริหาร BMCL มาเจรจาต่อรอง และได้ข้อยุติในเรื่องค่าลงทุนติดตั้งระบบที่สถานีเตาปูนแล้ว โดย BMCL ลดราคาลงมาอยู่ที่ 740 ล้านบาท จากราคากลางที่ 770 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะรอให้ BMCL ยืนยันราคากลับมาเป็นทางการอีกครั้ง คณะกรรมการมาตรา 13 จึงจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดรายงานบอร์ด รฟม. และเสนอมายังกระทรวงคมนาคมได้
กำลังโหลดความคิดเห็น