xs
xsm
sm
md
lg

เดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยายฉลุย คลัง-สศช.ไฟเขียวเจรจา BMCL

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” เผยคลังและ สศช.เห็นชอบเจรจาตรง BMCL เดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย พร้อมปรับรูปแบบร่วมทุนจาก PPP Gross-Cost หรือจ้างวิ่งเป็น PPP Net-Cost หรือสัมปทานเหมือนสายเฉลิมรัชมงคล เพื่อความสะดวกในการเดินรถหลังครบสัญญาสัมปทานในอนาคต “ประจิน” เตรียมหารือ “หม่อมอุ๋ย” ดันเข้า ครม.ใน 2 เดือนก่อนเปิดโต๊ะเจรจา ส่วนเดินรถ 1 สถานี (บางซื่อ-เตาปูน) ยืนยันเปิดพร้อมสายสีม่วงแน่นอน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 27 กม. ว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เห็นด้วยกับแนวทางตามที่คณะกรรมการมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) มีมติให้เจรจาตรงกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ระยะทาง 20 กม. เพื่อให้การเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อเนื่องตลอดสาย (Through Operation) พร้อมทั้งการขอปรับรูปแบบการลงทุน PrivatePublic Partnership (PPP) จากเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ใช้รูปแบบ PPP-Gross Cost (รัฐเป็นผู้รับความเสี่ยงค่าโดยสาร และจ้างเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง โดยรัฐจ่ายค่าจ้างเดินรถ) เป็นรูปแบบ PPP-Net Cost (สัมปทาน โดยเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง พร้อมทั้งรับความเสี่ยงค่าโดยสาร และจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ) แล้ว เพื่อการเดินรถต่อเนื่องเป็นไปตามแนวทางให้ประชาชนเกิดความสะดวก

ส่วนทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทราบว่าได้เห็นชอบแนวทางที่กระทรวงคมนาคมเสนอแล้วเช่นกัน เพียงแต่ไม่ทราบขั้นตอนทางเอกสารเป็นทางการว่าดำเนินการถึงไหนแล้ว โดยหลังจากนี้ตนจะหารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ถึงขั้นตอนว่าจะต้องเสนอไปที่คณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อพิจารณาก่อนเสนอ ครม. หรือเสนอตรงไปที่ ครม.ได้เลย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงจะเสนอ ครม.พิจารณาได้

ทั้งนี้ สัญญาของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะมีระยะเวลา 25 ปี ส่วนสาเหตุที่ต้องมีการปรับรูปแบบการร่วมทุนของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเป็น PPP Net-Cost เหมือนกับสีน้ำเงินสายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งจะครบสัญญาสัมปทานในปี 2572 จะสามารถทำสัญญาให้รายเดิมเดินรถต่อไปได้ และให้หมดสัญญาพร้อมกับส่วนต่อขยาย เป็นรูปแบบที่ช่วยชดเชยการที่เอกชนต้องแบกรับภาระขาดทุนมาตั้งแต่เปิดเดินรถไฟฟ้าเฉลิมรัชมงคล ในขณะที่ในส่วนต่อขยาย เมื่อเปิดเดินรถช่วง 10 ปีแรกจะขาดทุนเพราะเป็นช่วงการใช้คืนเงินลงทุนและดอกเบี้ย ต้องผ่านปีที่ 10-ปีที่ 12 ไปแล้วจึงจะเริ่มมีกำไร ซึ่งจะพอดีกับที่สายสีน้ำเงิน สายเฉลิมรัชมงคล ครบสัญญา จะเป็นการเดินรถเป็นวงกลมต่อเนื่อง 2 ช่วง เป็นรูปแบบเดียวกันไปจนครบ 25 ปี

“ต้องใช้เวลาในการชี้แจงกับ รมว.คลังหลายครั้ง เพราะทางคลังต้องการตรวจสอบให้แน่ใจถึงผลกระทบทุกด้าน จนล่าสุดคลังไม่ขัดข้องแล้วกระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าต่อไปตามขั้นตอนได้ ซึ่งผมได้มอบหมายให้นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม รับผิดชอบ โดยเป้าหมายคือ ต้องเปิดเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยายให้ได้เป็นการเดินรถต่อเนื่อง ประชาชนได้รับความสะดวก และไม่สร้างภาระให้รัฐบาลในอนาคต การใช้ PPP Net-Cost เพื่อความสะดวกในเรื่องการต่อสัญญาในอนาคต ซึ่งสายเฉลิมรัชมงคลเหลืออายุอีกประมาณ 13 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่าการเสนอเจรจาตรงกับ BMCL ครั้งนี้จะมีข้อผูกมัดเงื่อนไขการต่อสัญญาสายเฉลิมรัชมงคลไปด้วย เพราะจะมีการพิจารณาอีกครั้งเมื่อสายเฉลิมรัชมงคลใกล้หมดสัญญา ครม.นี้จะไม่มีการอนุมัติไว้ก่อน”

ส่วนการเดินรถ 1 สถานีช่วงเตาปูน-บางซื่อนั้น พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ครม.มีมติไปแล้วชัดเจนว่าให้ BMCL เป็นผู้เดินรถ ซึ่งยืนยันว่าจะสามารถเดินรถได้พร้อมกับการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ในปี 2559 แน่นอน

ทั้งนี้ ครม.มีมติให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางซื่อ (งานสัญญาที่ 5) ใช้รูปแบบการลงทุนที่เจรจาตรงกับ BMCL เนื่องจากมีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อภาครัฐ โดยมีระยะเวลาของสัญญาในส่วนนี้จะเท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ของสายเฉลิมรัชมงคล
กำลังโหลดความคิดเห็น