xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” ยันเปิดประมูลเดินรถสีน้ำเงินต่อขยาย ตามความเห็น สศช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมคิด” จี้คมนาคมเร่งสรุปเดินรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ด้าน “อาคม” ยันเดินหน้าตามมติ สศช.เปิดประมูล และใช้ PPP-Gross Cost ตามมติ ครม.เดิม ส่วนกรณี รฟม.เสนอขอปรับเป็น PPP-Net Cost และเจรจาขอพิจารณารายละเอียดก่อนชี้เป็นสาระสำคัญ เผยมัวขอเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเลยทำโครงการล่าช้าไม่ได้ประมูลสักที

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมสรุปการจัดหาผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) เนื่องจากขณะนี้การก่อสร้างงานโยธามีความก้าวหน้าแล้ว 60% โดยคำนึงประโยชน์ประชาชนและรัฐ และเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย (พญาไท-ดอนเมือง) ด้วย เพื่อให้โครงข่ายครบเชื่อมระหว่างสนามบินดอนเมืองกับสนามบินสุวรรณภูมิ โดยหากพร้อมให้เสนอเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนและดำเนินการด้วยความโปร่งใส

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าการคัดเลือกผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 27 กม. ว่า จากที่คณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ได้สอบถามไปยังกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งไม่เห็นด้วยกับวิธีการเจรจาตรง ดังนั้นจะต้องเดินหน้าตามเดิมคือการประกวดราคา ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมเมื่อปี2553 ที่ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินโครงการในรูปแบบการลงทุนจาก PPP -Gross Cost (รัฐเป็นผู้รับความเสี่ยงค่าโดยสารและจ้างเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง โดยรัฐจ่ายค่าจ้างเดินรถ) และเปิดประกวดราคาคัดเลือกเอกชนเดินรถ

ทั้งนี้ กรณีที่ทาง รฟม.จะขอเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงทุนจาก PPP-Gross Cost เปลี่ยนเป็นรูปแบบ PPP-Net Cost (สัมปทาน โดยเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง พร้อมทั้งรับความเสี่ยงค่าโดยสารและจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ) เพื่อให้การเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อเนื่องตลอดสาย (Through Operation) ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจาตรงกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ได้ถือเป็นสาระสำคัญนั้น จะต้องนำเสนอ ครม.เพื่อทบทวนมติเดิม

นายอาคมกล่าวว่า เนื่องจากเดิมนั้นกระทรวงคมนาคมเคยขอปรับรูปแบบเป็น PPP-Net Cost และไม่ขอเปิดประมูล และ ครม.ได้พิจารณาแล้ว โดยให้สอบถามกระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ โดยคลังและสภาพัฒน์ได้ตัดสินชัดเจนแล้วให้เปิดประกวดราคาเพื่อความโปร่งใสก็ต้องเดินหน้าประมูลต่อไป แต่หาก รฟม.ยังคิดว่าอยากจะเจรจาและเปลี่ยนรูปแบบก็ต้องเสนอ ครม.ใหม่ ซึ่งขณะนี้ รฟม.ได้ส่งเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งปลัดคมนาคมเพิ่งได้รับเรื่องจาก รฟม.ที่ขอปรับเปลี่ยนรูปแบบการร่วมทุน ซึ่งต้องพิจารณารายละเอียดก่อนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยก็ต้องเดินไปตามรูปแบบเดิม

“ขั้นตอนก่อนหน้านี้ ครม.ให้สอบถามความเห็นของกระทรวงคลังและสภาพัฒน์ ซึ่งตอบอย่างไรกระทรวงคมนาคมต้องปฏิบัติตาม ยกเว้นหากกระทรวงคมนาคมเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงวิธีการจะต้องเสนอ ครม.ใหม่ ส่วนตัวผมอยากให้เดินไปตามแนวทางที่สภาพัฒน์ให้ความเห็นคือเปิดประมูล เพราะจะไม่ทำให้เสียเวลาอีก โดยคณะกรรมการมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ทำหน้าที่ต่อไปให้จบ คือถ้าไม่ไปมัวเสียเวลาเปลี่ยนจาก PPP-Gross Cost เป็น PPP-Net Cost และเปลี่ยนจากประมูลเป็นเจรจา วันนี้ทางคณะกรรมการมาตรา 13 คงเปิดประมูลคัดเลือกไปแล้วงานจะมีความคืบหน้าไปมากกว่านี้แล้ว” นายอาคมกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BMCL เคยระบุว่าบริษัทฯ ยังพร้อมที่จะเข้าร่วมเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาตรงหรือเปิดประมูล ขณะนี้รอความชัดเจนจากฝ่ายรัฐว่าจะกำหนดกติกาอย่างไร และมั่นใจว่าจะมีข้อได้เปรียบรายอื่น โดยสามารถเสนอราคาต่ำแต่มีคุณภาพได้ เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ให้บริการส่วนเดิมที่เป็นใต้ดินอยู่สามารถเดินรถต่อเนื่องได้

***เตรียมแบ่งแอร์พอร์ตลิงก์ประมูลสร้างช่วงพญาไท-บางซื่อก่อน

ด้านนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รมว.คมนาคมเห็นด้วยกับแนวทางการก่อสร้างโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง)-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง (แอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย) ระยะทาง 21.8 กม. วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท ในช่วงพญาไท-บางซื่อก่อนเพื่อเร่งรัดงาน เนื่องจากเป็นส่วนที่ใช้แนวเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ และรถไฟดีเซล หรือ Missing Link ซึ่งจะต้องก่อสร้างไปตามแนวเส้นทางอุโมงค์และทางระดับดินในช่วงผ่านพื้นที่ด้านหน้าพระราชวังสวนจิตรลดา จึงจำเป็นต้องเสนอ ครม.และประมูลไปพร้อมกัน โดยขณะนี้ได้เร่งรัดให้นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. ให้สรุปทั้ง 3 โครงการเสนอกระทรวงคมนาคมเร็วที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น