“คมนาคม” ยันชง ครม.ขออนุมัติรถไฟฟ้าสีส้มและสีม่วงใต้ได้ในปีนี้ ส่วนสีชมพูและสีเหลืองพร้อมส่งเรื่องไป รฟม.เพื่อเสนอ สคร.ตามขั้นตอนร่วมทุน PPP คัดเลือกเอกชนเข้ามาลงทุนแล้ว ด้าน “สร้อยทิพย์” เตรียมรายงานแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อ “สมคิด” ในวันที่ 9 ก.ย.เพื่อผลักดันให้เดินหน้าตามเป้าหมาย
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปแผนงานการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 21.2 กิโลเมตร วงเงิน 110,325 ล้านบาท และสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร กรอบวงเงิน 103,949 ล้านบาท ซึ่งจะสรุปและสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน ก.ย.นี้ได้ รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กม. ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีแนวคิดว่าจะเสนอ ครม.ไปพร้อมกันด้วย โดยขอยกเว้นศึกษา EIA คู่ขนานไป เนื่องจากเป็นโครงการต่อขยายจากโครงการสายสีน้ำเงินเดิม การศึกษาจะใช้เวลาไม่นาน
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงิน 55,986 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 กิโลเมตร วงเงิน 56,691 ล้านบาท ซึ่งจะลงทุนในรูปแบบการลงทุน (PPP) โดยให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net-Cost โดยให้สัมปทานเอกชน ซึ่งเอกชนจะต้องรับภาระลงทุน 100% (ทั้งค่าก่อสร้างงานโยธา ระบบราง ขบวนรถไฟฟ้า รวมถึงบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง) โดยก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้าแบบรางเดี่ยว (Monorail) นั้นได้สรุปเสนอนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ความเห็นชอบแล้ว และขั้นตอนหลังจากนี้ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 จะต้องส่งเรื่องไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการร่วมทุนฯ โดยเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการ PPP เพื่อดำเนินการคัดเลือกเอกชน ดังนั้น ตามแผนงานของกระทรวงคมนาคมจะสามารถสรุปโครงการรถไฟฟ้า 5 สายเสนอ ครม. และ สคร.พิจารณาเห็นชอบได้ตามขั้นตอนภายในปีนี้แน่นอน
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมรายงานแผนงานความคืบหน้าโครงการต่างๆ ต่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีกำหนดตรวจเยี่ยมและให้นโยบายที่กระทรวงคมนาคมในวันที่ 9 ก.ย. เช่น โครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม., โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ รถไฟทางคู่ ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 เป็นต้น
นางสร้อยทิพย์กล่าวว่า วันนี้ (8 ก.ย.) ได้ประชุมคณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องครั้งที่ 1/2558 ซึ่งได้รับฟังความเห็นถึงแนวทางการจัดตั้งโรงงานประกอบรถไฟในประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศและพัฒนาอุตฯ ทางรางของประเทศแบบยั่งยืน โดยเห็นว่าพิจารณาจากรถไฟฟ้า 10 สายตามแผนแม่บท จะมีความต้องการรถไฟฟ้าถึง 588 ตู้ ซึ่งหากประกอบภายในประเทศจะเกิดอุตสาหกรรมทั้งการผลิต, ชิ้นส่วน และต่อยอดการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่พบว่ามีปัญหาอุปสรรคคือ การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าแต่ละสายขาดช่วงไม่พร้อมกัน โดยสภาพัฒน์ให้ข้อสังเกตว่า หากจะผลักดันให้มีการผลิตหรือประกอบรถไฟฟ้าภายในประเทศได้นั้น ภาครัฐจะต้องเป็นผู้จัดหารถหรือสั่งซื้อรถและว่าจ้างเอกชนเข้ามาเดินรถ ซึ่งอาจจะกระทบต่อแนวทาง PPP ที่ให้เอกชนลงทุนจัดหาระบบและรถไฟฟ้าในขณะนี้ โดยอาจจะต้องใช้ PPP รูปแบบอื่น