xs
xsm
sm
md
lg

เร่งคัดเดินรถสีน้ำเงินชงบอร์ดลงทุน PPP-Net Cost

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-รฟม.เตรียมชงบอร์ด 21 ต.ค. พิจารณารูปแบบร่วมทุนเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ใช้สัมปทาน (PPP-Net Cost) เดินหน้าเจรจา BMCL เผยเปิดประมูลภายใต้การเดินรถต่อเนื่องเพื่อประชาชนสะดวก แต่ส่อผิดพ.ร.บ.ฮั้ว "ยอดยุทธ" มั่นใจ กก.PPP เลือกวิธีที่ดีที่สุด ขณะที่การก่อสร้างช้ากว่าแผนติดปัญหากทม.ส่งพื้นที่ช้า เตรียมขยายสัญญารับเหมาเปิดเดินรถปลายปี62 ส่วนรื้อสะพานเกษตรยังตามแผน ส่วนสะดานรัชโยธินปิดแน่ เม.ย. 59

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้คัดเลือกเอกชนเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โดยใช้พ.ร.บ.ร่วมทุน 56 แทนพ.ร.บ.ร่วมทุน 35 แล้ว ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน เชื่อว่าจะหาวิธีการคัดเลือกเอกชนที่ทำให้ประชาชนและรัฐได้รับประโยชน์สูงสุดซึ่งตามแผนจะเร่งเปิดเดินรถให้เร็วที่สุด ภายใต้แนวทางการเดินรถต่อเนื่อง ซึ่งต้องดูข้อกฎหมายประกอบด้วย

ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า จะเร่งสรุปรายงานการศีกษาวิเคราะห์โครงการเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเสนอบอร์ด รฟม.พิจารณาในวันที่ 21 ต.ค.นี้ และเสนอกระทรวงคมนาคมเห็นชอบก่อนเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ คณะกรรมการ PPP ต่อไป ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบ รฟม.จะตั้งคณะกรรมการตามมาตร 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 56 เพื่อพิจารณาวิธีคัดเลือกเอกชนว่าจะใช้วิธีการประมูลหรือเจรจา หากใช้การเจรจา จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนคาดว่าจะได้ตัวผู้รับงานเดินรถในปี 2559 แน่นอน

ส่วนการวิเคราะห์พบว่า รูปแบบ PPP-Net Cost (สัมปทาน โดยเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง พร้อมทั้งรับความเสี่ยงค่าโดยสารและจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ) มีความเหมาะสม เพราะตอบโจทย์ในเรื่องเดินรถต่อเนื่องซึ่งประชาชนได้รับความสะดวก ไม่เพิ่มหนี้สาธารณะภาครัฐ ซึ่งกรอบสัญญารวมการจัดหารถ 30 ปีจะมีความคุ้มค่าในการลงทุน และมีการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย และข้อจำกัดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องเป็นการเดินรถแบบต่อเนื่องตามนโยบายของ รฟม. เพราะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและส่วนรวม

สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วง หัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ นั้นขณะนี้คืบหน้า 65% ซึ่งล่าช้ากว่าแผนรวมๆ ประมาณ 1 ปี เนื่องจากการส่งมอบพื้นที่มีปัญหาหลายจุด โดยเฉพาะสามแยกไฟฉาย โดยขณะนี้ได้ข้อยุติแล้ว รฟม.อยู่ระหว่างปรับแผนงานก่อสร้างเพื่อเร่งรัด พร้อมกับพิจารณารายละเอียดเพื่อขยายระยะเวลาก่อสร้างให้ผู้รับเหมารวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้งานโยธาจะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2561 ส่วนจะเปิดเดินรถได้เมื่อใดขึ้นกับการคัดเลือกเอกชน ซึ่งจะใช้เวลาในส่วนนี้ 33 เดือน ตามแผนกำหนดเปิดเดินรถปลายปี 2562

***รื้อสะพานเกษตรเสร็จ 8 พ.ย.ส่วนรัชโยธินปิดแน่ เม.ย.59

โดย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. เวลา 9.30 - 10.30 น. พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมด้วยนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผบชน.ดูแลงานจราจร และบมจ.อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต สัญญาที่ 1 (โครงสร้างทางวิ่งยกระดับช่วงหมอชิต-สะพานใหม่) ได้ลงพื้นที่ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างสะพานข้ามแยกเกษตร ถนนพหลโยธินเพื่อตรวจความคืบหน้างานรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรฯ ซึ่งได้กำชับให้เร่งรัดงานเร็วที่สุดเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร ส่วน รฟม.แจ้งว่า ได้ทยอยส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาแล้ว โดยยังติดอีก 4 จุด คือ แยกลาดพร้าว,แยกหลักสี่, คปอ.-กม.25 ,สภอ.คูคต ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.) ยังไม่เห็นชอบแบบ ซึ่งขณะนี้ถือว่าการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าประมาณ 1 เดือน

โดยตามแผนจะใช้เวลารื้อสะพานข้ามแยกเกษตร 2 เดือน ( 12 ก.ย. -8 พ.ย. 2558) โดยล่าสุด ได้รื้อถอนผิวถนนยางมะตอย จำนวน 13,500 ตร.ม.แล้วและเตรียมรื้อถอนแผ่นสะพาน งานรื้อถอนคานสะพาน(I-Girder)และงานรื้อถอนคานขวางสะพาน(Cross Beam) ซึ่งหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้รับจ้างจะรื้อถอนสะพานให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 17ต.ค.
เพื่อคืนพื้นผิวจราจรในพื้นที่ให้มีเท่าเดิม บรรเทาปัญหาจราจร ช่วงรับปริญญา และหลังรื้อสะพานเสร็จ จะเริ่มก่อสร้างก่อสร้างฐานรากและเสาโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้า 8 เดือน จากนั้นจะก่อสร้าง สะพานยกระดับของรถยนต์ทดแทนประมาณ อีก 1 ปี เปิดใช้ได้ในเดือนต.ค.2560

ส่วนการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินและก่อสร้างอุโมงค์นั้นอยู่ระหว่างรอกรุงเทพมหานคร(กทม.) ส่งมอบพื้นที่คาดว่าภายในเดือนต.ค.นี้โดยผู้รับเหมาจะเริ่มรื้อย้ายสาธารณูปโภคบนพื้นราบโดยรอบ 4-6 เดือนซึ่งจะยังไม่ปิดสะพาน และจะรื้อสะพานประมาณเดือนเม.ย.2559 ประมาณ 2 เดือน และก่อสร้างอุโมงค์ ประมาณ 13.5 เดือน

ส่วนการเดินรถนั้นพล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า อยู่ระหว่างเตรียมเพื่อเจรจากับกทม. โดยจะสามารถเปิดเดินรถได้ปลายปี 2563 -ต้นปี 2564 โดยขณะนี้ภาพรวมงานโยธาของสายสีเขียว อยู่ที่ 0.87% เร็วกว่า 0.07% โดยสัญญาที่ 1(โครงสร้างทางวิ่งยกระดับช่วงหมอชิต-สะพานใหม่) บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ผู้รับจ้าง ผลงาน 0.94% เร็วกว่าแผน0.12% สัญญาที่ 2 (โครงสร้างทางวิ่งยกระดับช่วงสะพานใหม่-คูคต) กิจการร่วมค้า UN-SH-CH ผู้รับจ้าง ผลงาน1.13% เร็วกว่าแผน 0.04% สัญญาที่3 (ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร) กิจการร่วมค้า STEC -AS-3 ผู้รับจ้าง ผลงาน 0.40% ช้ากว่าแผน 0.10% สัญญาที่ 4 (งานระบบราง) กิจการร่วมค้า STEC -AS-4 ผู้รับจ้าง ผลงาน 0.58% เร็วกว่าแผน 0.15%
กำลังโหลดความคิดเห็น