xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มร่วมค้าฯ ร้อง ปปง.ถอนอายัดยึดทรัพย์คดีคลองด่าน ชี้รัฐหาช่องเลี่ยงชำระเงิน (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
MGR Online - ทนายกลุ่มของกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ร้อง ปปง.ขอเพิกถอนอายัติทรัพย์สินค่าชดเชยยกเลิกสัญญาบ่อบำบัดคลองด่าน ยันไม่ได้ทำกระทำผิดตามที่ ปปง.กล่าวหาไว้ ระบุศาลปกครองพิพากษาให้รัฐชำระค่าเสียหายกับกลุ่มกิจการร่วมค้า ชี้รัฐบาลหาช่องทางไม่ชำระเงินให้แก่เอกชนที่ชนะคดี


สืบเนื่องจากกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้อายัดทรัพย์สินที่ต้องชำระให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG งวดที่ 2 และ 3 คดีทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยแบ่งเป็นงวดละ 2,380,936,174.53 บาท และ 16,288,391.55 เหรียญสหรัฐอเมริกา รวมมูลค่าตามสิทธิเรียกร้องในหนี้ จำนวน 4,761,872,349.06 บาท และ 32,576,783.10 เหรียญสหรัฐอเมริกา ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว

ล่าสุด วันนี้ (13 มิ.ย.) เวลา 13.00 น. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นายไพสิฐ อิ่มเจริญกุล ทนายความของกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG เดินทางเข้ายื่นเอกสารต่อ ร.ต.อ.ไพรัตน์ เทศพานิช เลขานุการกรม เพื่อโต้แย้งมติคณะกรรมการธุรกรรมในการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดจากโครงการออกแบบร่วมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย

นายไพสิฐกล่าวว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ได้มายื่นเอกสารคำสั่งเพิกถอนอายัดเงิน ปปง.พร้อมเอกสารแนบที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ได้ดำเนินธุรกิจโครงการดังกล่าวอย่างถูกต้องเพื่อโต้แย้งคำสั่งการอายัดเงินงวดที่ 2 และ 3 ซึ่งกรมควบคุมมลพิษต้องชำระให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้าดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ ขอปฏิเสธว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ไม่ได้กระทำความผิดตาม มาตรา 3 (5), (15), (18) ตามที่ ปปง.ได้กล่าวหาเอาไว้

นายไพสิฐกล่าวอีกว่า เหตุผลอีกประการ คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG เคยถูกกล่าวหาจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาแล้วในเรื่องดังกล่าว รวมทั้ง ป.ป.ช.มีมติไม่ชี้มูลความผิดมาแล้ว ดังนั้น กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ไม่ควรจะโดนกล่าวหาซ้ำอีก นอกจากนี้ ปปง.ได้อ้างคำพิพากษาของ 2 คดี 1. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งนายวัฒนา อัศวเหม ถูกฟ้องเป็นจำเลย และ 2. ศาลอาญาพิพากษาลงโทษข้าราชการกรมมลพิษ 3 ราย โดยมองว่าไม่เป็นธรรมเนื่องจากตามกฎหมายคำพิพากษามีผลผูกพันเฉพาะคู่ความเท่านั้น และคำพิพากษา 2 คดีก็ไม่ได้มีคำวินิจฉัยว่าให้มีผลผูกพันกับกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ด้วย

“วันนี้เดินทางมาขอความเป็นธรรมต่อ ปปง.เพราะว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ได้รับคำพิพากษาถึงที่สุดจากศาลปกครองสูงสุดแล้วว่าให้รัฐชำระค่าเสียหายกับกลุ่มกิจการร่วมค้าดังกล่าว ฉะนั้น ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ ปปง.จะมาอายัดเงินจำนวนทั้งหมด โดยหลังจากกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ถูกอายัดเงินจาก ปปง.ได้ส่งผลกระทบถึงสภาพคล่อง และที่สำคัญเป็นความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน รวมทั้งความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อระบบกฎหมายไทย เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่รัฐบาลมีการหาช่องทางที่ไม่ชำระเงินให้กับเอกชนที่ชนะคดี” นายไพสิฐกล่าว

นายไพสิฐกล่าวต่อว่า สำหรับที่มาของสัญญาระหว่างกลุ่มกิจการร่วมค้าและรัฐบาล โดยโครงการนี้ได้ทำเป็นสกุลเงิน 2 สกุล เป็นเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยถามว่าทำไมต้องมีเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นเพราะว่าได้มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญและซื้อเครื่องจักรกลอุปกรณ์หลายชนิดมาจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2540 มีวิกฤตค่าเงินภายในประเทศเพื่อตัดปัญหาดังกล่าวจึงกำหนดค่าจ้างเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเอาไว้แค่นั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการเชื่อมโยงกับนักการเมืองทำให้ได้สัญญากับโครงการดังกล่าว นายไพสิฐกล่าวปิดท้ายว่า ปปง.ได้กล่าวหากลุ่มกิจการร่วมค้าตามคำพิพากษาของศาลในคดีนายวัฒนา กับคดีข้าราชการมลพิษ 3 คน ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด โดยนายวัฒนาถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ม.148 เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจจูงใจเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อปี 2533-2536 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ เนื่องจากก่อตั้งเมื่อปี 2539 และโครงการนี้ริเริ่มปี 2538 ระยะเวลาห่างไกลกันมาก

ด้าน ร.ต.อ.ไพรัตน์เปิดเผยว่า ตนจะรับบเรื่องดังกล่าวเอาไว้เพื่อเรียนเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายต่อไป

 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น