xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.ย้ำอีกรอบ “คดีคลองด่าน” ชัดเจนแล้ว - คนปากน้ำบุกค้าน 300 ล้าน ผุดโครงการอัปยศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กลุ่มสื่อมวลชนสัมพันธ์   สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลปกครอง ได้เผยแพร่เอกสารข่าว “สรุปคำพิพากษาคดีที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน (คดีคลองด่าน)
ศาลปกครองสูงสุด ย้ำ! คำพิพากษา “คดีคลองด่าน” ระบุ ประชาชนให้ความสนใจสูง มีสาระสำคัญของคำพิพากษาอย่างแจ้งชัดแล้ว สั่ง “กรมควบคุมมลพิษ” ปฏิบัติตามคำชี้ขาดคณะอนุญาโตฯ จ่ายเงินผิดสัญญาจ่ายค่างวดงาน 4 งวด บวกดอกเบี้ย กว่า 9 พันล้าน ให้ 6 บริษัทเอกชน ด้าน “ชาวคลองด่าน” ยื่นหนังสือถาม “ดาวพงษ์” แจง งบ 300 ล้าน ศึกษา ผุดใช้ประโยชน์คลองด่าน อ้างรกร้างมานาน

วันนี้ (17 ส.ค.) กลุ่มสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลปกครอง ได้เผยแพร่เอกสารข่าว “สรุปคำพิพากษาคดีที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน (คดีคลองด่าน)” มีใจความว่า

โดยที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.๔๘๗-๔๘๘/๒๕๕๗ (คดีคลองด่าน) ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ (วันที่อ่านคำพิพากษา) ซึ่งขณะนี้คดีดังกล่าวกำลังอยู่ในความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชน ดังนั้น เพื่อให้สาธารณชนได้ทราบถึงสาระสำคัญของคำพิพากษาดังกล่าวอย่างแจ้งชัด สำนักงานศาลปกครองจึงขอสรุปย่อ

คำพิพากษาดังกล่าวนั้น ดังต่อไปนี้

ก่อนคดีนี้มาสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องทั้งหก (บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวกรวม ๖ คน) และผู้คัดค้าน (กรมควบคุมมลพิษ) ได้เข้าสู่กระบวนการยุติข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๕๐/๒๕๔๖ ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ๒/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๔ ซึ่งได้ชี้ขาดให้ผู้คัดค้าน (กรมควบคุมมลพิษ) ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้องเป็นเงิน ๔,๙๘๓,๓๔๒,๓๘๓ บาท ๓๑,๐๓๕,๗๕๐ เหรียญสหรัฐฯ ให้แก่ผู้เรียกร้อง (บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวกรวม ๖ คน) พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของเงิน ๔,๔๒๔,๐๙๙,๙๘๒ บาท และของเงิน ๒๖,๔๓๔,๖๓๖ เหรียญสหรัฐฯ นับตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ และคืนหนังสือค้ำประกัน พร้อมค่าธรรมเนียม และค่าธรรมเนียมแทนผู้เรียกร้อง เป็นเงิน ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท จนกว่าจะคืนหนังสือค้ำประกันให้ผู้เรียกร้อง ข้อเรียกร้องนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกข้อเรียกร้องแย้ง

ต่อมา ผู้ร้องทั้งหกได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๙๑/๒๕๕๔ เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๕๐/๒๕๔๖ ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ๒/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๔ ส่วนผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๐๙/๒๕๕๔ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว

ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๕๐/๒๕๔๖ ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ๒/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๔ ทั้งนี้ ให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แล้วเสร็จภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้องทั้งหก และให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน ซึ่งผู้คัดค้านได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำ ที่ ๕๐/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๒/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๔ พร้อมคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งในศาลชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดให้แก่ผู้คัดค้านด้วย

ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๕๐/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๒/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นคำชี้ขาดที่ศาลเพิกถอนได้หรือไม่ ซึ่งการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ นั้น ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔๐ วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า ให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดสามารถพิสูจน์ได้ว่า

(ก) คู่สัญญาตามสัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น

(ข) สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแห่งประเทศที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้หรือตามกฎหมายไทยในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงดังกล่าว

(ค) ไม่มีการแจ้งให้คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดรู้ล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ หรือบุคคลดังกล่าวไม่สามารถเข้าต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการได้เพราะเหตุประการอื่น

(ง) คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ แต่ถ้าคำชี้ขาดที่วินิจฉัยเกินขอบเขตนั้นสามารถแยกออกได้จากคำชี้ขาดส่วนที่วินิจฉัยในขอบเขตแล้ว ศาลอาจเพิกถอนเฉพาะส่วนที่วินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือข้อตกลงนั้นก็ได้

หรือ (จ) องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการหรือกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ หรือในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นองค์ประกอบดังกล่าว
ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ (๒) มีกรณีปรากฏต่อศาลว่า (ก) คำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย หรือ (ข) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการได้รับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่า ผู้ร้องทั้งหกได้ส่งมอบงานตามสัญญางวดที่ ๕๕, ๕๖, ๕๗ และ ๕๘ แก่ผู้คัดค้านแล้ว เมื่อผู้คัดค้านไม่จ่ายค่างวดงานดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง

ผู้คัดค้านจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องรับผิดใช้ค่างวดงานตามสัญญาให้แก่ผู้ร้องตามนัยข้อ ๖๙.๑ ของสัญญาจ้าง อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทซึ่งอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและไม่เกินคำขอของคู่พิพาทตามมาตรา ๓๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕

คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนตามมาตรา ๔๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ ซึ่งชำระไว้เกินให้แก่ผู้คัดค้านเป็นเงิน ๕,๙๒๔,๘๙๔ บาท

วันเดียวกัน มีรายงานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า ตัวแทนชาวบ้านคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ได้เดินทางเข้าพบ นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คัดค้านการจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทเอกชนและไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการนำโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านมาใช้ประโยชน์ เพราะยังมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ยังขอคำตอบตามแผนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะเสนอรัฐบาล ของบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อให้องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) ซึ่งเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจของกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นเจ้าภาพในการวางแผนงานนำไปศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำ “บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน” ที่ก่อสร้างไปแล้ว 98 เปอร์เซ็นต์ กลับมาใช้ประโยชน์ หลังรัฐบาล ต้องนำเงินภาษีมาจ่ายชดเชยให้เอกชนตามคำสั่งศาลภายในปี 2559

โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรฯ มีแนวคิดที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเอาระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่านที่รกร้างว่างเปล่าอยู่ในเวลานี้มาใช้ โดยมีคำสั่งให้องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) ไปแปลงงบประมาณที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนมาใช้ศึกษาจำนวน 300 ล้านบาท

มีรายงานว่า กระทรวงทรัพยากรฯ ได้แปรญัตติงบประมาณสำหรับทำโครงการประเมินศักยภาพทางเทคนิคและการยอมรับของประชาชน สำหรับการใช้ประโยชน์ของโครงการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ (โครงการระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน) ระยะที่ 2 จำนวน 285 ล้านบาท

ทั้งนี้ ถือเป็นงบประมาณแบบผูกพัน 2 ปี คือ ในปี 2559 ตั้งเป็นงบประมาณเอาไว้ 57 ล้านบาท และปี 2560 ผูกพันงบประมาณอีก 228 ล้านบาท โดยให้เหตุผลความจำเป็นต้องตั้งงบประมาณผูกพันข้ามปีเอาไว้ว่า เป็นรายการที่ดำเนินการไม่เสร็จภายใน 1 ปีงบประมาณ ซึ่งหลังจากนี้จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป รวมงบประมาณดำเนินการ 315 ล้านบาท

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ข้อสรุปว่าจะจ่ายค่าเสียหายให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ผู้ก่อสร้างโครงการระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ เป็นเงิน 9 พันล้านบาทถ้วน ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2557 โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด คือในเดือน พ.ค. 2559 จ่าย 3,000 ล้านบาท และเดือน พ.ย. 2559 จำนวน 6,000 ล้านบาทนั้น

นายวิจารณ์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า จำเป็นต้องนำโครงการนี้กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะรัฐได้ลงทุนไปแล้วหลายหมื่นล้านบาท และจังหวัดสมุทรปราการก็ยังปัญหาน้ำเสียอยู่ โดยจะให้องค์การจัดการน้ำเสียเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติงบประมาณ เพื่อไม่ให้โครงการนี้สูญเปล่า ซึ่งก็พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนของชาวบ้านในพื้นที่

ขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างที่ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แปรญัตติของบประมาณจากงบประมาณไม่จำเป็นเร่งด่วน มาศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่ปัจจุบันสร้างเสร็จไปแล้ว 98 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่ได้ใช้งาน และ รกร้างว่างเปล่า ที่อยู่ในความดูแลของกรมควบคุมมลพิษ มาใช้งานใหม่ได้อยู่หรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ คาดว่าภายใน 3 สัปดาห์ จะทราบความชัดเจน

มีรายงานจาก องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับมอบหมายงานให้ลงพื้นที่ศึกษาความเป็นไปได้เพื่อนำกลับมาใช้งาน โดยเฉพาะอุปกรณ์ เครื่องจักรภายในระบบบ่อบำบัดที่ไม่ได้ใช้งานมาหลายปี แม้จะเดินเครื่องเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของระบบทั้งหมดก็ตาม โดยต้องรอให้ ครม.มีมติอนุมัติคำสั่งออกมาก่อน

ทั้งนี้ เมื่อปี 2547 กรมควบคุมมลพิษ เจ้าของโครงการนี้เคยว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ทำการศึกษาทางเลือกที่เหมาะสม ด้วยงบประมาณถึง 45 ล้านบาท ศึกษาความเป็นไปได้เพื่อนำกลับมาใช้งาน



กำลังโหลดความคิดเห็น