xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ค่าโง่คลองด่าน ไหนว่าต่อรองได้?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในที่สุดรัฐบาลก็ไม่มีทางเลี่ยง และต้องจ่าย “ค่าโง่”จากโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเอาไว้ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2557

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวเป็นการพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ที่พิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ่ายค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ่ายค่างวดงาน 4 งวดบวกดอกเบี้ย นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ แก่บริษัทเอกชน 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด, บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด ที่ร่วมกันใช้ชื่อ กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) เพื่อรับจ้างออกแบบและก่อสร้างโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ หรือ โครงการคลองด่าน ให้กรมควบคุมมลพิษ ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 9 พันกว่าล้านบาท

หลังจากศาลปกครองมีคำพิพากษาออกมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องเข้ามารับหน้าที่เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งปล่อยเรี่ยราดเอาไว้ ได้พยายามเจรจาต่อรองกับบริษัทเอกชนทั้งหก เพื่อขอลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายค่าเสียหายดังกล่าว

วันที่ 17 สิงหาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดกับนักข่าวว่า การจ่ายค่าเสียหายให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจีดังกล่าว เป็นบทเรียน ก็ต้องเสียเงินเพราะเขาฟ้องมานานแล้ว รัฐบาลนี้ก็ต่อรองลดไปเยอะแล้ว ไม่อย่างนั้นจะเสียดอกเบี้ยมากกว่านี้ ตนได้ให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปดูแลจนถึงนาทีสุดท้าย และไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน ตัวแทนชาวบ้านจากพื้นที่คลองด่าน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดค้านการจ่ายค่าเสียหายดังกล่าว และคัดค้านกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเสนอรัฐบาลของบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อให้องค์การจัดการน้ำเสีย รัฐวิสาหกิจของกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นเจ้าภาพในการวางแผนงานศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำ บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่ก่อสร้างไปแล้ว 98 เปอร์เซ็นต์ กลับมาใช้ประโยชน์ หลังรัฐบาลต้องนำเงินภาษีมาจ่ายชดเชยให้เอกชนตามคำสั่งศาลภายในปี 2559

ในช่วงเวลาเดียวกัน มีรายงานว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ข้อสรุปว่าจะจ่ายค่าเสียหายให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด คือในเดือน พฤษภาคม 2559 จ่ายประมาณ 3,000 ล้านบาท และเดือนพฤศจิกายน 2559 จำนวนประมาณ 6,000 ล้านบาท

วันที่ 20 สิงหาคม 2558 นายวิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้นการเจรจากับเอกชนได้มีการลดค่าเสียหายที่ต้องชดใช้ได้จำนวนมาก วันนี้รัฐเสียดอกเบี้ยวันละประมาณ 2 ล้านบาท ยิ่งดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายล่าช้า ก็ยิ่งจะเสียดอกเบี้ยมากขึ้น เพราะเป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ให้รัฐชดใช้ค่าเสียหายภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากยังชำระไม่ได้ก็ต้องชำระดอกเบี้ยในส่วนนี้ทุกวัน แต่บริษัทฯ พร้อมที่จะลดดอกเบี้ยและเงินต้น ตั้งแต่วันที่ศาลตัดสินเป็นที่สิ้นสุด หากรัฐบาลยอมทำตามข้อเรียกร้องของเขา ส่วนค่าเสียหายรัฐบาลจะต้องไปไล่บี้กับข้าราชการกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป

อย่างไรก็ตาม วันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติของบประมาณกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินงบประมาณปี 2559 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำไปชำระหนี้ให้ผู้ร้องตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เป็นจำนวน 4,983,342,383 บาท และเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ จำนวน 31,035,780 เหรียญสหรัฐฯ (หรือ 1,114,966,914.01 ล้านบาท ณ วันที่ 17 พ.ย. 2558) ให้แก่บริษัทผู้ร้อง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 4,424,099,982 บาท และของเงิน 26,434,636 เหรียญสหรัฐฯ นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 และค่าธรรมเนียมแทนผู้เรียกร้องเป็นเงิน 6 ล้านบาทต่อปี โดยให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งในชั้นศาลปกครองชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์ซึ่งชำระไว้เกินให้แก่ผู้คัดค้านเป็นเงิน 5,484,918 บาท รวมแล้วเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 6,170 ล้านบาท

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า โดยความเร่งด่วนของเรื่องนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า จะต้องชำระเงินงวดแรกภายในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ จึงเสนอเรื่องเข้ามาดังกล่าวเข้ามาเพื่อของบกลาง ครม.จึงเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอให้แบ่งจ่าย 3 งวด คือ งวดที่ 1 จ่ายร้อยละ 40 เป็นเงิน 3,174,581,566.04 บาท และเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 21,717,855.40 ดอลลาร์ ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 งวดที่ 2 จ่ายร้อยละ 30 เป็นเงิน 2,380,936,174.53 บาท และเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 16,288,391.55 ดอลลาร์ ภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 และงวดที่ 3 ร้อยละ 30 เป็นเงิน 2,380,936,174.53 บาท และเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 16,288,391.55 ดอลลาร์ ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 ทั้งนี้ การชำระเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ให้คำนวณโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย 7 วัน ก่อนวันที่ทำการชำระ

หากเป็นไปตามที่ พล.ต.สรรเสริญแถลง ก็เท่ากับว่า รัฐบาลต้องจ่ายให้บริษัทผู้ร้องทั้งสิ้น 7,936,453,915.10 บาท และ 54,294,638.50 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1,900 ล้านบาท รวมต้องจ่ายเป็น “ค่าโง่” ให้แก่โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านทั้งสิ้น 9,836 ล้านบาท

แล้วที่นายวิษณุ เครืองาม บอกว่า ต่อรองได้เป็นจำนวนมากนั้น ต่อรองได้เท่าใดกันแน่ นั่นเพราะยอดที่ต้องจ่ายจริงก็ยังคงเกือบๆ 1 หมื่นล้านบาทเหมือนเดิม

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตอีกว่า ทำไมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องเร่งรีบจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวด้วย

วันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ และนางดาวัลย์ จันทรหัสดี อดีตแกนนำประชาชนตำบลคลองด่าน ได้ร่วมแถลงข่าวคัดค้านการจ่ายเงินให้เอกชนในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เนื่องจากคดีที่กรมควบคุมมลพิษได้ฟ้องคดีบริษัทเอกชน 19 รายในโครงการนี้ยังไม่สิ้นสุด ยังอยู่ที่ศาลฎีกา ดังนั้น รัฐบาลควรรอให้ศาลตัดสินก่อน คาดว่าประมาณปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559

การจ่ายเงินไปก่อน โดยที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินให้คดีสิ้นสุดนั้น หากมีผู้ฟ้องร้อง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมด เพราะเป็นการบริหารงานหละหลวมเหมือนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในโครงการรับจำนำข้าว และหากจ่ายเงินออกไปแล้วปรากฏว่าศาลตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษ ชนะคดี จะไม่สามารถทวงเงินคืนได้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อจำนวนเงินดังกล่าว

นางดาวัลย์บอกอีกว่า เกิดคำถามขึ้นว่าทำไมรัฐบาลต้องเร่งรีบจ่ายเงินค่าเสียหาย เพราะรัฐบาลกลัวหรือเอกชนกลัวกรณีโกงสัญญาที่ดินหรือไม่ จึงเกิดการล็อบบี้ หากรัฐจริงจังกับการต่อสู้คดีก็มีแนวโน้มว่าจะชนะ คดีนี้นักการเมืองอาวุโสทุกคนรับรู้ว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่ได้ทำอะไร อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐจะให้องค์กรการจัดการน้ำเสียหรือจังหวัดเป็นผู้ดูแล เพราะโครงการนี้ตั้งในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม หากทุ่มเงิน 300 ล้านบาท เพื่อศึกษาโครงการเห็นว่าไม่มีประโยชน์ เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษาไว้แล้วในปี 2548 ขอยืนยันว่าประชาชนตำบคลองด่านยังคงคัดค้านโครงการนี้

อดีตแกนนำประชาชนตำบลคลองด่านยังเห็นว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจีได้ปกปิดข้อมูลสำคัญอันเป็นเหตุให้กรมควบคุมมลพิษพลาดพลั้งทำสัญญาว่าจ้างให้ดำเนินโครงการจนกลายเป็นความเสียหายบานปลายแก่ประเทศในที่สุด และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสัญญาโครงการนี้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546



กำลังโหลดความคิดเห็น