xs
xsm
sm
md
lg

ระวังโง่ซ้ำ! ครม.บิ๊กตู่ต้องรับผิดชอบหากเร่งจ่าย 9.6 พันล้าน - แกนนำคลองด่านชี้ช่องไม่ต้องจ่ายสักบาท!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ และนางดาวัลย์ จันทรหัสดี อดีตแกนนำประชาชนตำบลคลองด่าน  ได้ร่วมแถลงข่าวคัดค้านกรณีที่รัฐบาลมีมติเห็นชอบเบิกงบประมาณจ่ายให้เอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ตำบลคลองด่าน จังหวัดนนทบุรี มูลค่ากว่า 9.6 พันล้านบาท
แกนนำประชาชนคลองด่านค้านรัฐจ่ายค่าโง่ 9.6 พันล้าน ระวัง! เร่งจ่ายเงิน “ครม.ประยุทธ์” ต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกับคดีจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แนะปรึกษา กก.กฤษฎีกา-รอผลพิจารณาคดีอาญาฉ้อโกงสัญญา ที่ “กรมควบคุมมลพิษ” ฟ้อง 19 เอกชนก่อน เชื่อผลคดีออกมา รัฐไม่ต้องจ่ายแม้แต่บาทเดียว

วันนี้ (19 พ.ย.) มีรายงานจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ นนทบุรี ว่า นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ และนางดาวัลย์ จันทรหัสดี อดีตแกนนำประชาชนตำบลคลองด่าน ได้ร่วมแถลงข่าวคัดค้านกรณีที่รัฐบาลมีมติเห็นชอบเบิกงบประมาณจ่ายให้เอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ตำบลคลองด่าน จังหวัดนนทบุรี มูลค่ากว่า 9.6 พันล้านบาท

ตามที่รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 58 เห็นชอบให้สำนักงบประมาณเบิกจ่ายงบประมาณรวมเป็นเงินกว่า 9.6 พันล้านบาท เพื่อชำระค่าเสียหายแก่บริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียตำบล คลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยจะแบ่งการชำระเงินออกเป็น 3 งวด คือ งวดแรกภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 ชำระ 40% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงินกว่า 3,174 ล้านบาท และอีกกว่า 21.71 ล้านเหรียญสหรัฐ งวดที่ 2 ภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ชำระ 30% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงิน 2,380 ล้านบาท และอีกกว่า 16.88 ล้านเหรียญ และงวดที่ 3 ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 ชำระ 30% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงิน 2,380 ล้านบาท และอีกกว่า 16.88 ล้านเหรียญนั้น

นางเพ็ญโฉมระบุว่า เนื่องจากการต่อสู้คดีโครงการดังกล่าวกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นผู้ฟ้องคดีบริษัทเอกชน 19 ราย ยังไม่สิ้นสุดยังอยู่ที่ศาลฎีกา ดังนั้น รัฐบาลควรรอให้ศาลได้ตัดสินให้แล้วเสร็จก่อน คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 ดังนั้น การจ่ายเงินไปก่อน โดยที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินนั้นหากมีผู้ฟ้องร้อง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมด เพราะเป็นการบริหารงานหละหลวมเหมือนสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในโครงการรับจำนำข้าว และเมื่อจ่ายเงินออกไปแล้วปรากฏว่าศาลตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ชนะคดี รัฐจะไม่สามารถทวงเงินที่ให้ไปคืนได้ ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่แน่ใจว่าศาลจะตัดสินอย่างไร ตนแนะนำให้ปรึกษากับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้วิเคราะห์แง่มุมทางกฎหมายเพื่อประกอบการตัดสินใจ

“หากรัฐบาลผลีผลามจ่ายเงินค่าเสียหายแก่เอกชนตามคำตัดสินของสถาบันอนุญาโตตุลาการ และการชี้ของศาลปกครอง โดยไม่รอฟังผลการพิจารณาของศาลฎีกา รัฐบาลจะไม่สามารถทวงเงินที่จ่ายให้เอกชนคืนสู่รัฐได้อีกเลย เมื่อเป็นเช่นนั้น หากในอนาคตมีผู้ฟ้องร้องว่ารัฐบาลหละหลวมในการดำเนินการเรื่องนี้จนเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียหาย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อจำนวนเงินดังกล่าว”

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเพื่อปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ในส่วนของโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านนั้นเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่ปี 2537 เป็นโอกาสสำคัญของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะยับยั้ง ทบทวน และชะลอไม่ให้โครงการเป็นที่หากินของใครได้อีก ถ้ารัฐบาลตัดสินใจผิดก็ต้องผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว มติ ครม.สามารถยับยั้ง เปลี่ยน และชะลอได้

“เนื้อที่บริเวณโครงการดังกล่าวเป็นแหล่งกำเนิดและอนุบาลหอยแต่ละชนิด และเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ แต่ผ่านมาแล้ว 18 ปี รัฐบาลไม่เคยคำนวณความเสียหายว่ามีมูลค่าเท่าใดและไม่เคยต่อสู้คดีอย่างจริงจัง” ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าว

ด้านนางดาวัลย์กล่าวว่า เกิดการคำถามขึ้นมาเมื่อ ครม.มีมติให้เบิกจ่ายงบประมาณแก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ว่า ทำไมรัฐบาลต้องเร่งรีบจ่ายเงินค่าเสียหาย เพราะรัฐบาลกลัวหรือเอกชนกลัว กรณีโกงสัญญาที่ดินหรือไม่ จึงเกิดการล็อบบี้ หากรัฐจริงจังกับการต่อสู้คดีก็มีแนวโน้มว่าจะชนะ

“คดีนี้นักการเมืองอาวุโสทุกคนรับรู้ว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่ได้ทำอะไร อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐจะโยนให้องค์กรการจัดการน้ำเสียหรือจังหวัดเป็นผู้ดูแล เพราะโครงการนี้ตั้งในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เครื่องบำบัดนำเสียน้ำที่นำมาใช้ก็ใช้ไม่ได้ หากทุ่มเงิน 300 ล้านบาท เพื่อศึกษาโครงการเห็นว่าไม่มีประโยชน์ เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษาไว้แล้วในปี 2548 ขอยืนยันว่าประชาชนตำบคลองด่านยังคงคัดค้านโครงการนี้”

มีรายงานว่าการแถลงครั้งนี้ อดีตแกนนำประชาชนตำบลคลองด่านเห็นว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ได้ปกปิดข้อมูลสำคัญอันเป็นเหตุให้กรมควบคุมมลพิษพลาดพลั้งทำสัญญาว่าจ้างให้ดำเนินโครงการจนกลายเป็นความเสียหายบานปลายแก่ประเทศในที่สุด และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสัญญาโครงการนี้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546

อนึ่ง การยุติโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียตำบลคลองด่าน ยังคงมีข้อมูลและข้อเท็จจริงจำนวนมากที่รัฐบาลควรใคร่ครวญไตร่ตรองให้ละเอียด ก่อนจะตัดสินใจจ่ายเงินให้แก่บริษัทเอกชน


กำลังโหลดความคิดเห็น