ย้อนรอย...โครงการ “บ่อบำบัดน้ำเสีย คลองด่าน” มูลค่ากว่า 23,700 ล้านบาท ที่มี “นายวัฒนา อัศวเหม” รมช.กระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ตกเป็นจำเลยในคดี โครงการนี้ได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2538 ต่อมา นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะนั้นที่มีการเซ็นสัญญาโครงการบำบัดนำเสียกับผู้รับเหมา ในเดือนสิงหาคม 2540 แต่ชาวบ้านในพื้นที่ตั้งโครงการเพิ่งรู้เมื่อปี 2542 จึงเคลื่อนไหวคัดค้าน
จากนั้นขยายไปสู่การตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน โดยอนุกรรมการไต่สวนการทุจริตที่ดินในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย คลองด่าน ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดมีชื่อนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะเป็นผู้อนุมัติ 3 คน ได้แก่ นายยิ่งพันธ์ (เสียชีวิต) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีต รมช.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ถูกกล่าวหาว่าซื้อที่ดินแล้วนำมาขายต่อให้โครงการสมัยที่ดำรงตำแหน่ง
เดือนมิถุนายน 2550 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายวัฒนาส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุว่า ใช้อำนาจหน้าที่ขณะเป็น รมช.มหาดไทย บังคับข่มขืนใจ หรือจูงใจให้ราษฎรขายที่ดินให้และบีบบังคับเจ้าหน้าที่ที่ดินออกโฉนดจำนวน 17 แปลง รวมพื้นที่ 1,900 ไร่ เพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ
โดยที่ดินดังกล่าวเป็นป่าชายเลนและที่เทขยะมูลฝอย เป็นที่สงวนหวงห้าม มีการซื้อขายจากชาวบ้านเปลี่ยนมือกันมาแล้วหลายทอด ต่อมาบริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ ที่มีนายสมลักษณ์ อัศวเหม และนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ ร่วมเป็นกรรมการก็เข้ามาซื้อต่ออีกทอดหนึ่ง โดยรวบรวมที่ดินของบริษัท แร่ลานทอง ของนายวัฒนา นายสมพร อัศวเหม และนายมั่น พัธโนทัย และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าไว้ด้วยกัน ก่อนที่ดินผืนนี้จะถูกนำไปจำนองกับธนาคารไทยพาณิชย์ และตกถึงมือบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ ที่ซื้อไว้ในราคา 563 ล้านบาท
สุดท้ายที่ดินทั้งหมด กรมควบคุมมลพิษเข้าไปซื้อในราคา 1,900 ล้านบาท
13 พฤศจิกายน 2550 ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีทุจริตที่ดินคลองด่าน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์นัดพิจารณาครั้งแรก ในคดีที่นายวัฒนามีความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 33 และ 84 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 2 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000-40,000 บาท หรือประหารชีวิต
12 กุมภาพันธ์ 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดสืบพยานโจทก์นัดแรก และสืบพยานจำเลยวันที่ 28 มีนาคม 2551
17 เมษายน 2551 ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยครั้งสุดท้าย นายวัฒนาเดินทางมาร่วมการพิจารณาคดีเป็นครั้งแรก หลังจากขอเลื่อนเข้าไต่สวนมาแล้ว 4 ครั้ง ด้วยข้ออ้างป่วย มีอาการสับสนเฉียบพลัน หลงลืม สูญเสียความทรงจำชั่วคราว เนื่องจากอาการโรคเส้นเลือดอุดตันที่ก้านสมอง
นายวัฒนาให้สัมภาษณ์ว่า ืถูกอดีตรัฐบาลกลั่นแกล้งเพื่อบีบบังคับให้เข้าสังกัดพรรคการเมือง เช่นเดียวกับนายประชา โพธิพิพิธ (กำนันเซี้ย) อดีต ส.ส.กาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกเล่นงานคดีฮั้วประมูล และนายสมชาย คุณปลื้ม (กำนันเป๊าะ) อดีตนายกเทศมนตรี จำเลยคดีทุจริตซื้อที่ดิน ต.เขาไม้แก้ว จ.ชลบุรี ที่ทุกวันนี้หลบหนีคดีหลังศาลพิพากษาให้จำคุก
8 พฤษภาคม 2551 นายวัฒนา เบิกความต่อศาลยืนยันความบริสุทธิ์ หากทำผิดจริงให้ลงโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นโทษสูงสุด และยืนยันด้วยว่าในวันพิพากษาจะมาฟังแน่นอน ไม่หลบหนีไปไหนเพราะไม่ได้ทำอะไรผิด
18 สิงหาคม 2551 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดย ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ผู้พิพากษาอาวุโส เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะ 9 คน ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับคลองสาธารณประโยชน์และที่เทขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้าม นำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ เพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยการอ่านคำพิพากษาครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
ศาลฎีกาฯ มีมติ 8 ต่อ 1 เห็นว่า จำเลยได้ใช้อำนาจข่มขืนใจหรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ในนามบริษัท ปาล์มบีช ดิเวลล็อปเม้นท์ จำกัด โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำเลยหลบหนีไม่มาปรากฏตัวต่อศาล ศาลได้สั่งออกหมายจับจำเลย เพื่อมารับโทษตามคำพิพากษาต่อไป ภายในอายุความ 15 ปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยหลบหนี