xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 2-8 ส.ค.2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.ศาลฎีกา พิพากษายืนจำคุก “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์” 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีทุจริตเลือกตั้ง สท.ปากน้ำ!
นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) สมุทรปราการ
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นโจทก์ฟ้องนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อายุ 46 ปี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) สมุทรปราการ และนายปิติชาติ ไตรสุรัตน์ อดีตรองนายก อบจ.สมุทรปราการ เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำโดยเจตนา ขัดขวาง ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และปลอมแปลงเอกสารของทางราชการ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 161, 264, 265, 268, 83, 90, 91 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 มาตรา 4, 17, 29, 50, 60 พร้อมขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยคนละ 4 ปี

สำหรับคดีนี้ เกิดขึ้นหลังจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2542 ซึ่งมีผู้สมัคร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มปากน้ำ 2000 ของนายชนม์สวัสดิ์ และกลุ่มเมืองสมุทร ของนายประสันต์ ศีลพิพัฒน์ ซึ่งได้มีการจับภาพชายลึกลับกำลังนำบัตรเลือกตั้งผีมาใส่ในหีบบัตร ต่อมา นายประสันต์ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สภ.เมืองสมุทรปราการ กล่าวหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง กระทั่งเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2545 อัยการจังหวัดสมุทรปราการได้ยื่นฟ้องนายชนม์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มปากน้ำ 2000 และผู้สมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ เป็นจำเลยที่ 1 และนายปิติชาติ ซึ่งเป็นปลัดเทศบาลนครสมุทรปราการในขณะนั้น เป็นจำเลยที่ 2

โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 4 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และพิพาพากษาจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 6 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ทั้งนี้ ศาลให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งสองเป็นเวลา 4 ปีด้วย

ด้านจำเลยทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์และขอประกันตัวเพื่อสู้คดี ต่อมา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2549 ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 มาตรา 60 ซึ่งเป็นกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด โดยจำคุก 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 และ 86 และ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 มาตรา 60 ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบทเช่นกัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด จำคุก 4 ปี แต่ในทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 4 คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 3 ปี และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยทั้งสองเป็นเวลา 4 ปี

ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาและขอประกันตัวเพื่อสู้คดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ ศาสมุทรปราการได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาไป 4 ครั้งแล้ว แต่จำเลยที่ 1 และ 2 ต่างผลัดกันขอเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไป กระทั่งครั้งหลังสุด นายชนม์สวัสดิ์ จำเลยที่ 1 เดินทางมาศาล แต่นายปิติชาติ จำเลยที่ 2 ไม่เดินทางมา ศาลจึงมีคำสั่งออกหมายจับ พร้อมนัดอ่านคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 4 ส.ค. ซึ่งเมื่อถึงกำหนด จำเลยที่ 1 ได้เดินทางมาศาลพร้อมทนายความ ขณะที่จำเลยที่ 2 ยังไม่สามารถตามจับตัวได้ ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยที่ 2

โดยศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดจริงตามฟ้อง จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำคุกจำเลยทั้งสอง โดยไม่รอการลงโทษ ทั้งนี้ หลังศาลอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คุมตัวนายชนม์สวัสดิ์ จำเลยที่ 1 ไปยังเรือนจำกลางสมุทรปราการ เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาทันที

อนึ่ง นายชนม์สวัสดิ์ เป็นบุตรคนเล็กของนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและประธานพรรคเพื่อแผ่นดิน ซึ่งเป็นจำเลยที่หนีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษาเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2551 ให้จำคุกนายวัฒนาเป็นเวลา 10 ปี คดีทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ขณะที่นายชนม์สวัสดิ์เอง ก่อนหน้าฟังคำพิพากษาศาลฎีกา มีตำแหน่งเป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ แต่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2558 ให้ข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่นรวม 71 คน ระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบหลังถูกร้องเรียน ซึ่งนายชนม์สวัสดิ์ เป็น 1 ใน 71 คนดังกล่าว

2.“บิ๊กตู่” ให้ “นพ.ณรงค์” กลับ สธ.แล้วภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ - “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ” ประทานแจกันดอกไม้ให้กำลังใจ นพ.ณรงค์!

(บน) ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประทานแจกันดอกไม้แก่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ในโอกาสกลับเข้าทำงานที่ สธ. (ล่าง) ข้าราชการและบุคลากรด้าน สธ.ดีใจ นพ.ณรงค์ กลับเข้าทำงานอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ลงนามคำสั่งเรื่อง ให้ข้าราชการกลับไปปฏิบัติงานที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยระบุว่า ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2558 ให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากอยู่ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งนายกฯ บัดนี้ การสอบสวนยุติแล้ว จึงให้ยกเลิกคำสั่งนายกฯ และให้ นพ.ณรงค์ กลับไปปฏิบัติราชการกระทรวงสาธารณสุข

ด้านนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามคำสั่งให้ นพ.ณรงค์ กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุขเหมือนเดิมก่อนจะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.นี้ แต่มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1.จะไม่มีการโยกย้ายข้าราชการในกระทรวง เพราะอาจทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก 2.นพ.ณรงค์จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) อีกต่อไป และ 3.จะต้องดำเนินนโยบายตาม นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหากไม่เป็นไปตามนโยบาย ทางคณะกรรมการจะพิจารณาโยกย้ายอีกครั้ง

ทั้งนี้ ได้เกิดกระแสทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่ นพ.ณรงค์ จะกลับไปทำงานที่กระทรวงสาธารณสุข ที่เห็นด้วย ได้แก่ นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป และผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณนายกฯ และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่ให้ความเป็นธรรมกับ นพ.ณรงค์ และว่า เรื่องนี้จะเป็นกำลังใจให้คนที่มุ่งสร้างประโยชน์แก่ประเทศได้

ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยที่ นพ.ณรงค์ กลับไปทำงานที่กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จ.นครราชสีมา และกรรมการแพทย์ชนบท โดยกล่าวว่า ต้องตั้งคำถามถึงผลสอบก่อนหน้านี้ที่ชมรมแพทย์ชนบทได้ร้องเรียน นพ.ณรงค์ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีข้อมูลว่า นพ.ณรงค์สมัยเป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิตอาจปฏิบัติขัดต่อระเบียบข้าราชการ โดยรับเงินค่ารถประจำตำแหน่งปีละกว่า 3 แสนบาท แต่ยังใช้อำนาจสั่งการใช้รถยนต์ราชการอีก ซึ่งต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และทราบว่าขณะนี้ผลสอบออกมาแล้ว จึงอยากให้มีการเผยผลสอบนี้ด้วย ซึ่งต้องตั้งคำถามไปยังนายกฯ ว่า หาก นพ.ณรงค์มีความผิดจริง การให้ นพ.ณรงค์ กลับไปทำงานที่กระทรวงสาธารณสุขแบบนี้เหมาะสมหรือไม่

เป็นที่น่าสังเกตว่า นพ.ณรงค์ ถูกย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ และถูกตั้งคณะกรรมการสอบ หลังจาก นพ.ณรงค์ ออกมาเปิดเผยว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มีการใช้งบไม่ถูกต้อง โดยมีการนำงบไปให้มูลนิธิต่างๆ ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล จึงอยากให้มีการตรวจสอบ แต่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน สปสช.ได้ออกมายืนยันว่าการใช้งบของ สปสช.ไม่มีปัญหาดังกล่าว ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า การออกมาเปิดเผยเรื่องการใช้งบ สปสช.อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ นพ.ณรงค์ ถูกโยกย้ายก็เป็นได้ โดยอ้างว่า นพ.ณรงค์ ไม่สนองนโยบายรัฐบาลและรัฐมนตรี

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงการลงนามคำสั่งให้ นพ.ณรงค์ กลับไปปฏิบัติราชการที่กระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งว่า เพราะการสอบสวนยังไม่ชัดเจน เคยบอกแล้วว่า หากไม่ชัดเจนในเรื่องความผิดต่างๆ จะให้กลับไปทำงาน ถือว่าให้เกียรติกัน เป็นระดับผู้ใหญ่แล้ว ทั้ง รมว.สาธารณสุข ก็เป็นผู้ใหญ่ด้วย คงเข้าใจกัน ถ้าเกี่ยวข้องกับการทุจริต ทาง ป.ป.ช.ก็สอบอยู่ ไม่ว่าจะเรื่อง สปสช.หรือเรื่องที่มีข่าวก็สอบทั้งหมด

หลัง นายกฯ มีคำสั่งให้ นพ.ณรงค์ กลับไปปฏิบัติราชการที่กระทรวงสาธารณสุขตามเดิม ปรากฏว่า นพ.ณรงค์ ได้เดินทางเข้าทำงานที่กระทรวงเมื่อวันที่ 5 ส.ค. โดยมีบุคลากรด้านสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่กรมต่างๆ กว่าร้อยคนรอต้อนรับและมอบดอกไม้ให้ นพ.ณรงค์ พร้อมชูป้าย “ขอบพระคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่คืนความสุขให้ชาวกระทรวงสาธารณสุข”

ด้าน นพ.ณรงค์ ได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีเช่นกันที่คืนศักดิ์ศรีให้ข้าราชการ และว่า ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่หมายถึงข้าราชการทุกคน ด้านผู้สื่อข่าวได้ถามถึงการกลับมาโดยมีเงื่อนไข 3 ข้อ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ที่สำคัญต้องสร้างความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน เน้นความปรองดอง

ขณะที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวหลังประชุมผู้บริหารกระทรวงฯ โดยยืนยันว่าไม่หนักใจ สามารถปฏิบัติงานร่วมกับ นพ.ณรงค์ ที่เหลือเวลาทำงาน 2 เดือนก่อนเกษียณอายุราชการได้ และว่า กระทรวงฯ มีแนวทางและเป้าหมายยุทธศาสตร์ให้แต่ละฝ่ายปฏิบัติงานไว้อยู่แล้ว หากดำเนินการตามแผน ไม่น่าจะมีปัญหา

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมจุฑา อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณี นพ.ณรงค์กลับเข้าทำงานในกระทรวงสาธารณสุขภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่ข้าราชการประจำซึ่งรู้เรื่อง รู้ปัญหา ต้องถูกแช่แข็ง ขณะนี้มีปัญหา ผ่านมา 14 เดือนเลวร้ายลงเรื่อยๆ ดังนั้นผู้บริหารระดับสูงต้องประเมินว่าทำงานได้อย่างที่ตั้งใจจะเข้ามาปฏิรูปหรือไม่ หากทำไม่ได้ควรจะถอนตัว เชื่อว่าจะสง่างามกว่า

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้ประทานแจกันดอกไม้แก่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นการส่วนพระองค์ ในโอกาสที่ นพ.ณรงค์ กลับเข้าทำงานในกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง

3.รัฐได้ข้อสรุป ดึงงบปี ’59 ตัดจากทุกกระทรวงมาจ่ายค่าโง่ “คลองด่าน” ให้เอกชน 9,000 ล้าน แบ่งจ่าย 2 งวดปีหน้า!

(ซ้าย) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. (ขวา) โครงการบ่อบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เผยถึงความคืบหน้าการจ่ายค่าเสียหายโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ตามคำสั่งศาลปกครอง ที่กรมควบคุมมลพิษต้องจ่ายให้เอกชนผู้รับเหมากลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ว่า เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ยอมหยุดคิดดอกเบี้ยรายวัน 1.8 ล้านบาท นับจากวันที่ 29 พ.ย.2557 ที่ศาลปกครองมีคำสั่ง ถึงปัจจุบัน 2.เงินที่จะต้องชำระจริง 9,000 ล้านบาท จะแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด คือ งวดแรกเดือน พ.ค.2559 จำนวน 3,000 ล้านบาท งวดที่สอง เดือน พ.ย. 2559 จำนวน 3,000 ล้านบาท และงวดที่สาม เดือน พ.ค.2560 อีกจำนวน 3,000 ล้านบาท

แต่ทางกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ โต้แย้งว่า การจ่ายเงินงวดสุดท้ายเลยปีงบประมาณไปแล้ว ดังนั้นจะขอคิดดอกเบี้ยตามปกติ กระทรวงฯ จึงได้ปรึกษาสำนักงบประมาณ ซึ่งสำนักงบฯ ให้เจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ให้ลดเหลือ 2 งวด เพื่อไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ในที่สุด จึงได้ข้อสรุปว่า รัฐจะชำระเงินให้โดยแบ่งเป็น 2 งวด คือ เดือน พ.ค.2559 จำนวน 3,000 ล้านบาท และเดือน พ.ย.2559 อีก 6,000 ล้านบาท

นายเกษมสันต์ เผยด้วยว่า ทส.ได้ทำเรื่องแปรญัตติไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อขอเงินจากงบกลาง 9,000 ล้านบาท มาจ่ายกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะนำเงินส่วนไหนมาจ่าย นายเกษมสันต์ กล่าวว่า เป็นการนำเงินจากทุกส่วนราชการในทุกกระทรวงร้อยละ 2-10 มาสมทบ ซึ่งแต่ละส่วนราชการสามารถต่อรองได้ตามความจำเป็น เมื่อได้ข้อสรุปชัดเจน จะเสนอนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีคลองด่าน เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ด้านนายมัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวถึงการจ่ายค่าเสียหายกรณีคลองด่านว่า ได้มีการขอแปรญัตติในงบประมาณปี 2559 โดยดึงงบจากโครงการที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละกระทรวง ทราบว่าได้เงินครบจำนวนแล้ว

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ่ายค่าเสียหายให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ 9,618 ล้านบาทว่า เป็นบทเรียน ก็ต้องเสียเงินเพราะเขาฟ้องมานานแล้ว รัฐบาลนี้ได้ต่อรองลดไปเยอะ ไม่อย่างนั้นดอกเบี้ยมากกว่านี้ ตนได้ให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปดูแลจนถึงนาทีสุดท้าย เสียดายไหม แทนที่จะใช้ประโยชน์ได้ ตอนนี้ก็พังหมดแล้ว ถ้าจะเอาไปใช้ประโยชน์ไม่รู้ว่าจะเสียเงินอีกเท่าไหร่ คุ้มค่าหรือไม่ก็ไม่รู้

สำหรับกลุ่มบริษัทร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจีที่รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายให้ 9,000 ล้าน ประกอบด้วย บริษัทผู้รับเหมา 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท นอร์ธเวส วอเตอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (จากประเทศอังกฤษ ซึ่งมีข่าวว่าได้ถอนตัวก่อนเซ็นสัญญา), บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด (ของนายพิษณุ ชวนะนันท์), บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด (ของตระกูลลิปตพัลลภ), บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด (ผู้ก่อตั้งคือ นายบรรหาร ศิลปอาชา ต่อมาเป็นของนายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล ซึ่งแนบแน่นกับนายบรรหาร), บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด (บริษัทในเครือของบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง), บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด (บริษัทในเครือบริษัท คลองด่าน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด มีนายวัฒนา อัศวเหม เป็นผู้ถือหุ้น)

4.ภาษีมรดก ประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว มีผล 6 เดือนข้างหน้า “ขุนคลัง” เผย ภาษีเกิน 100 ล้าน ผ่อนชำระได้ 5 ปี หากหลีกเลี่ยง เจอโทษหนัก!

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษี เมื่อได้รับมรดกไม่ว่าจะได้รับมาครั้งเดียว หรือหลายครั้ง หากได้รับจากเจ้าของมรดกแต่ละรายรวมกันแล้วมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท จะเสียภาษีร้อยละ 10 ของมูลค่ามรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท แต่หากผู้ได้รับมรดกเป็นบิดา มารดา หรือลูกหลานผู้สืบสันดาน จะเสียภาษีร้อยละ 5 ของมูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี โดยต้องยื่นแบบการเสียภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับมรดกเกิน 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเสียภาษีมรดกสามารถผ่อนชำระภาษีได้ภายในไม่เกิน 5 ปี หากไม่ยื่นแบบเสียภาษีภายในกำหนด เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีภายใน 10 ปี โดยต้องจ่ายเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ หากยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ครบถ้วน หรือไม่ตรงกับความเป็นจริง ต้องเสียเบี้ยปรับอีก 0.5 เท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียเพิ่ม นอกจากนี้ ยังเปิดให้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ชำระภาษีทั้งหมด หากไม่เห็นด้วยกับผลการประเมินภาษี มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายใน 30 วัน

สำหรับทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดก ประกอบด้วย 1.อสังหาริมทรัพย์ 2.หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3.เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนจากสถาบันการเงิน หรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ 4.ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน 5.ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา

ส่วนบุคคลที่ได้รับการยกเว้นภาษี ได้แก่ 1.ผู้ได้รับมรดกจากเจ้าของมรดกที่เสียชีวิตก่อนวันที่กฎหมายใช้บังคับ 2.คู่สมรสของเจ้าของมรดก 3.บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนา หรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา การศึกษา หรือสาธารณประโยชน์ 4.หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา การศึกษา หรือสาธารณประโยชน์ 5.บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ ส่วนกรณีที่ผู้ได้รับมรดกเป็นนิติบุคคล ต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว

สำหรับบทลงโทษกรณีไม่ยื่นแบบเสียภาษีมรดกโดยไม่มีเหตุอันควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท หากไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำลาย ย้ายทรัพย์สิน ซ่อนเร้น หรือโอนทรัพย์สินที่ถูกยึด หรืออายัดไปให้บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท หากจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558 บังคับใช้สำหรับการให้ทรัพย์สินในช่วงที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งหากได้รับเงินจากการอุปการะ หรือการให้โดยเสน่หาจากบิดา มารดา บุตรหลาน หรือคู่สมรส วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท ต้องเสียภาษีร้อยละ 5 ส่วนการได้รับเพื่ออุปการะ หรือให้โดยเสน่หา จากบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท ต้องเสียภาษีร้อยละ 5

5.ตำรวจกองปราบฯ พบมีผู้ใช้วิธีฉ้อฉลโอนหุ้น “ชูวงษ์” เตรียมออกหมายจับเร็วๆ นี้ ด้าน “สมยศ” ยัน ไม่ปกป้อง “บรรยิน”!

(ซ้าย) พี่สาวและลูกชายนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง พร้อมทนายแถลงยืนยันชูวงษ์คาดเข็มขัดนิรภัย (ขวา) พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ (ล่าง) ตำรวจกองปราบฯ นำหมายค้นเข้าตรวจสอบเอกสารการโอนหุ้นของนายชูวงษ์ที่ บล.เออีซี
ความคืบหน้ากรณีนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง อายุ 50 ปี นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหมื่นล้านและประธานกลุ่มวิทยาตลาดทุน กิจการเพื่อสังคม(วตท.) รุ่นที่ 20 เสียชีวิตขณะนั่งรถยนต์ ที่มี พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ซึ่งเคยสังกัดพรรคไทยรักไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคเพื่อไทย รวมทั้งเคยเข้าร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เมื่อปี 2553) เป็นคนขับรถยนต์ยี่ห้อเลกซัส เพื่อไปส่งนายชูวงษ์กลับบ้านพัก หลังตีกอล์ฟด้วยกันที่สนามกอล์ฟเลควูดคันทรี่คลับ ย่านบางนา ไม่ไกลจากบ้านพัก เมื่อคืนวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยพ.ต.ท.บรรยิน อ้างว่า รถเสียหลักไปชนต้นไม้หลังมีรถขับตัดหน้า ซึ่ง พ.ต.ท.บรรยิน เล่าว่า หลังเกิดเหตุตนสลบ ขณะที่นายชูวงษ์เสียชีวิต ในสภาพที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งครอบครัวและญาติได้ร้องต่อ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้รื้อคดี เนื่องจากยังติดใจการเสียชีวิตของนายชูวงษ์หลายประเด็น รวมทั้งกรณีที่มีการพบว่า นายชูวงษ์โอนหุ้นให้ 2 สาว คือ น.ส.กัญฐนา ศิวาธนพล พริตตี้ กว่า 228 ล้านบาท ซึ่ง น.ส.กัญฐนา อ้างว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนายชูวงษ์และกำลังตั้งครรภ์ 7 เดือน และโอนหุ้นให้ น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล พริตตี้และเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด 40 ล้านบาท โดยตำรวจ สน.อุดมสุข รับผิดชอบสอบสวนการเสียชีวิตของนายชูวงษ์ว่าเป็นอุบัติเหตุจริงหรือไม่ ขณะที่ตำรวจกองปราบปรามรับผิดชอบสอบสวนเรื่องการโอนหุ้น

ซึ่งเบื้องต้นทางตำรวจ สน.อุดมสุข ให้น้ำหนักไปที่เรื่องอุบัติเหตุ แต่มีหลายประเด็นยังหาคำตอบไม่ได้ จึงต้องสอบเพิ่มเติม ขณะที่ตำรวจกองปราบฯ เริ่มพบความผิดปกติของการโอนหุ้นให้ 2 สาว โดยรายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบพบว่า แม้ลายเซ็นในใบโอนหุ้นจะเป็นของนายชูวงษ์จริง แต่กลับมีร่องรอยการแก้ไขหลายจุด เช่น แก้ไขจุดประสงค์การโอนหุ้น จากการจำนำหุ้นเป็นการโอนหุ้น โดยการแก้ไขไม่ได้ใช้ลิควิดหรือยางลบในการลบหมึกและตัวอักษร แต่ใช้น้ำยาพิเศษ ทำให้ดูแนบเนียน หากมองด้วยตาเปล่าจะไม่รู้ว่ามีการแก้ไข นอกจากนี้ยังพบว่า คลิปเสียงที่อ้างว่า นายชูวงษ์ เป็นคนยืนยันการโอนหุ้น กลับพบว่าไม่ใช่เสียงนายชูวงษ์แต่อย่างใด ไม่เท่านั้น ทีมสืบสวนยังพบข้อมูลว่า พ.ต.ท.บรรยิน รู้จักสนิทสนมและติดต่อพูดคุยกับ น.ส.กัญฐนา และ น.ส.อุรชา บ่อยครั้ง ต่างกับนายชูวงษ์ ที่ไม่พบความเชื่อมโยงใดๆ และยังพบข้อมูลสำคัญด้วยว่า ระหว่างที่นายชูวงษ์มีชีวิตและเรียนหลักสูตร วตท.รุ่นที่ 20 ได้เดินทางไปดูงานต่างประเทศ โดยพบว่า นายชูวงษ์เดินทางไปกับภรรยาและลูกสาว แต่ พ.ต.ท.บรรยิน เดินทางไปกับหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่ง น.ส.วันเพ็ญ ธนธรรมศิริ พี่สาวนายชูวงษ์ เคยให้การว่า นายชูวงษ์เดินทางไปต่างประเทศกับภรรยาและลูกสาวจริง ส่วน พ.ต.ท.บรรยิน เดินทางไปกับใครนั้น ไปถามเพื่อนที่เรียน วตท.ก็จะทราบข้อมูล

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เรียกประชุมตำรวจทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับคดีนายชูวงษ์ เพื่อติดตามความคืบหน้าของคดี หลังประชุม พล.ต.อ.สมยศ เผยว่า ยังมีประเด็นที่ สน.อุดมสุข ยังต้องสอบสวนหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม จึงยังไม่สามารถสรุปได้ ส่วนกองปราบปรามพบความผิดปกติในการโอนหุ้น ซึ่งเชื่อว่าพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนมีอยู่จะขออนุมัติศาลออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ส่วนจะมีใครบ้าง และมีจำนวนกี่คน ไม่สามารถเปิดเผยได้ และว่า ผู้ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องใช้กลอุบายฉ้อฉล หรือวิธีการที่ไม่ถูกต้องโอนหุ้นไปโดยไม่ถูกต้อง ส่วนประเด็นการโอนหุ้นที่ผิดปกตินำมาสู่การเสียชีวิตหรือเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของนายชูวงษ์หรือไม่นั้น พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ตำรวจจะใช้ความรู้สึกหรือความเชื่อไม่ได้

พล.ต.อ.สมยศ ย้ำด้วยว่า “ผมย้ำพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องให้หาพยานหลักฐานให้ชัดเจน ไม่ต้องรีบร้อนสรุปสำนวน จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่ได้ใส่ร้ายป้ายสี จึงค่อยขออนุมัติต่อศาลออกหมายจับ ขอให้ไว้ใจตำรวจว่าเป็นมืออาชีพ ไม่คิดจะช่วยเหลือใคร แม้ พ.ต.ท.บรรยินจะเป็นตำรวจ เราไม่ยอมนำเกียรติยศชื่อเสียงของตำรวจทั้งประเทศไปปกป้องคนคนหนึ่ง มันเป็นไปไม่ได้ แต่หากไม่พบพยานหลักฐานว่าเขาผิด ก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่เขาด้วย อย่าคิดไปเอง ต้องคิดตามหลักฐาน”

ด้าน น.ส.วันเพ็ญ ธนธรรมศิริ พี่สาวนายชูวงษ์ และนายกันต์ แซ่ตั๊ง ลูกชายนายชูวงษ์ พร้อมด้วยนายเอนก คำชุ่ม ทนายความ ได้เปิดแถลงเมื่อวันที่ 3 ส.ค. พร้อมภาพจากกล้องวงจรปิดที่ยืนยันว่า วันที่ พ.ต.ท.บรรยิน มารับนายชูวงษ์ ที่บริษัท เพื่อไปตีกอล์ฟในวันเกิดเหตุ นายชูวงษ์คาดเข็มขัดนิรภัย จึงเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่ก่อนเกิดเหตุ นายชูวงษ์จะไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เพราะนายชูวงษ์เคยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์มา 2 ครั้ง แต่รอดปลอดภัยเพราะคาดเข็มขัดนิรภัย นายชูวงษ์จึงเน้นย้ำกับคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดเสมอว่า ทุกครั้งที่ขึ้นรถต้องคาดเข็มขัดนิรภัย นอกจากนี้ 2 วันต่อมา ครอบครัวนายชูวงษ์ ยังได้ยื่นหนังสือถึงแพทยสภาให้ช่วยตรวจสอบการเสียชีวิตของนายชูวงษ์ เนื่องจากผลตรวจของนิติเวชไม่ได้ชี้ชัดถึงสาเหตุการเสียชีวิต ระบุเพียงว่า ถูกของแข็งกระแทก จึงอยากได้ผลตรวจจากหลายหน่วยงาน

ส่วนความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.บรรยิน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกาเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ให้สอบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้พิพากษาอาวุโสคนหนึ่ง เนื่องจากสงสัยว่าให้คำปรึกษาข้อกฎหมายแก่ครอบครัวของนายชูวงษ์เกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายชูวงษ์ และอยู่เบื้องหลังการขอให้ตำรวจอายัดหุ้นที่นายชูวงษ์โอนให้ น.ส.กัญฐนาและ น.ส.อุรชา ขณะที่ทนายความของ น.ส.กัญฐนา ได้ยื่นหนังสือต่อกองปราบฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.เพื่อขอให้ตำรวจถอนการอายัดหุ้น โดยอ้างว่า การอายัดหุ้นทำให้หุ้นได้รับความเสียหายราคาตกต่ำลงจนขาดทุน 16 ล้านบาทแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยตำรวจกองปราบฯ ได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้นบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด(มหาชน) ที่ตึกแอททินี ทาวเวอร์ ถนนวิทยุ ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการโอนหุ้นของนายชูวงษ์ เพื่อตรวจสอบหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการโอนหุ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัทดังกล่าว จึงต้องขอหมายศาลเข้าตรวจค้น โดยได้นำหลักฐานเอกสาร รวมทั้งคลิปเสียงที่เกี่ยวข้องกับการโอนหุ้นของนายชูวงษ์กลับไปตรวจสอบอีกครั้ง ส่วนการเสียชีวิตของนายชูวงษ์นั้น ตำรวจจะจำลองเหตุการณ์โดยใช้รถรุ่นเดียวกับที่เกิดเหตุ และจะนำหุ่นที่มีเซ็นเซร์อยู่ที่บริเวณศีรษะมาใช้ เพื่อทดสอบหาแรงกระแทกว่าสามารถทำให้เกิดการเสียชีวิตได้หรือไม่

ด้าน พล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี ผู้บังคับการปราบปราม เผยว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนพบว่าการโอนหุ้นมีความผิดปกติ จึงเร่งรวบรวมหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายจับผู้เกี่ยวข้องต่อไป โดยผู้เข้าข่ายจะขออนุมัติหมายจับจากศาลมีมากกว่า 1 คน “กองปราบปรามจะพยายามทำคดีอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้ถูกครหาว่าไปรังแกใคร ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.บรรยินจะฟ้องตำรวจกองปราบปรามที่ไปเอ่ยชื่อเขาว่าจะออกหมายจับนั้น ผมขอยืนยันว่าไม่เคยเอ่ยชื่อท่านเลย”
กำลังโหลดความคิดเห็น