ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สร้างผลงานเข้าตากรรมการทันใจต้องยกนิ้วให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คนล่าสุด พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่เพิ่งสั่งอายัดทรัพย์ 5 คดีดัง “ธัมมชโย” - คลองด่าน - บรรยิน - ทัวร์จีนศูนย์เหรียญ - แก๊งค้ายาเสพติดรายใหญ่ ชนิดที่เรียกว่าพลิกแฟ้มเจองาน “เข้าทางตรีน” ที่หลายฝ่ายบูรณาการร่วมกันทำงานมาก่อนหน้า ก็ตัดสินใจฟันฉับไม่รีรอ ไม่ว่าจะใหญ่มาจากไหน
สไตล์รุกเร็วเช่นนี้ อดีตนายกรัฐมนตรี “หญิงปูคนสวย” และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ มีหนาวจากทุจริตจำนำและระบายข้าวจีทูจีหรือเจี๊ยะทูเจ๊ยะแน่ๆ เพราะหลังจาก “บิ๊กตู่” ออกคำสั่งทางปกครอง ให้ทั้งสองต้องชดใช้ค่าเสียหายจากโครงการดังกล่าว ซึ่งตัวเลขสำหรับนายบุญทรง อยู่ที่หลักสองหมื่นล้าน แต่สำหรับ “หญิงปู” ตัวเลขสุดท้ายตกประมาณสองแสนกว่าล้านนั้น โอกาสที่ ปปง. จะได้ใช้อำนาจอายัดทรัพย์ที่จะนำไปสู่การยึดทรัพย์มาชดใช้คืนหลวง นาทีนี้ต้องบอกว่ามีความเป็นไปได้สูงอย่างยิ่ง เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ตั้งเรื่องแล้ว รอแต่ถึงกำหนดเวลาเท่านั้น
สำหรับการลงดาบอายัดทรัพย์ 5 คดีดัง เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล พร้อมด้วย พล.ต.ต.สมหมาย กองวิสัยสุข รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืช รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ดาวลอย เหมือนเดช ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย สำนักงาน ปปง. ร่วมกันแถลงให้รายละเอียดของคดี
คดีแรก พล.ต.อ.ชัยยะ ระบุว่า ปปง. ได้รับแจ้งจาก บช.ก. ให้ดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ กับพวก ในข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ. การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งทาง ปปง. ตรวจสอบพบว่า มีผู้ต้องหาร่วมกระทำผิดหลายราย จึงดำเนินการอายัดทรัพย์สินในเครือข่าย พ.ต.ท.บรรยิน อาทิ รถยนต์ปอร์เช่ ราคาประมาณ 6 ล้านบาท และ หุ้นบริษัท WIN มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท รวมมูลค่ากว่า 16 ล้านบาท
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันตรวจค้นบ้านของ น.ส.กัญฐณา หรือ “น้ำตาล” ศิวาธนพล และ น.ส.อุรชา หรือ “ป้อนข้าว” วชิรกุลฑล พร้อมยึดอายัดทรัพย์ 3 รายการ ได้แก่ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 3 แปลงของบ้านทั้ง 2 หลัง รวมมูลค่า 15 ล้านบาท โดยรวมมูลค่าการยึดทรัพย์สินยึดและอายัดในคดีนี้ประมาณ 31 ล้านบาท
คดีที่สอง วัดพระธรรมกาย คดีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ดำเนินคดีเกี่ยวกับการฟอกเงินบ้างแล้ว ส่วน ปปง. ได้ดำเนินการทางแพ่งเรื่องการยึดอายัดทรัพย์และดำเนินการไปส่วนหนึ่งเป็นเงินสดกว่า 50 ล้านบาท ใน 4 บัญชี ของเครือข่ายพระธัมมชโย
คดีที่สาม ทัวร์จีนศูนย์เหรียญ (บริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จำกัด) ทาง ปปง. ได้รับการประสานจากตำรวจท่องเที่ยว ในการตรวจสอบบริษัทนำเที่ยวด้อยคุณภาพ สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจประเทศในเขตพื้นที่ จ.ภูเก็ต ต่อมามีการแจ้งข้อหาอั้งยี่ กับผู้กระทำความผิด ตาม พ.ร.บ. การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พร้อมยึดอายัดทรัพย์สินในเครือข่ายของ บริษัท ทรานลี่ กับพวก จำนวน 216 รายการ ได้แก่ รถบัส 116 คัน เรือนำเที่ยว 35 ลำ บัญชีธนาคาร 53 บัญชี ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างใน จ.ภูเก็ต 3 แปลง และ ในพื้นที่ อ.เกาะยาว จ.พังงา 7 แปลง รวมทั้ง รถบัส 1 คัน และเรือนำเที่ยวอีก 1 ลำ โดยรวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 1,200 ล้านบาท
คดีที่สี่ คดีโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน หลังจากสำนักงาน ปปง. ได้รับคำพิพากษาศาลอาญา กรณีอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กับพวก ร่วมกันทุจริตกับกิจการร่วมค้า NVPSKG และเอกชนรายอื่น เอื้อประโยชน์ จนได้สัญญาและค่าก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ทำให้รัฐเสียงบประมาณกว่า 20,000 บาท และต้องจ่ายค่าเสียหายให้ NVPSKG ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด อีก 9,600 ล้านบาท อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ. การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ปปง. ได้ดำเนินการตรวจสอบรายงานธุรกรรมผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีการกระทำผิดจริงและดำเนินการอายัดเงินงวดที่ 2 และ 3 จำนวนงวดละประมาณ 3,200 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 6,400 ล้านบาท
ต่อมา ปปง. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับทาง ดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินกับ 6 บริษัท และ 1 บุคคล ที่ได้รับเงินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในงวดที่ 1 เนื่องจากเป็นเงินที่ได้ไปจากการร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต และได้อายัดเงินในบัญชีของ NVPSKG มูลค่ากว่า 97 ล้านบาท พร้อมดอกผลอีก 8 หมื่นบาท และล่าสุดมีการอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก 3 รายการ ได้แก่ บริษัทเกตเวย์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำนวน 2 รายการ มูลค่า 70 ล้านบาท และ บัญชีบริษัท ประยูรวิศว์ฯ จำนวน 1 รายการ มูลค่า 30 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งหมดกว่า 100 ล้านบาท
“ปปง. ตรวจสอบพบว่า การโอนเงินครั้งที่ 1 ส่งต่อไปยังบุคคลอื่น ๆ อีกกว่า 10 ราย จึงร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีอาญาแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยสรุปคดีนี้มีความเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาท ติดตามมาได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท และเหลืออีกกว่า 25,000 ล้านบาท ที่จะดำเนินการต่อไป” นายวิทยา แถลง
คดีที่ห้า คดีเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่ สืบเนื่องจากตำรวจรถไฟจับกุมผู้ต้องหาพร้อมยาบ้า 156,000 บาท และยาไอซ์ 6 กิโลกรัม ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ก่อนขยายผลจับกุมเครือข่ายได้อีกหลายราย พร้อมยึดเงินที่ผิดกฎหมายกว่า 20 ล้านบาท ต่อมา ปปง. ได้ร้องทุกข์ที่ บก.ป. เพื่อดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินและออกหมายจับ น.ส.อโณทัย ฉัตรวรางค์กุล, นายอุง ทู สัญชาติพม่า, นายอานนท์ โกญจนบุญ และ นางมณีรัตน์ เติมทรัพย์สาร พร้อมตรวจยึดค้นบ้าน 3 หลัง และอายัดทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 230 ล้านบาท ซึ่งยาเสพติดดังกล่าวถูกลำเลียงมาจากเครือข่ายใหญ่ทางภาคเหนือและเกี่ยวข้องกับขบวนค้ายาเสพติดในประเทศเพื่อนบ้าน มีการลำเลียงโดยเน้นผ่านบริษัทขนส่งทั่วประเทศ และพบว่ามีบริษัทขนส่งเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมากมีส่วนรู้เห็น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีกับ 3 บริษัท
นอกเหนือจาก 5 คดีดังข้างต้นแล้ว ยังมีคดีโครงการจำนำและระบายข้าวที่งวดเข้ามาทุกขณะ และเตรียมพร้อมอายัดทรัพย์ผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย โดยค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวนั้น “หม่อมเหลน” ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานตัวเลขความเสียหายจากนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว เรียบร้อยแล้ว
“หม่อมเหลน” พูดชัดว่า ตัวเลขที่ได้รับการยืนยัน พบว่าความเสียหายจากการบริหารจัดการโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ที่ 286,639 ล้านบาท ส่วนของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์และพวก อยู่ที่ 18,743 ล้านบาท สำหรับตัวเลขการระบายข้าวในสต๊อกของฝ่ายบริหารในอดีต มีการรับมอบข้าวเข้ามาจำนวน 13.3 ล้านตัน แต่ส่งออกไปยังต่างประเทศไม่ถึง 1 ล้านตัน คงค้างในคลัง 13 ล้านตัน
นายจริชัย อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า รายงานสถานการณ์เรื่องข้าวแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ความเสียหายในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 2 แสนกว่าล้านบาท ที่เคยให้การต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไป โดยเป็นตัวเลขที่ต้องรอคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน พิจารณาอีกรอบหนึ่ง
ในส่วนของนายบุญทรง ที่เป็นค่าเสียหายจากการขายข้าวแบบจีทูจี จำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท แต่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง พิจารณาแล้วเห็นว่าควรปรับเพิ่มเรียกค่าเสียหายกับผู้ที่เกี่ยวข้องเป็น 2 หมื่นล้านบาท และเรื่องการระบายข้าวในสต๊อกข้าวและข้าวคงเหลือในสต๊อกของรัฐบาลในอดีต โดยทั้งหมดมีการรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) รับทราบ
ล่าสุด ในวันประชุม นบข. ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2559 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมด้วยว่า ตัวเลขความเสียหายที่รายงานมา 2.8 แสนล้าน กับสองหมื่นล้าน เป็นตัวเลขเดิม อาจจะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้อีก ทั้งหมดจึงไม่ใช่แค่สองแสนกว่าล้าน
“..... เรื่องตัวเลขที่มีการพูดมาแล้วนั้นเป็นการพูดสั้นไปนิด นั่นเป็นการสำรวจเมื่อปี 2557 ที่มีการรับบัญชี สำรวจประเมินความเสียหายเท่านั้นอยู่ ซึ่งข้าวที่อยู่ในคลังจะมีความเสียหายมากยิ่งขึ้น จึงคาดการณ์ว่าอาจจะมีความเสียหายมากขึ้นไปกว่านั้นอีก....”
งานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำด้วยว่า “.... ต้องมีคนรับผิดชอบว่าใครเป็นคนทำให้เสียจริงหรือไม่ ทุจริตจริงหรือไม่ก็ไปสู้กันในศาล ผมมีหน้าที่สรุปขึ้นไปให้ได้ และศาลก็ต้องไปสืบต่ออีกเยอะแยะหลายอย่าง”
“บิ๊กตู่” ทำเสียงขึงขังตามสไตล์ คราวนี้กรุสมบัติของตระกูลชินวัตรที่ว่าร่ำรวยล้นฟ้าคงไม่พอชดใช้ค่าเสียหาย แต่ที่หวังผลกันเฉพาะหน้าก็คือ พี่น้องตระกูลชินวัตรจะกระดิกตัวไม่ได้ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ร่างรัฐธรรมนูญฯ ผ่าน-ไม่ผ่านประชามติ
สำหรับค่าเสียหายสองหมื่นล้านที่นายบุญทรงกับพวก ต้องชดใช้นั้น หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งทางปกครองไปแล้ว ขั้นตอนขณะนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำหนังสือแจ้งคำสั่งทางปกครองเสนอต่อนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อลงนามแล้ว
หลังจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ จะส่งหนังสือแจ้งคำสั่งทางปกครองไปให้นายบุญทรงและพวก รวม 6 คน เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือ หากไม่ชำระตามกำหนดจะแจ้งเตือนไปอีกภายใน 15 วัน หากยังไม่ชดใช้ก็จะออกหนังสือแจ้งมาตรการบังคับทางปกครอง ซึ่งต้องหารือกับตัวแทนกรมบังคับคดี คณะกรรมการ ปปง. และคณะกรรมการอัยการ เพื่อพิจารณาว่าจะยึดทรัพย์หรือายัดทรัพย์ได้หรือไม่
สำหรับนักการเมืองและข้าราชการ 6 คนที่จะถูกบังคับทางปกครองชดใช้ค่าเสียหายจากการขายข้าวจีทูจีมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ได้แก่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการพาณิชย์, นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ
เจองานเข้าไปเต็มๆ ก่อนหน้าวันลงเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 และยังมีคิวขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้อีก อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จึงดรามาขอกำลังใจเรียกคะแนนสงสารจากแฟนๆ ตามสไตล์
“...ช่วงนี้เป็นช่วงที่ยากลำบากสำหรับชีวิต บางครั้งทำให้รู้สึกเหนื่อย ท้อ แต่ก็บอกกับตัวเองว่าจะป่วย จะท้อ จะหมดกำลังใจไม่ได้ เพราะยังมีประชาชนอีกมากคอยให้กำลังใจ ทั้งไปพบตามจังหวัดต่าง ๆ หรือมารอพบที่หน้าศาล ฯ แดดร้อน ฝนตก ทุกคนก็ยังรอ ซึ่งดวงตาทุกคู่ที่มองมานั้น มีความหมายมาก จึงบอกตัวเองว่าต้องเข้มแข็งเพื่อพิสูจน์ตัวเอง บางอย่างอาจจะต้องใช้เวลาเพราะทุกอย่างไม่สามารถที่อธิบายหรือทำให้คนเข้าใจได้ในวันเดียว ดังนั้น จึงต้องมีความอดทน และเชื่อว่าทุกอย่างจะผ่านพ้นไปได้ เหลือเวลาอีกเพียงสองวัน จะต้องขึ้นศาล ฯ เพื่อแถลงเปิดคดีและตอบคำถามฝ่ายโจทก์ด้วยตัวเอง ครั้งนี้อยากจะบอกว่าต้องการกำลังใจจากประชาชนและแฟนเพจด้วย” ยิ่งลักษณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Yingluck Shinawatra" เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะคร่ำครวญอย่างไร อีกไม่นานเกินรอ ปปง. ยุค พล.ต.อ.ชัยยะ เตรียมลับดาบจ่อคิวเชือดหญิงปูและนายบุญทรงพร้อมพวก เอาไว้แล้ว