xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จดหมายเป็นหมัน จาก “น้องปู” สาวเครือฟ้า 2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เสียงเว้าวอน ต่อว่าต่อขาน ขอความเป็นธรรมจาก “สาวเครือฟ้า 2558” นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทบทวนการออกคำสั่งทางปกครองซึ่งจะนำไปสู่การยึดทรัพย์เพื่อชดใช้ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว 5 แสนล้าน ถือเป็นกระบวนท่าไม้ตายตามแผน “นารีพิฆาต” ที่คาดหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเพลามือ แต่เชื่อขนมกินได้เลยว่านาทีนี้คงไม่สามารถสั่นคลอนจิตใจของหัวหน้าคสช. ได้แม้แต่น้อย เพราะเงื่อนไขและสภาพการณ์ทุกประการได้แปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว

นั่นเพราะ หนึ่ง ณ วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งในอดีตเคยดูแลใกล้ชิด ร่วมเดินเรียงเคียงคู่นางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกต่อไปแล้ว

สอง พล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนนนิยมและเสียงชื่นชมอย่างท่วมท้นถึงความหาญกล้าท้าชน “นายใหญ่” จากแดนไกลของเหล่าสาวกแดง กรณีใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราว 2557 สั่งถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสถานะเป็นนักโทษหนีคดีอาญา ให้กลายเป็น นายทักษิณ ชินวัตร หลังจากเงื้อค้างกันมานมนาน

สาม พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงมือจัดการขุดรากถอนโคนต้นตอของวิกฤตการเมืองอย่างที่ควรจะต้องทำ นั่นคือ การเอาผิดกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรับจำนำข้าว ที่มีบริวารวงศ์วานว่านเครือพี่น้องในตระกูลชินวัตรเข้าไปเกี่ยวข้อง ที่สุดอื้อฉาว สร้างความเสียหายมโหฬาร โดยอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องคดีอาญานางสาวยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกำลังหาทาง “ยึดทรัพย์” จากการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เอาเงินคืนแผ่นดินในเวลานี้

สี่ สถานะของพล.อ.ประยุทธ์ ณ วันนี้มีความมั่นคงแข็งแกร่งขึ้นมากหากเทียบกับช่วงแรกเริ่มเข้าสู่อำนาจหลังการรัฐประหาร จากความมุ่งมั่นที่จะแก้วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองนำพาประเทศชาติเดินหน้าต่อไปเริ่มเห็นผล ไม่มีเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองจากการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นอีก ทำให้ได้ใจประชาชนที่เบื่อหน่ายกับความไม่สงบจนฉุดรั้งให้ประเทศชาติล้าหลัง ถึงแม้ว่าเป้าหมายการปฏิรูปประเทศไทยโดยรวมจะยังไม่เห็นรูปธรรมความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนก็ตาม

และ ห้า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในสายตาชาวโลกซึ่งหมายรวมถึงประเทศมหาอำนาจทั้งตะวันตกและตะวันออก ทำให้การบริหารประเทศไม่ถูกกดดันจากสากลจนเกินไปนัก แม้ว่าจะมีความพยายามใช้มาตรการทางเศรษฐกิจ เช่น เรื่องการค้ามนุษย์ หรือเรื่องมาตรฐานการบิน มาปิดล้อมประเทศไทย แต่แนวโน้มที่คาดการณ์ว่าหลังจากนี้สถานการณ์จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้การใช้ยุทธวิธีโลกล้อมประเทศไทยที่เป็นงานถนัดของเครือข่ายทักษิณ ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

คำตัดพ้อต่อว่าในจดหมายเปิดผนึกที่ว่า “ดิฉันขอใช้โอกาสนี้ ทำจดหมายเปิดผนึกถึงท่าน เพราะดิฉันไม่มีโอกาสได้พบและติดต่อใดๆ กับท่านมานับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ท่านได้เข้ามาเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลากว่า 1 ปีเศษแล้ว ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ดิฉันได้ถูกดำเนินการในเรื่องต่างๆ ทั้งที่เป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา เกี่ยวกับนโยบายรับจำนำข้าว ....”

ขีดเส้นตรงเนื้อความ “...ไม่มีโอกาสได้พบและติดต่อใดๆ ....” เป็นการบ่งบอกถึงความในใจของนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นอย่างดี แต่ทว่าสารนี้ถูกส่งไปในวันที่ทั้งสองยืนอยู่คนละฟากฝั่ง ลบภาพที่เคยเคียงคู่สู้วิกฤตน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ให้เลือนหายไปเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นและเหมือนคนไม่เคยรู้จักกัน ผิดกับช่วงหลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจใหม่ๆ ที่ “บิ๊กตู่” ยังให้การดูแล “น้องปู” อย่างดี โดยยินยอมให้เดินทางออกนอกประเทศตามคำร้องขอ กระทั่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าหัวหน้า คสช.จะใจอ่อนกับอดีตนายกรัฐมนตรีคนสวยที่สุดในโลกไปถึงไหน

ถ้าหากติดตามการลงมือจัดการกับพี่น้องชินวัตรของ คสช.ทุกจังหวะก้าว จะพบว่า ยิ่งมายิ่งหนักหน่วง อย่างกรณีโครงการรับจำนำข้าว จากที่คาดหมายว่าจะใช้กระบวนการทางศาลฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย ก็รวบรัดให้รวดเร็วชนิดเหนือความคาดหมายโดยอาศัยช่องทางการออกคำสั่งทางปกครองแทน

นี่เป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนอีกครั้งว่า “บิ๊กตู่” เปลี่ยนไปแล้ว ด้วยภาระหน้าที่เพื่อชาติเมื่อเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวมีหลักฐานชัดเจนว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น มีความเสียหายเกิดขึ้น ก็ต้องจัดการขั้นเด็ดขาด จะปล่อยให้คดีขาดอายุความ หรือไว้วางใจให้อัยการหรือทนายแผ่นดินสู้แล้วเสี่ยงพ่ายแพ้อย่างเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายคดีคงไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นเรื่องราวก็จะวนมาเข้าสู่วงจรอุบาทว์เหมือนเดิม

การจัดการขั้นเด็ดขาดด้วยการเลือกใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครอง นับเป็นการแตกหักกับพี่น้องชินวัตร ซึ่งบ่งชี้ว่าหนทางที่พี่น้องชินวัตรจะกลับมาผงาดในแวดวงการเมืองไทยในวันข้างหน้าริบหรี่ลงทุกขณะ

อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณไปถึงบรรดานักการเมืองในสังกัดพรรคเพื่อไทย ที่รอคอยการกลับมาของนายใหญ่ และรอคอยการเลือกตั้งหวนคืนมามีอำนาจในอีกไม่ช้านี้ด้วยว่า พากันตื่นจากความฝันได้แล้ว

โปรดจับตาการก้าวออกจากพรรคเพื่อไทยของสมาชิกพรรคนักการเมืองบางคนเพื่อมาสังฆกรรมกับ คสช. ใช่จะบอกเป็นนัยหรือไม่ว่าการเลือกตั้งคราวหน้า จะยังมีพรรคเพื่อไทยและพี่น้องชินวัตรอยู่ในสาระบบการเมืองไทย หรือไม่?

แต่กว่าจะถึงวันนั้น มาดูการต่อสู้ดิ้นรนของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่เรียกร้องขอความเป็นธรรมจากนายกฯ ประยุทธ์ กันเสียก่อน

สาระสำคัญในจดหมายที่นางสาวยิ่งลักษณ์ โพสต์ขึ้นเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าสำนวนการเขียนเป็นฝีมือของทีมงานด้านกฎหมายของนางสาวยิ่งลักษณ์ มากกว่าจะกลั่นมาจากมันสมองของเธอเองนั้น สรุปความได้ว่า การดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อสภานั้น ทำให้เธอถูกดำเนินการโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ตำแหน่งดังกล่าวไม่มีอยู่และรัฐธรรมนูญได้สิ้นสุดลงแล้ว และยังถูกฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนที่สนช.จะมีมติถอดถอนเพียง 1 ชั่วโมง

เธอต่อว่าทั้งสองกรณีอาจไม่เกี่ยวกับพล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง เพราะเป็นเรื่องของสนช.และอัยการสูงสุด และศาลที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม แต่ที่จะกล่าวต่อไปนี้ล้วนเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์โดยตรงทั้งสิ้น คือการดำเนินการให้มีการเรียกร้องค่าเสียหายทางคดีแพ่งต่อการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว ที่ออกคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2558

เธอบอกว่า เรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลของนายกฯ ประยุทธ์ หนักใจที่รัฐต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายซึ่งต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมศาลเป็นจำนวนมาก จึงมีการพลิกมุมกฎหมายและกลไกการเรียกค่าเสียหายใหม่โดยหากพบว่ามีความผิดรัฐจะไม่ฟ้องแต่ใช้วิธีให้นายกฯ ออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ต้องเข้าคณะรัฐมนตรีสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องชำระหนี้เหมือนคำสั่งยึดทรัพย์เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมฟ้องศาล ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของนายกฯ เสมือนหนึ่งเป็นคำพิพากษาของศาล เป็นกลไกชี้ถูกผิดว่าจะให้ผู้ใดรับผิดชอบในค่าเสียหายต่อการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว ทั้งที่การพิจารณาคดีของศาลในคดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น

และยังบอกว่า ตัวเธอเองในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องแก้ปัญหาสินค้าข้าว ได้ใช้กลไกการบริหารนโยบายคือ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ซึ่งอาจเห็นต่างกันในเชิงนโยบายและกลไกในการบริหารจัดการเรื่องข้าว ดังนั้นทั้งตนเองและพล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ใช่ผู้ที่เป็นกลางแต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งทางปกครอง เพื่อสั่งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระค่าเสียหายทั้งที่ศาลยังไม่มีคำตัดสิน ถือเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างยิ่ง

ท้ายจดหมายเปิดผนึก เธอได้เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ทบทวนและยุติการดำเนินการใช้อำนาจลงนามในคำสั่งปกครองแทนการพิจารณาและพิพากษาคดีของศาล โดยรัฐควรให้หน่วยงานของรัฐฟ้องคดีต่อศาล และไม่ควรเร่งรีบรวบรัดในการทำสำนวนเพราะยังมีคดีอาญาที่อยู่การพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยังไม่เสร็จสิ้น

“....ดิฉันได้มีหนังสือหลายฉบับมายังท่านและคณะกรรมการฯ แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาและไม่แจ้งเหตุ ซึ่งท่านสามารถตรวจสอบความมีอยู่จริงของหนังสือนั้นได้ .... ดิฉันได้มอบหมายให้ทนายความไปยื่นหนังสือถึงท่านในวันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2558 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล และหวังว่าเมื่อท่านได้รับหนังสือแล้ว ท่านคงจะไม่เพิกเฉย และจะได้พิจารณาด้วยความเป็นธรรม เพราะท่านได้ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน”

เป็นการตัดพ้อต่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่เหลือบแลเธอเลย

ในหนังสือ 6 หน้า ที่ทีมทนายนางสาวยิ่งลักษณ์ ยื่นโต้แย้ง คัดค้านและขอความเป็นธรรมต่อพล.อ.ประยุทธ์ อย่างเป็นทางการ ในวันรุ่งขึ้น กล่าวอ้างว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบ โดยเฉพาะประเด็นที่ตนเองมิใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาในสายการบังคับของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง การดำเนินนโยบายจำนำข้าวเป็นเรื่องที่แถลงไว้กับรัฐสภา เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบในทางการเมืองมิใช่เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐกระทำโดยใช้อำนาจปกครอง มิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจหน้าที่พิจารณาของศาลปกครอง ดังนั้น จึงมิได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ

อีกทั้ง ยังได้อ้างมาตรา 4 (1) แห่ง พ.ร.บ.ปกครอง พ.ศ. 2539 ที่บัญญัติว่าห้ามมิให้ใช้ พ.ร.บ.ฯ บังคับแก่รัฐสภาและคณะรัฐมนตรี มาตรา 4 (3) ก็บัญญัติชัดห้ามมิให้ใช้ พ.ร.บ.ปกครอง พ.ศ. 2539 บังคับแก่การพิจารณาของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีในงานทางนโยบายโดยตรงจึงชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถนำ พ.ร.บ.ปกครอง พ.ศ. 2539 มาใช้บังคับใช้ในกรณีนี้ได้ การออกคำสั่งกระทรวงการคลัง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีผลบังคับ อีกทั้งผู้ออกคำสั่งอาจต้องรับผิดชอบด้วยการออกคำสั่งชดใช้ค่าเสียหายจำนวนกว่า 5 แสนล้านบาท ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ก็ย่อมไม่อาจกระทำได้ และขอให้ทบทวนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 448/2558 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ พร้อมยกเลิกเพิกถอนการกระทำทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง

หลังจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ตัดพ้อต่อว่าและเรียกร้องหาความยุติธรรมมากมาย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมาอธิบายต่อสังคมภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการและเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กัน แต่ที่ปล่อยไม่ได้เพราะมีอายุความเพียง 2 ปี ตนเองในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ก็ต้องใช้มาตรการทางปกครองเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้นตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว และไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพราะคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับนักการเมืองจะเข้าสู่ศาลปกครองทั้งสิ้น

“.... มาตรการทางการปกครองกับเจ้าหน้าที่ในการกระทำความผิดขั้นตอนที่หนึ่งมันต้องทำ เพราะเป็นกฎหมายมาตั้งแต่สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งกฎหมายยังคงมีอยู่จะละเว้นไม่ได้ รวมทั้งเรื่องการเรียกค่าเสียหายต่างๆ แต่ถ้าเรียกไปแล้วไม่จ่าย ไม่ยอมรับ ก็ไปฟ้องศาลปกครองต่อ แต่วันนี้เราต้องทำตรงนี้ เพราะจะปล่อยเวลาให้เกิน 2 ปีไม่ได้ ปัญหาการรับจำนำข้าวมีมาตั้งแต่ปี 55/56 และ 56/57 เดี๋ยวมันจะหมดอายุ แล้วในวันข้างหน้าตนก็จะโดนอีกว่าทำไมไม่ทำ”

ส่วนกรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็เป็นเรื่องของท่าน แต่ท่านคงไม่ได้เป็นคนเขียนเอง คงเป็นคำแนะนำจากฝ่ายทนายความ ซึ่งท่านก็ต้องฟังฝ่ายกฎหมายของท่าน ซึ่งเขาก็เข้าใจและตีความไปแบบนั้น กฎหมายฉบับเดียวอย่าคิดว่าจะตีความแบบเดียวกันถึงได้มีการต่อสู้ มีทนาย มีศาลในการตัดสิน

“.... ผมไม่ใช่นักกฎหมาย จึงต้องให้นักกฎหมายมาทำ แต่ก็ต้องระมัดระวังตัวเองด้วยว่าจะทำอย่างไรจึงจะเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ถูกกล่าวอ้างว่าไปรังแกคนอื่น จนกลายเป็นปัญหาในอนาคตอีก .... เราต้องหามาตรการที่รัดกุมในการที่จะทำให้เกิดความชัดเจนว่าไม่ได้เป็นการรังแกหรือกลั่นแกล้งกัน ถ้าจะฟ้องก็ต้องถึงเวลาก่อน วันนี้ต้องเคลียร์ให้ได้ก่อนว่ามีความเป็นไปเป็นมาอย่างไร ....

“เรื่องเหล่านี้มันเกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย ส่วนจะเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไรก็ต้องไปว่ากันมาด้วยหลักฐานด้วยกฎหมาย ..... ผมจำเป็นต้องใช้อำนาจทางการปกครอง ซึ่งผมละเว้นไม่ได้ เมื่อผมเสนอเรื่องไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องมีคณะกรรมการที่จะต้องตัดสิน โดยชี้กลับมาที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ว่าจะให้ดำเนินการต่อไปอย่างไร เมื่อถึงตรงนั้นก็จะมีการใช้อำนาจของเขา ในการเรียกร้องชดใช้ค่าเสียหาย ไม่ใช่ผม เรื่องทั้งหมดจะย้อนกลับไปที่กระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านคณะกรรมการที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลาง ร่วมอยู่ด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

สรุปง่ายๆ ก็คือ นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้ตั้ง “ศาลเตี้ย” ใช้อำนาจหน้าที่ของนายกฯ เสมือนหนึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลอย่างที่นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวอ้าง และไม่ได้ใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 เพื่อกลั่นแกล้งจ้องเอาผิดและเรียกค่าเสียหายแต่อย่างใด ส่วนกระบวนการออกคำสั่งทางปกครองก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯและกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้ดำเนินการ และยังต้องต่อสู้กันอีกหลายยก แต่เหตุที่ต้องรีบด่วนลงมือจัดการเพราะเกรงว่าจะขาดอายุความ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่าเรื่องนี้ไม่มีลับ ลวง พราง ซึ่งการดำเนินคดีทั่วไปนอกจากรัฐจะเป็นโจทก์ฟ้องผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ยังมีอีกช่องทางหนึ่งที่ใช้ควบคู่กันมาตั้งแต่ปี 2539 ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งบัญญัติในกฎหมายไว้เป็นพิเศษว่าหากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงต้องฟ้องเจ้าหน้าที่คนนั้นๆ และในมาตรา 10 ของกฎหมายนี้กำหนดให้มีการออกคำสั่งทางปกครองภายในอายุความ 2 ปี หากผู้ถูกฟ้องไม่พอใจก็สามารถฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งได้

เนติบริกรมือขั้นเทพของ คสช. ยังแจกแจงด้วยว่า รัฐบาลดำเนินการตามกระบวนการตามกฎหมายปกติ ซึ่งใช้มาแล้ว 20 ปีดำเนินคดีมามากกว่า 300 เรื่อง และในสมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็อาจเคยใช้มาแล้วเช่นกัน แต่ปัญหาอยู่เพียงว่าในกรณีนี้เข้าข่ายตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อเจ้าหน้าที่รายงานว่า เข้าข่าย เพราะผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้ นางสาวยิ่งลักษณ์, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้ไปกระทำความผิดส่วนตัวแต่เป็นการกระทำความผิดขณะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยการประมาท เป็นการกระทำที่จงใจเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลความผิด และส่งเรื่องมาให้รัฐบาล จึงเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ และต้องนำไปสู่กระบวนการออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ

“....อายุความในคดีเรียกค่าเสียหายนี้มีเพียง 2 ปี จะหมดอายุในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จะทิ้งไว้ให้อายุความขาดไม่ได้ เพราะรัฐจะกลายเป็นจำเลย รัฐจึงรอไม่ได้”

ส่วนการดำเนินการด้วยช่องทางดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการหลีกเลี่ยงการฟ้องต่อศาลแพ่งที่รัฐต้องมีเงินวางศาลจำนวนมาก แต่เป็นเพราะรายงานการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ทำให้ต้องดำเนินการเช่นนี้

“.... รัฐไม่สามารถใช้กระบวนการอื่นดำเนินการ กฎหมายได้สร้างกระบวนการนี้เพื่อให้ใช้ตั้งแต่ปี 2539 เป็นไปตามหลักกฎหมายไม่ใช่รัฐมีทางเลือกสองทางแล้วเลือกทางนี้ แต่เป็นเพราะไม่มีกฎหมายอื่นให้เลือก ถ้าหากจะฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายเหมือนตอนแรกที่คิดไว้ อย่างนั้นเราต้องลดราวาศอก ตั้งข้อหาลงมาว่าประมาทจิ๊บจ๊อย มันถึงจะไปฟ้องธรรมดา แต่เมื่อ ป.ป.ช.ส่งรายงานเอกสารยืนยันว่า เป็นเรื่องประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก็ต้องมาใช้ขั้นตอนนี้ มันจึงถูกบังคับโดยกระบวนการของมัน ไม่ใช่เลือกได้ตามใจชอบ” นายวิษณุ กล่าว

รองฯ วิษณุ ยังชี้ช่องด้วยว่า เรื่องนี้จะใช้กระบวนการใดต้องมาเถียงกันว่า จงใจหรือประมาทเลินเล่อร้ายแรงหรือไม่ และถ้าไม่พอใจคำสั่งทางปกครองแล้วไปฟ้องศาลก็มีสิทธิ์ยกคำอ้างว่าเรื่องนี้ไม่ควรใช้กระบวนการรับผิดทางละเมิด เพราะไม่ได้ละเมิดอย่างร้ายแรงก็ต้องพิสูจน์กัน นั่นแปลว่าคุณต้องเถียงกับ ป.ป.ช.ไม่ใช่เถียงกับรัฐบาล

ส่วนที่นางสาวยิ่งลักษณ์ โต้แย้งว่าคำสั่งทางปกครองไม่สามารถใช้กับอดีตนายกรัฐมนตรีได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ปรึกษากับอัยการกับผู้เกี่ยวข้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันในชั้นศาล รัฐบาลจะไม่พูดตอบโต้ แต่ยืนยันว่าการใช้คำสั่งทางปกครองสามารถเอาผิดต่ออดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้

สำหรับกระบวนการออกคำสั่งทางปกครอง นายวิษณุ บอกว่า นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องเซ็นคำสั่งก็ได้ พร้อมกับอธิบายว่า นายกรัฐมนตรีเกี่ยวข้องแค่ช่วงต้นในส่วนของขั้นตอนสำนวนที่มาจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและกำหนดค่าความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว จากนั้นคณะกรรมการว่าด้วยการรับผิดทางแพ่งจะส่งเรื่องกลับไปที่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดและไม่อยู่ในสังกัดหน่วยงานใดให้กระทรวงการคลัง รับผิดชอบ เนื่องจากตำแหน่งนายกฯ ไม่มีสังกัด ส่วนที่นายกฯ ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในช่วงแรก เพราะนายกฯ ต้องลงไปดูทุกระดับ

“ไม่ใช่เป็นการพยายามกันนายกฯ ออกมา เพราะหากดูกฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีเจ้าของเรื่องเป็นคนเซ็น เพราะกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้สังกัดหน่วยงานใด ดังนั้นต้องให้ รมว.คลัง ลงนามคำสั่งทางปกครอง ไม่ได้เป็นการเซฟนายกฯ ..... นายกฯ เคยประกาศไว้ หากมีอะไรจะรับผิดชอบเพียงผู้เดียว และหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฟ้องกลับ จะถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ ตนไม่ทราบ ถ้าทนายเก่งก็สามารถฟ้องถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ได้”

การออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมของนางสาวยิ่งลักษณ์ ยังถูกตอกกลับจากโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ด้วยว่า ก่อนหน้านี้เคยเชิญนางสาวยิ่งลักษณ์ มาให้ข้อมูลแต่กลับเจอเล่นแง่ประวิงเวลา แล้ววันนี้จะมาร้องแรกแหกกระเชอทำไม และการออกคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมและข้อกฎหมาย ไม่ได้มโนขึ้นมาเอง

พล.ต.สรรเสริญ ยังท้าทายด้วยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ จะขอยื่นพยานหลักฐานนั้น ยินดีเลย ไม่เคยปิดกั้น แต่ต้องเท้าความว่า คณะกรรมการได้เคยเชิญมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรก นางสาวยิ่งลักษณ์ ตอบกลับมาว่า เชิญมาในฐานะอะไร พอคณะกรรมการตอบไป ครั้งที่สองท่านก็ตอบกลับมาอีกว่า จะถามอะไร เข้าใจว่าต้องการตอบเป็นเอกสาร จะเป็นเพราะว่าท่านอธิบายความแล้วคนฟังไม่เข้าใจเลยเขียนมาดีกว่า ซึ่งการถามไปและตอบมาแบบนี้แสดงออกว่าท่านต้องการประวิงเวลา ไม่อยากมา ดังนั้น ไม่ใช่เราไม่เคยเชิญ แต่เขาไม่มา

ส่วนที่มีความพยายามจะเบี่ยงเบนว่าเรื่องนี้มี พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 โดยมาตรา 4 เขียนว่ามิให้ใช้บังคับแก่รัฐสภาและ ครม. นั้น ขอชี้แจงว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการดำเนินการกับ ครม. แต่เป็นการดำเนินการรายบุคคล

“คุณยิ่งลักษณ์ กับทนาย จะบ่นทำไม หากเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลกระทำอยู่ขณะนี้เป็นกระบวนการที่ผิด ไม่ถูกกฎหมาย จะมาสอนโจทก์ทำไม ปล่อยให้รัฐบาลทำแบบผิด ๆ แบบนี้ไปสิ พอถึงขั้นศาลปกครอง ถ้าศาลปกครองเห็นด้วยกับคุณ คุณก็เป็นฝ่ายได้เปรียบ จะมาร้องแรกแหกกระเชอทำไม....” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

หากมองจากสายตาของนักการเมืองอาชีพอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ความเคลื่อนไหวของนางสาวยิ่งลักษณ์และทีมทนายในเวลานี้ เป็นการสร้างเงื่อนไขในการต่อสู้คดีและไม่อยากตั้งรับเพียงอย่างเดียว และย้ำชัดว่ารัฐบาลออกคำสั่งทางปกครองได้ เนื่องจากนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่และสร้างความเสียหายในระหว่างการทำหน้าที่ แต่หากเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมิชอบยังสามารถร้องศาลปกครองได้

คดีโครงการรับจำนำข้าวนี้ยังต้องต่อสู้กันอีกยาว แต่เมื่อเงื่อนไขและสภาพการณ์แปรเปลี่ยนไปทุกประการ น่าสนใจใคร่ติดตามอย่างยิ่งว่า ชะตากรรมของ “สาวเครือฟ้า 2558” จะมีจุดจบเช่นใด?


นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.
การทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวที่มูลค่าความเสียหายถึงกว่า 5 แสนล้านบาท
ทักษิณ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น