xs
xsm
sm
md
lg

จี้ ทส.เคลียร์! เสียดอกเบี้ยค่าโง่คลองด่านวันละ 2 ล้าน - ปูด! มติใช้เลี้ยง “เป๋าฮื้อ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“วิษณุ” สั่งไล่บี้คนทำรัฐเสียค่าโง่คลองด่าน 9 พันล้านบาท แจงสมัยนั่ง เลขา ครม. รับทราบมติ ให้ปรับเปลี่ยนบ่อบำบัดน้ำเสีย เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยง “เป๋าฮื้อ” จี้ ทส. เร่งเคลียร์ เหตุรัฐเสียดอกเบี้ยวันละ 2 ล้านบาทให้เอกชนจริงเท็จเช่นใด ย้ำยิ่งชดใช้ค่าเสียหายล่าช้า ก็ยิ่งจะเสียดอกเบี้ยมากขึ้น

วันนี้ (20 ส.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีชดใช้ค่าเสียหายโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ มูลค่ากว่า 9 พันล้านบาท ให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด จากกรณีที่กรมควบคุมมลพิษสั่งยกเลิกสัญญาการก่อสร้าง ว่า ตนไม่ทราบว่าหากมีการจ่ายชดเชยค่าเสียหายแล้ว สิ่งก่อสร้างในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านจะสามารถใช้งานอะไรต่อได้หรือไม่ ตนเพียงเข้าไปช่วยพิจารณาตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอให้นายกรัฐมนตรีให้ตั้งคณะทำงานมาพิจารณาเรื่องเจรจาต่อรองกับบริษัทเอกชนที่ชนะคดี ส่วนเรื่องที่จะนำบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านไปทำอะไรต่อไปนั้นขึ้นอยู่กับ ทส.

ส่วนกรณีที่ กระทรวงเสนอผลักดันโครงการดังกล่าวเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียต่อไป นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าทำต่อได้ก็ดี แต่ตนไม่แน่ใจ เพราะว่าเมื่อ10กว่าปีที่แล้ว ครั้งยังเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตนเคยเข้ามาดูเรื่องนี้ตั้งแต่ยังไม่มีการฟ้องร้อง ก็ได้ข้อยุติในขณะนั้นว่า ไม่ควรจะใช้เป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย อาจนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีมูลค่า หายาก เช่น เป๋าฮื้อ ตอนนั้นตนก็ยังหัวเราะแต่เมื่อฟังเหตุผลที่อธิบายก็เข้าใจ สุดท้ายก็พ้นจากหน้าที่ตรงนั้นไป ไม่ได้ติดตามต่อ

ส่วนจะทำอย่างไรให้การดำเนินโครงการของรัฐมีบทเรียน ไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำ นายวิษณุ กล่าวว่า เชื่อว่าขณะนี้จะมีความเข็ดหลาบหวาดกลัวพอสมควร เพราะกฎระเบียบสมัยก่อนมีความหละหลวมจริงๆ แต่ 4 - 5 ปีที่ผ่านมากฎระเบียบมีความเข้มงวดมากขึ้น ถูกตรวจสอบได้มากขึ้น สังคมก็จับตามองมากขึ้น จึงทำให้ผู้ที่ดำเนินโครงการต้องระมัดระวัง ยิ่งเวลานี้องค์กรตรวจสอบมีจำนวนมาก แต่ตอนนั้นไม่มีหรือมีก็น้อยมาก อย่างมากก็ฝากผีฝากไข้ไว้ที่ ป.ป.ช. แห่งเดียว

“อย่างไรก็ตาม ยังต้องอาศัยกระบวนการ ความซื่อสัตย์สุจริตของรัฐบาล หรือคนในรัฐบาลให้มีมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะช่วยได้ และกฎหมายก็มีส่วน ต้องกำหนดมาตรการทางกฎหมายโดยระบุขั้นตอนให้ละเอียดชัดเจน ที่ผ่านมา หลายอย่างที่ได้ตรวจสอบกฎหมายก็เขียนไว้ไม่ชัดเจน จึงมีการแปลความกันว่า โครงการที่ก่อให้เกิดความเสียหายในท้ายที่สุดสามารถทำได้ และวันหนึ่งมีการวินิจฉัยว่าทำไม่ได้ ก็เลยเป็นความผิด เวลามีการฟ้องร้อง รัฐก็แพ้คดี”

นายวิษณุ กล่าวว่า คดีที่รัฐบาลแพ้คดีส่วนใหญ่ มักจะแพ้คดีใน ชั้นอนุญาโตตุลาการ ไม่ได้แพ้ในชั้นศาล เพราะเมื่ออนุญาโตตุลาการตัดสินแล้วเกิดความไม่พอใจ ก็สามารถไปดำเนินการในชั้นศาลได้ เช่น คดีคลองด่าน อนุญาโตตุลาการตัดสินว่ารัฐแพ้ แต่รัฐไม่ยอม จึงมีการฟ้องร้องไปยังศาลปกครองชั้นต้น ก็ยังตัดสินว่ารัฐแพ้ จนไปถึงศาลปกครองสูงสุด ก็ตัดสินตามศาลปกครองชั้นต้นว่ารัฐแพ้ ซึ่งคำว่าแพ้ ไม่ได้แพ้ในความหมายที่ว่ารัฐทำผิดหรือไม่ เพราะในชั้นศาลปกครองไม่ได้มีการสืบพยานแม้แต่ปากเดียว เพียงแต่ดูว่าในชั้นอนุญาโตตุลาการมีการตัดสินโดยมีกระบวนการถูกต้องหรือมีอะไรน่าสงสัยหรือไม่ ถ้าศาลปกครองสูงสุดไม่พบก็ต้องตัดสินตามอนุญาโตตุลาการ

กรณีความคืบหน้าการเจรจาต่อรองลดค่าเสียหายกับเอกชนนั้นทำได้มากน้อยเพียงใด นายวิษณุ กล่าวว่า ตนอยากให้ ทส. ชี้แจงในเรื่องนี้มากกว่า แต่เบื้องต้นการเจรจากับเอกชนได้มีการลดค่าเสียหายที่ต้องชดใช้ได้จำนวนมาก รู้หรือไม่ วันนี้รัฐเสียดอกเบี้ยวันละประมาณ 2 ล้านบาททุกวัน ยิ่งดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายล่าช้า ก็ยิ่งจะเสียดอกเบี้ยมากขึ้น เพราะเป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ให้รัฐชดใช้ค่าเสียหายภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากยังชำระไม่ได้ก็ต้องชำระดอกเบี้ยในส่วนนี้ทุกวัน ซึ่งเป็นมาตรฐานตามกฎหมาย แต่มีผลเจรจาส่วนหนึ่ง ถ้ารัฐดำเนินการตามที่เอกชนเรียกร้อง ซึ่งเอกชนก็ได้ลดค่าเสียหายให้ และหาก 2 ฝ่ายได้ข้อยุติในส่วนนี้ร่วมกัน รัฐก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ศาลตัดสินถึงที่สุด

กรณีนี้ถือว่าได้ข้อสรุปแล้วหรือไม่ว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบค่าเสียหายโครงการนี้ทั้งหมด นายวิษณุกล่าวว่า ตามคำพิพากษานั้นได้ข้อยุติตรงนั้นแล้ว จะเถียงก็ไม่ได้เพราะรัฐแพ้คดี ส่วนหลังจากนั้น รัฐบาลจะไปไล่บี้กับผู้ดำเนินโครงการจนทำให้เกิดความเสียหายแน่นอน ความรับผิดทางแพ่งต้องมี ไม่สำคัญว่าจะเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการ อะไรก็ช่างยกเว้นคนที่เสียชีวิตไปแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น