xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ย.ยังลดลง แต่คนเริ่มมั่นใจอนาคตหลังรัฐอัดฉีด ส่วนกินเจปีนี้เงินสะพัด 4.2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.ยังคงปรับตัวลดลง หลังคนยังกังวลเศรษฐกิจไม่ฟื้น ส่งออกหด สินค้าเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพสูง แต่เริ่มเห็นสัญญาณบวก คนเริ่มเชื่ออนาคตจะดีขึ้นจากมาตรการอัดฉีดของรัฐบาล “ธนวรรธน์” เผยไตรมาสที่ 4 จะเห็นชัด ความเชื่อมั่นจะกลับมาบวกหรือไม่ ส่วนกินเจปีนี้คาดเงินสะพัด 4.2 หมื่นล้านบาท

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ก.ย. 2558 ว่า ดัชนียังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเกือบทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 72.1 ลดจาก 72.3 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 52.7 ลดจาก 53.9 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 79.8 เพิ่มจาก 79.3 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 61.2 ลดจาก 61.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 67.3 ลดจาก 67.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 87.9 เพิ่มจาก 87.6

“ปัจจุบันคนยังขาดความเชื่อมั่นอยู่ เพราะดัชนีส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง และมีค่าดัชนีต่ำสุดหลายตัว แต่ความเชื่อมั่นในอนาคต และรายได้ในอนาคตกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก แสดงว่าคนเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าในอนาคตจะดีขึ้น” นายวชิรกล่าว

สำหรับปัจจัยลบที่ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นให้ลดลงมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2558 เหลือ 2.7% จากเดิม 3% และปี 2558 เหลือ 3.7% จากเดิม 4.1% เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนในการฟื้นตัว การส่งออกเดือน ส.ค. 2558 ลดลง 6.69% และยอดรวม 8 เดือนลดลง 4.92% ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าว ยางพารา และปศุสัตว์ ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง SET Index เดือน ก.ย. 2558 ลดลง 33.41 จุด เงินบาทอ่อนค่า สะท้อนเงินตราต่างประเทศไหลออก และผู้บริโภคยังกังวลค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวในระดับสูง

ส่วนปัจจัยบวกมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น 3 มาตรการ วงเงินรวม 1.36 แสนล้านบาท มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้านการเงินและภาษี คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี

ทั้งนี้ ผลจากดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับลดลงส่งผลให้ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวลดลงตามไปด้วย โดยดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่อยู่ที่ 81.9 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 ติดต่อกันเดือนที่ 8 และต่ำสุดในรอบ 70 เดือน ขณะที่ความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่อยู่ที่ 57.5 ลดลงเป็นเดือนที่ 9 และต่ำสุดในรอบ 17 เดือน ตั้งแต่ พ.ค. 2557 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวอยู่ที่ 53.8 ลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 9 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 123 เดือน เช่นเดียวกับดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจ อยู่ที่ 40 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 123 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหลายตัวยังอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ยังระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวและลงทุนทำธุรกิจที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี แม้จะมีการระบุว่าขณะนี้เป็นช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยว แต่ส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติ ในส่วนคนไทยด้วยกัน แม้จะมีการกระตุ้นให้มีการประชุมสัมมนาออกต่างจังหวัด แต่ก็ยังลงไปไม่ถึง

อย่างไรก็ตาม ผลจากที่รัฐบาลได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าในเดือน ต.ค.นี้จะมีเม็ดเงินเข้าไปมากขึ้น ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีหลายตัว โดยดัชนีในปัจจุบันแม้จะยังปรับตัวลดลงแต่ก็ลดลงไม่มาก ส่วนดัชนีในอนาคตเริ่มปรับตัวสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นจะกลับมาดีขึ้น ซึ่งในไตรมาสที่ 4 จะเริ่มเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า ศูนย์พยากรณ์ได้สำรวจเทศกาลกินเจปีนี้คาดว่าคึกคักขึ้นเล็กน้อย มีเงินสะพัดกว่า 42,209 ล้านบาท ขยายตัว 2.9% จากปีก่อนที่มีเงินสะพัดประมาณ 41,012 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากค่าอาหารในช่วงเทศกาลกินเจสูงขึ้น ทำให้ผู้ที่กินเจต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น และในปีนี้มีคนกินเจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมี 31.3% ที่ระบุว่าจะกินเจ อีก 68.7% ไม่กิน


กำลังโหลดความคิดเห็น