xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นดิ่ง8เดือนติด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค. ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 หลังเศรษฐกิจยังซึมตัว ระเบิดกระทบท่องเที่ยว กังวลเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น ส่งออกลด เกษตรตก แต่พบสัญญาณดีขึ้น จากทีมเศรษฐกิจ “สมคิด” เร่งอัดฉีดกระตุ้น คาดดันจีดีพีปีนี้โตเฉียด 3%ส่วนผลสำรวจหนี้ครัวเรือนน่าห่วง คนไทยหนี้ท่วมหัว
หันกู้นอกระบบพุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี
นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนส.ค.2558 จากกลุ่มตัวอย่าง 2,242 คนทั่วประเทศว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงทุกรายการติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 และต่ำสุดในรอบ 15 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 72.3 ลดจาก 73.4ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 53.9 ลดจาก 54.8 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 79.3 ลดจาก 80.5 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 61.5 ลดจาก 62.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 67.6 ลดจาก 68.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 87.6 ลดจาก 88.8
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง มาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2558 เหลือ 2.7-3.2% จากเดิม 3-4% , ความกังวลเหตุระเบิดราชประสงค์ ที่กระทบต่อการท่องเที่ยว, ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย , การส่งออกในเดือนก.ค. ขยายตัวติดลบ 3.56% , ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัวระดับต่ำ รวมถึงปัญหาภัยแล้ง และเงินบาทอ่อนค่าลง
ส่วนปัจจัยบวกก็มีไม่มาก เช่น การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลประยุทธ์ 3 ส่งผลในเชิงจิตวิทยาเรื่องความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจภายใต้การนำของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ราคาน้ำมันในประเทศลดลง และคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มีสัญญาณที่ดีของความเชื่อมั่นที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และมีความหวังจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการอัดฉีดเงิน 1.36 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะเข้าสู่ระบบได้ภายใน 2 เดือนนับจากนี้ คือ ช่วงก.ย.-ต.ค. อย่างน้อย 7 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท
และรวมกับโครงการระดับจังหวัด 4 หมื่นล้าน จะเข้าสู่ระบบได้ภายในธ.ค. ซึ่งจะช่วยให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.7-1% แต่เมื่อคำนวณเม็ดเงินที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจจากการส่งออกที่หดตัว 6 หมื่นล้านบาท ภัยแล้ง 3-4 หมื่นล้านบาท และการท่องเที่ยวที่หายไปจากเหตุระเบิด 7 หมื่นล้านบาท ทำให้จีดีพีปีนี้น่าจะโตได้ระดับ 2.5-2.9%ใกล้เคียง 3%
ที่เคยคาดไว้เดิม
ทั้งนี้ ในการสำรวจภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคเดือนส.ค. พบว่า เกือบทุกรายการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่เท่ากับ 85 ลดลงจาก 87.8 ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ เท่ากับ 60 ลดลงจาก 61.7 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว เท่ากับ 56.9 ลดลงจาก 60.3ดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจ (SMEs) เท่ากับ 42 ลดลงจาก 43.6
นายธนวรรธน์กล่าวว่า ผลสำรวจ “สถานภาพหนี้ภาคครัวเรือน” ระหว่างวันที่ 20-28 ส.ค.2558 สำรวจทั่วประเทศ 1,200 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 67.3% ตอบว่าไม่มีการออมต่อเดือน มีเพียงแค่ 32.7%ที่มีการออม เพราะต้องนำเงินมาจับจ่ายใช้สอย จากการที่ค่าใช้จ่ายในปัจจุบันสูงขึ้นจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น มีภาระหนี้มากขึ้น และมีรายได้น้อยลงและยังพบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ 80.2%มีหนี้สิน มีเพียงแค่ 19.8% เท่านั้นที่ระบุว่าไม่มีหนี้สิน ถือว่ามีสัดส่วนหนี้สินสูงสุดในรอบ 10 ปี นับจากที่ทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2549 โดยหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการใช้จ่ายทั่วไป ลงทุนซื้อทรัพย์สิน และประกอบธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ในการก่อหนี้ พบว่า เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ โดยมูลค่าหนี้ต่อครัวเรือนอยู่ที่ 2.48 แสนบาท เพิ่มขึ้น 13.16% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหนี้ในระบบ 48.7% นอกระบบ 51.3% ถือเป็นสัดส่วนหนี้นอกระบบที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกัน และยังพบอีกว่าความสามารถในการชำระหนี้ลดลงด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น