ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.ลดลงต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน หลังคนไม่มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ พืชเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพสูง ชี้กังวลภัยแล้งในรอบ 10 ปี แนะรัฐออกแพกเกจกระตุ้น หากไม่ทำเศรษฐกิจไทยปีนี้ชะงักแน่
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน มิ.ย. 2558 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,241 คนทั่วประเทศ ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ที่ 74.4 ลงจาก 75.6 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 55.9 ลดจาก 56.8 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 81.5 ลดจาก 82.8 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 63.8 ลดลงจาก 65.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 69.4 ลดลงจาก 70.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 90 ลดลงจาก 91.4
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวลดลง มาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้เหลือ 3% จากเดิม 3.8% ราคาพืชผลทางการเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ ภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง รายได้ของเกษตรกรอยู่ในระดับต่ำ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก มูลค่าการส่งออกเดือน พ.ค.ติดลบ 5.01% ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้นลิตรละ 0.50 บาท ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 33.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งสะท้อนว่ามีเงินตราต่างประเทศไหลออกสุทธิ ผู้บริโภคกังวลปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าสูง แม้เงินเฟ้อจะติดลบ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลงสอดคล้องกับการลดลงของดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่เดือน มิ.ย.ที่อยู่ที่ 90.9 ลดลงจาก 92.9 ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่อยู่ที่ 63.9 ลดลงจาก 66.4 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวอยู่ที่ 63.1 ลดลงจาก 66.1 และดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจ (เอสเอ็มอี) อยู่ที่ 45.5 ลดลงจาก 48.2
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 หรือ 2 ไตรมาส แสดงให้เห็นสัญญาณความกังวลและจุดอันตรายต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ซึ่งรัฐบาลควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจคึกคัก เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณการเบิกจ่ายในต่างจังหวัด รัฐควรออกแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงกำลังซื้อให้กลับมาภายในไตรมาส 3 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยับยั้งไม่ให้ความเชื่อมั่นต่ำลงไปจนเรียกกลับคืนมายาก
สำหรับแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจเป็นรูปแบบการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร การใช้งบประมาณที่มีอยู่เพื่อโครงการขนาดเล็ก เช่น การจ้างงานทาสี ปรับปรุงสถานที่ราชการ ส่วนการแจกเงินในรูปแบบต่างๆ เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่น่าจะนำมาใช้
“ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ครึ่งปีหลังไม่สดใสแน่นอน เพราะดัชนีความเชื่อมั่นติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน เป็นช่วงอันตรายที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ โดยภัยแล้งเป็นปัจจัยลบในดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ถูกนำมาพูดถึงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งขณะนั้นเกิดความเสียหายจากภัยแล้งประมาณ 40,000 ล้านบาท แต่ปีนี้ผลกระทบยังไม่ชัดเจน เบื้องต้นการเลื่อนทำนา 3.4 ล้านไร่ ออกไป 2 เดือนจะทำให้รายได้จากธุรกิจเกี่ยวข้องกับข้าว 15,000 ล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจช้าลง และทำให้จีดีพีลดลง 0.1%”
นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกปี 2558 ที่เดิมคาดว่าจะขยายตัวที่ 0.4% จากปีก่อน แต่ล่าสุดอาจติดลบ 1-2% เพราะผลกระทบจากปัญหาหนี้ของกรีซที่ยังไม่ชัดเจนว่ากรีซจะออกจากยูโรโซนหรือไม่ และจะมีรูปแบบการชำระหนี้อย่างไร ส่งผลให้คำสั่งซื้อจากตลาดยุโรปชะลอตัวจนกว่าใกล้สิ้นไตรมาส 3 ส่วนการหยุดออกเรือประมงขนาดกลาง ในภาพรวมจะไม่กระทบภาคการส่งออกมาก เพราะส่วนใหญ่สินค้าส่งออกผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากเรือประมงขนาดใหญ่ แต่สถานการณ์นี้จะมีผลต่อรายได้ของประชาชนในพื้นที่มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯ ยังคงคาดการณ์อัตราขยายตัวจีพีดีปีนี้อยู่ในกรอบ 3-3.5% หรือค่าเฉลี่ย 3.2% แต่มีความเป็นไปได้ที่จีพีดีจะขยายตัวต่ำกว่า 3% เพราะคาดการณ์ว่าจีดีพีไตรมาส 2 จะขยายตัวต่ำกว่าไตรมาส 1 หรือต่ำกว่า 3% และไตรมาส 3 ยังไม่ดีขึ้น