ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค.ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ต่ำสุดในรอบ 11 เดือน เหตุคนกังวลเศรษฐกิจไม่ฟื้นจริง ค่าครองชีพยังสูง ห่วงรายได้ไม่พอรายจ่าย แนะรัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่ออัดฉีด พร้อมลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกเพื่อช่วยธุรกิจและกระตุ้นส่งออก ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีโอกาสโตได้ 3.5%
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. 2558 ที่สำรวจจากประชาชนทั่วประเทศ 2,253 ตัวอย่าง ว่า ดัชนีทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ 75.6 ลดจาก 76.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 56.8 ลดจาก 58.0 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 82.8 ลดจาก 83.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 65.0 ลดจาก 66.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายโอกาสในการหางานอยู่ที่ 70.3 ลดจาก 71.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 91.4 จาก 92.7
สาเหตุที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2558 จากเดิม 3.5-4.5% เหลือ 3-4% การส่งออกในเดือน เม.ย.ติดลบ 1.70% และคาดว่าการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวลดลงจาก 3.5% เหลือ 0.2% ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้นลิตรละ 50 สตางค์ ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ว่าเงินเฟ้อจะติดลบ อีกทั้งผู้บริโภคยังกังวลว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีที่ปรับตัวลดลงทุกรายการเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะส่งสัญญาณให้เห็นว่าเศรษฐกิจแย่ลงเรื่อยๆ เพราะคนคิดว่าเศรษฐกิจไม่ดี และไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวในอนาคต แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังก็ตาม โดยสัญญาณของการบริโภคอาจจะแผ่วไปถึงปลายเดือน ก.ค. ถึงต้นเดือน ส.ค. เนื่องจากดัชนีชี้วัดการจับจ่ายใช้สอยปรับลดลงทุกตัว โดยเฉพาะความเหมาะสมในการทำธุรกิจอยู่ต่ำกว่า 50 และต่ำสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งจุดนี้จะทำให้มนุษย์เงินเดือน เกษตรกร และผู้ใช้แรงงานจะเข้าสู่วงจรมีรายได้น้อย และสุ่มเสี่ยงในการก่อหนี้เพิ่มขึ้น และกลับไปเป็นวงจรปัญหาเดิมๆ เหมือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินกระจายลงสู่ท้องถิ่นให้มากที่สุด และทำให้เม็ดเงินสะพัด และควรมีการดำเนินนโยบายการเงินในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยควบคู่กันไปด้วย โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 มิ.ย. ควรจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม เพราะยังมีพื้นที่พอที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% จะมีผลในการกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ 0.05-0.1% ขณะเดียวกัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงและช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของไทยได้ หากเงินบาทอ่อนค่าลงไปอยู่ในระดับ 33.80 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือเข้าใกล้ระดับ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคการส่งออกของไทยมากขึ้น
“ถ้ารัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และเมื่อประชาชนรู้สึกว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น การจับจ่ายใช้สอยก็จะกลับมา ส่วนการลดดอกเบี้ยจะช่วยในเรื่องของการทำธุรกิจให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจควรนำร่องในการลดดอกเบี้ย และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเติบโตในระดับ 3-3.5% และมีโอกาสที่จะโตได้มากกว่า 3.5% ด้วย”
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้อัตราเงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องกัน 5 เดือน เพราะเป็นเพียงภาวะเงินฝืดในทางเทคนิคเท่านั้น โดยในปัจจุบันกำลังซื้อจากประชาชนยังคงมีอยู่ แต่หากจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดจริงๆ นั้น นอกจากอัตราเงินเฟ้อจะต้องติดลบต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 เดือนแล้ว กำลังซื้อจะต้องหายไปด้วย แต่ในขณะนี้ยังไม่ใช่