xs
xsm
sm
md
lg

คนกังวลเศรษฐกิจไม่ฟื้น สินค้าเกษตรตกต่ำ ไม่มีเงินใช้จ่าย ฉุดดัชนีเชื่อมั่นเดือน เม.ย. ตกลงยกแผง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.ปรับตัวลงยกแผง เหตุคนกังวลเศรษฐกิจไม่ฟื้น ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งออกวูบ และคนไม่มีกำลังซื้อ จับตาความเชื่อมั่นยังเป็นขาลง หากเงินเฟ้อและส่งออกเดือน พ.ค.-มิ.ย. ยังไม่มีสัญญาณดีขึ้น แนะแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยอีก เพื่อกระตุ้นส่งออกและท่องเที่ยว

นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.2558 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ 2,241 คน ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยเดือน เม.ย.2558 ปรับตัวลดทุกรายการ 4 เดือนติดต่อกัน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 76.6 ลดจาก 77.7 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 58.0 ลดจาก 58.8 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 83.8 บลดจาก 84.9 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่อยู่ที่ 66.0 ลดจาก 67.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 71.2 ลดจาก 72.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 92.7 ลดจาก 94.0

ปัจจัยลบที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาจากการที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2558 อยู่ที่ 3.7% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.9% ระดับราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นลิตรละ 0.10 บาท การส่งออกเดือน มี.ค.ลดลง 4.45% ราคาพืชผลทางการเกษตรทรงตัวในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 32.516 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือน เม.ย. ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ส่วนปัจจัยบวกก็มีบ้าง เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.50% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เดือน เม.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.80 จุด มาอยู่ที่ 1,526.74 จุด ณ สิ้นเดือน เม.ย. ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง โดยน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศลดลงลิตรละ 0.60 บาท มาอยู่ที่ลิตรละ 25.49 บาท ณ สิ้นเดือน เม.ย.

“ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. ปรับลดลงทุกรายการ เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ราคาพืชผลการเกษตร โดยเฉพาะข้าว และยางพาราอยู่ในระดับต่ำ ภาวะภัยแล้งที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร ตลอดจนการส่งออกยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น” นายวิชร กล่าว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สัญญาณผู้บริโภคยังเป็นขาลง และยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ โดยพบว่า ประชาชนมีความรู้สึกว่ายังไม่มีเงินที่จะจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอมที่ผู้ปกครองเริ่มรู้สึกถึงความสามารถในการใช้จ่ายที่ลดลง จนอาจมีการพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ

ทั้งนี้ ในภาวะที่ส่งออกไม่ฟื้น ประชาชนไม่มีเงินใช้จ่าย และราคาสินค้าเกษตรลดลง ทำให้ต้องจับตามสถานการณ์เงินเฟ้อ และตัวเลขส่งออกในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. หากพบว่ายังไม่ดีขึ้นก็จะชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจมีความน่าเป็นห่วง ทำให้ต้องเร่งเสริมมาตรการ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องลดดอกเบี้ยลงอีก เพื่อช่วยผลักดันการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว เพื่อทำให้แรงงานมีรายได้กลับมา และใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจต่อไป

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และดูแลราคาสินค้าเกษตรให้ดีขึ้น เพราะสัญญาณเศรษฐกิจซึมตัวถึงไตรมาส 2 หากไม่ดำเนินการอะไร จะทำให้เศรษฐกิจซึมตัวถึงไตรมาส 3 และทำให้จีดีพีทั้งปีขยายตัวใกล้เคียงที่ 3% ส่วนผลจากการที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน เป็นสัญญาณของเงินฝืด โดยเป็นการฝืดทางเทคนิค เพราะราคาพลังงานลดลง แต่ก็น่าเป็นห่วงว่าหากเงินเฟ้อเดือน พ.ค.-มิ.ย. ยังลดลงอีก ก็จะทำให้สัญญาณเศรษฐกิจมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น