xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค.ทรุดตัว 7 เดือนติดต่อกัน เหตุคนกังวลเศรษฐกิจแย่ เกษตรตก หุ้นร่วง ส่งออกลด ค่าครองชีพพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.ทุกรายการลดลงเป็นเดือนที่ 7 เฉพาะดัชนีเชื่อมั่นต่ำสุดในรอบ 14 เดือน หลังปัจจัยลบรุมกระหน่ำ ทั้งเศรษฐกิจไทยแย่สุดในรอบ 43 เดือนนับจากน้ำท่วมใหญ่ปี 54 สินค้าเกษตรตกต่ำ หุ้นตก ส่งออกลด ค่าครองชีพสูง คาดความเชื่อมั่นใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้วหลังรัฐอัดฉีดกระตุ้น ส่วนวันแม่ปีนี้คาดเงินสะพัด 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.61% จากการที่สินค้าแพงขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. 2558 ที่สำรวจจากประชาชนทั่วประเทศ 2,245 คนว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 73.4 ลดจาก 74.4 ในเดือน มิ.ย. 2558 ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 54.8 ลดจาก 55.9 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 80.5 ลดจาก 81.5 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 62.6 ลดจาก 63.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 68.6 ลดจาก 69.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 88.8 ลดจาก 90.0

ปัจจัยลบที่ทำให้ดัชนีทุกรายการลดลง ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ลงเหลือ 3.0% จากเดิมคาดโต 3.7% เพราะความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำและฟื้นตัวช้า และมูลค่าการส่งออกที่ต่ำกว่าคาดการณ์, ราคาพืชผลทางการเกษตรทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะข้าว และยางพารา รวมถึงภัยแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง และทำให้รายการเกษตรกรลดลง จนกำลังซื้อในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก

ขณะเดียวกัน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เดือน ก.ค. ลดลง 64.43 จุด, ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบต่อการส่งออก และเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมถึงปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศกรีซ ที่ยังป่วนตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก หากยืดเยื้อจะก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ได้, มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. 2558 ลดลง 7.87% และในช่วง 5 เดือนแรกลดลง 4.84%, ค่าเงินบาทอ่อนค่า สะท้อนถึงมีเงินตราต่างประเทศไหลออกสุทธิ, ผู้บริโภคกังวลค่าครองชีพและราคาสินค้าสูง และรู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงสอดคล้องกับการลดลงของดัชนีความเหมาะสมของการซื้อรถยนต์คันใหม่ที่อยู่ที่ 87.8 ลดลงจาก 90.9 ดัชนีความเหมาะสมการซื้อบ้านหลังใหม่อยู่ที่ 61.7 ลดจาก 63.9 ดัชนีความเหมาะสมการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวอยู่ที่ 60.3 ลดจาก 63.1 และดัชนีความเหมาะสมการลงทุนทำธุรกิจอยู่ที่ 43.6 ลดจาก 45.5

“ประชาชนมากกว่า 50% มองว่าเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค. 2558 แย่สุดในรอบ 43 เดือน นับตั้งแต่ไทยเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา ไทยมีปัญหาภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รายได้เข้ากระเป๋าน้อยลง จึงไม่แปลกที่ประชาชนมองว่าค่าครองชีพสูง ทั้งๆ ที่ร้านค้าพยายามจัดโปรโมชันลด แลก แจก แถม แต่เมื่อไม่มีเงิน ก็ทำให้ประชาชนมองว่าสินค้ายังแพงอยู่ดี”

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว หลังจากที่รัฐบาลเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 6 มาตรการ ซึ่งคาดว่าจะมีเงินเข้าสู่ในระบบประมาณ 100,000 ล้านบาท จะช่วยดึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้ และจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเกิน 3% จากปัจจุบันที่ศูนย์ฯ ประเมินเศรษฐกิจขยายตัว 2.5-2.9%

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงวันแม่ปีนี้ว่า คาดจะมีมูลค่าการใช้จ่ายอยู่ที่ 12,245.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.61% จากปีก่อน เพราะราคาสินค้าแพงและค่าครองชีพสูงทำให้การใช้จ่ายสูงขึ้น โดยการใช้จ่ายส่วนใหญ่ เช่น พาแม่ไปรับประทานข้าว เฉลี่ยอยู่ที่ 1,651.83 บาท พาลูก ครอบครัวไปรับประทานข้าว 2,388.24 บาท ทำกิจกรรมร่วมกัน 1,356.69 บาท พาแม่ไปทำบุญ 1,684.07 บาท พาแม่ไปทำกิจกรรมอื่นนอกบ้าน 1,171.48 บาท พาแม่ไปเที่ยวต่างจังหวัด (ค้างคืน) 7,143.10 บาท ถ้าเช้าไปเย็นกลับ 3,979.75 บาท พาแม่ไปเที่ยวต่างประเทศ 83,590 บาท พาแม่ไปนวด สปา 1,593.75 บาท เป็นต้น

เมื่อถามถึงการติดตามข่าวกิจกรรม “ไบค์ ฟอร์ มัม ปั่นเพื่อแม่” พบว่า ประชาชนกว่า 70% ให้ความสนใจมากที่สุดถึงปานกลาง และมีประชาชน 45.1% จะเข้าร่วมขี่จักรยาน ส่วนการใช้จ่ายในการร่วมกิจกรรม พบว่า ประชาชน 68% จะมีการใช้จ่ายในการซื้อเสื้อไบค์ ฟอร์ มัม รองลงมาเป็นการซื้ออุปกรณ์ขี่จักรยาน, ซื้อรองเท้ากีฬาคู่ใหม่ และซื้อจักรยานคันใหม่ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น