ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค.ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 หลังเศรษฐกิจยังซึมตัว ระเบิดกระทบท่องเที่ยว กังวลเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น ส่งออกลด เกษตรตก แต่พบสัญญาณดีขึ้นจากทีมเศรษฐกิจ “สมคิด” เร่งอัดฉีดกระตุ้น คาดดันจีดีพีปีนี้โตเฉียด 3% ส่วนผลสำรวจหนี้ครัวเรือนน่าห่วง คนไทยหนี้ท่วมหัว หันกู้นอกระบบพุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี
นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ส.ค. 2558 จากกลุ่มตัวอย่าง 2,242 คนทั่วประเทศว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงทุกรายการติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 และต่ำสุดในรอบ 15 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 72.3 ลดจาก 73.4 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 53.9 ลดจาก 54.8 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 79.3 ลดจาก 80.5 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 61.5 ลดจาก 62.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 67.6 ลดจาก 68.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 87.6 ลดจาก 88.8
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงมาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2558 เหลือ 2.7-3.2% จากเดิม 3-4%, ความกังวลเหตุระเบิดราชประสงค์ที่กระทบต่อการท่องเที่ยว, ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย, การส่งออกในเดือน ก.ค.ขยายตัวติดลบ 3.56%, ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัวระดับต่ำ รวมถึงปัญหาภัยแล้ง และเงินบาทอ่อนค่าลง
ส่วนปัจจัยบวกก็มีไม่มาก เช่น การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลประยุทธ์ 3 ส่งผลในเชิงจิตวิทยาเรื่องความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจภายใต้การนำของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ราคาน้ำมันในประเทศลดลง และคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มีสัญญาณที่ดีของความเชื่อมั่นที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และมีความหวังจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการอัดฉีดเงิน 1.36 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะเข้าสู่ระบบได้ภายใน 2 เดือนนับจากนี้ คือช่วง ก.ย.-ต.ค. อย่างน้อย 7 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท และรวมกับโครงการระดับจังหวัด 4 หมื่นล้านบาทจะเข้าสู่ระบบได้ภายใน ธ.ค. ซึ่งจะช่วยให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.7-1% แต่เมื่อคำนวณเม็ดเงินที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจจากการส่งออกที่หดตัว 6 หมื่นล้านบาท ภัยแล้ง 3-4 หมื่นล้านบาท และการท่องเที่ยวที่หายไปจากเหตุระเบิด 7 หมื่นล้านบาท ทำให้จีดีพีปีนี้น่าจะโตได้ระดับ 2.5-2.9% ใกล้เคียง 3% ที่เคยคาดไว้เดิม
ทั้งนี้ ในการสำรวจภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคเดือน ส.ค. พบว่าเกือบทุกรายการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่เท่ากับ 85 ลดลงจาก 87.8 ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่เท่ากับ 60 ลดลงจาก 61.7 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเท่ากับ 56.9 ลดลงจาก 60.3 ดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจ (SMEs) เท่ากับ 42 ลดลงจาก 43.6
นายธนวรรธน์กล่าวว่า ผลสำรวจ “สถานภาพหนี้ภาคครัวเรือน” ระหว่างวันที่ 20-28 ส.ค. 2558 สำรวจทั่วประเทศ 1,200 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 67.3% ตอบว่าไม่มีการออมต่อเดือน มีเพียงแค่ 32.7% ที่มีการออม เพราะต้องนำเงินมาจับจ่ายใช้สอย จากการที่ค่าใช้จ่ายในปัจจุบันสูงขึ้นจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น มีภาระหนี้มากขึ้น และมีรายได้น้อยลง และยังพบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ 80.2% มีหนี้สิน มีเพียงแค่ 19.8% เท่านั้นที่ระบุว่าไม่มีหนี้สิน ถือว่ามีสัดส่วนหนี้สินสูงสุดในรอบ 10 ปี นับจากที่ทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2549 โดยหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการใช้จ่ายทั่วไป ลงทุนซื้อทรัพย์สิน และประกอบธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ในการก่อหนี้ พบว่าเป็นหนี้ทั้งใน และนอกระบบ โดยมูลค่าหนี้ต่อครัวเรือนอยู่ที่ 2.48 แสนบาท เพิ่มขึ้น 13.16% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหนี้ในระบบ 48.7% นอกระบบ 51.3% ถือเป็นสัดส่วนหนี้นอกระบบที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกัน และยังพบอีกว่าความสามารถในการชำระหนี้ลดลงด้วย