“นายกฯ ประยุทธ์” ใช้มาตรา 44 จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน” เป็นศูนย์เฉพาะกิจแก้ปัญหาการกำกับดูแลและพัฒนาการบินพลเรือน โดยมี ผบ.ทอ.เป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ ด้าน “อาคม” เผย “เอียซา” เลื่อนกำหนดตรวจสายการบินของไทยที่บินเข้ายุโรปเป็นเดือน พ.ย. มั่นใจไม่น่ามีปัญหา
วันที่ 11 กันยายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 27/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลและพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้
“คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๗/๒๕๕๘
เรื่อง การแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลและพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศไทย
ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ได้เข้ามาทำการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนตามโครงการ Universal Safety Oversight Audit Program (USOAP) โดยกรมการบินพลเรือนซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินพลเรือน ของประเทศไทยเป็นหน่วยรับการตรวจนั้น ผลการตรวจสอบพบว่า การกำกับดูแลความปลอดภัย ด้านการบินพลเรือนของประเทศไทยมีข้อบกพร่องจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concern : SSC) ด้วย และหากมิได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนแล้ว จะส่งผลกระทบต่อ ความมั่นคงของประเทศโดยรวมได้ ดังนั้น เพื่อให้สามารถเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว และพัฒนาการบินพลเรือนเพื่อยกระดับมาตรฐานการบินพลเรือนของประเทศไทยให้สอดคล้องมาตรฐานสากล
และเพื่อปฏิรูปราชการแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน” (Command Center for Resolving Civil Aviation Issues) เรียกโดยย่อว่า ศบปพ. (CRCA) เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยมีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการ แก้ไขปัญหาการบินพลเรือน เรียกโดยย่อว่า ผบ.ศบปพ.
ข้อ ๒ ศบปพ. มีโครงสร้างการปฏิบัติการดังนี้
(๑) ให้มีคณะกรรมการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ประกอบด้วยบุคคลที่ ผบ.ศบปพ. แต่งตั้ง ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติในระดับรัฐบาล
(๒) ให้กองทัพอากาศและกรมการบินพลเรือนเป็นหน่วยงานหลักของ ศบปพ. ในการดำเนินการ แก้ไขปัญหาการบินพลเรือน
(๓) ให้ ผบ.ศบปพ. มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการสังกัดกองทัพอากาศไปช่วยปฏิบัติงาน หรือไปช่วยทำการใด ๆ ที่กรมการบินพลเรือน หรือหน่วยงานอื่นได้ไม่เกินสี่ปี และยังคงปฏิบัติหน้าที่ ในตำแหน่งและอัตราในสังกัดเดิม สำหรับค่าตอบแทนรายเดือน หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบ คำสั่ง หรือแบบธรรมเนียมที่ทางราชการกำหนด ในการนี้ มิให้นำความในมาตรา ๗ (๒) แห่งพระราชกฤษฎีกา กำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำการซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นเหมือนเต็มเวลาราชการ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาใช้บังคับ
ข้อ ๓ ให้คณะกรรมการ ศบปพ. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบาย แนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการและให้ความเห็นชอบกับแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหา ปรับปรุงและพัฒนาการบินพลเรือนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งกำหนดแนวทางในการทำความเข้าใจกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศและหน่วยงาน ด้านการบินพลเรือนของประเทศสมาชิกขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
(๒) สั่งการ กำกับดูแล ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข ปัญหาการบินพลเรือนของกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในกำกับ ส่วนราชการ และหน่วยงานอื่น ของรัฐให้เป็นไปตามข้อ ๓ (๑)
(๓) พิจารณาเสนอแนะ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งพัฒนากฎหมาย กฎและระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
(๔) กำหนดโครงสร้างและอัตรากำลังของ ศบปพ. และพิจารณาแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ มาปฏิบัติงานใน ศบปพ. โดยแต่งตั้งข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐได้ตามความเหมาะสม
(๕) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน เพื่อปฏิบัติงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะได้ตามความเหมาะสม
(๖) พิจารณาและให้ความเห็นชอบอัตราค่าจ้างและประโยชน์ตอบแทนของผู้เชี่ยวชาญ ด้านการบินพลเรือนตามที่กรมการบินพลเรือนเสนอ
(๗) พิจารณาและให้ความเห็นชอบในการจ้างที่ปรึกษาด้านการบินพลเรือนหรือด้านอื่น ๆที่จะเป็นประโยชน์กับการบินพลเรือนตามที่เห็นสมควร รวมทั้งกำหนดอัตราค่าจ้างและประโยชน์ตอบแทนตามความเหมาะสม
(๘) เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ หรือภาคเอกชน รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมประชุมแนวทางการดำเนินงาน ประสานการปฏิบัติและติดตามผลการดำเนินงานตามความเหมาะสม รวมทั้งให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบินพลเรือน
(๙) เผยแพร่ข่าวสาร และประชาสัมพันธ์การดำเนินการด้านการบินพลเรือนตามแผนปฏิบัติการ
(๑๐) รายงานผลการปฏิบัติให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่ามาตรฐานการบินพลเรือนของประเทศไทยจะได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล
(๑๑) ปฏิบัติการอื่นตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย
ข้อ ๔ การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ศบปพ. ตามข้อ ๓ ให้ ผบ.ศบปพ.ประสานการปฏิบัติกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอย่างใกล้ชิด หากเห็นว่าเรื่องใดเห็นชอบร่วมกันว่าเป็นเรื่องสำคัญ และมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ให้นำเรื่องดังกล่าว นำเรียนนายกรัฐมนตรีผ่านรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล พิจารณาสั่งการก่อน
ข้อ ๕ ให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กับ ศบปพ. เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานโดยเบิกค่าใช้จ่ายตามระเบียบราชการ และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้กับกรมการบินพลเรือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้เชี่ยวชาญตามข้อ ๓ (๖) และให้กับ ศบปพ.เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาตามข้อ ๓ (๗) ตามที่คณะกรรมการ ศบปพ. เห็นชอบ
ข้อ ๖ คณะกรรมการ ศบปพ. และเจ้าหน้าที่ ศบปพ. ที่กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริตไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งทางอาญา ทางวินัย หรือทางปกครองเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนตามคำสั่งนี้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ข้อ ๗ เพื่อให้การปฏิบัติตามคำสั่งนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในกรณีที่คณะกรรมการศบปพ. สั่งการให้ส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ แต่ส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นเพิกเฉยหรือละเลยไม่กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามคำสั่งของคณะกรรมการ ศบปพ. ตามคำสั่งนี้ ให้ ผบ.ศบปพ. ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รายงานพฤติกรรมดังกล่าวพร้อมกับข้อพิจารณาเกี่ยวกับการลงโทษต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล พิจารณาสั่งการต่อไป
ข้อ ๘ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๑๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๘
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมกรณีที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป หรือเอียซา (EASA) จะเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยว่า เอียซามีหน้าที่ในการตรวจสอบสายการบินที่ทำการบินเข้ายุโรปซึ่งกำหนดการเดิมจะเข้ามาตรวจสอบสายการบินสัญชาติไทยที่ทำการบินไปยังยุโรป ภายในสัปดาห์นี้ แต่ล่าสุดทางเอียซ่าขอเลื่อนออกไปเป็นเดือนพฤศจิกายนนี้แทน สำหรับสายการบินสัญชาติไทยที่ทำการบินไปยังยุโรป คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้มีการเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว โดยปกติสายการบินไทยนเมื่อบินไปยังยุโรปจะมีการตรวจสอบระดับลานจอด (Ramp Inspection) อยู่แล้ว จึงเชื่อมั่นว่าการบินไทยจะมีความพร้อมและไม่เกิดปัญหาแต่อย่างใด