ครม.เด้งอธิบดีกรมการบินพลเรือน เซ่นปมการบิน ICAO “ประจิน” เผยล่าสุด “อาคม” พบประธาน ICAO คำตอบน่าพอใจ ICAO รับแผนปรับปรุง พอใจการแก้ปัญหา และความจริงใจของรัฐบาล สรุปได้ 12 ข้อ พร้อมจะไม่ประกาศมาตรการเพิ่มเติมแต่ยังไม่ปลดล็อก SSC ด้านครม.เด้ง “สมชาย พิพุธวัฒน์” พ้นอธิบดี บพ. ตั้ง “ปาริชาต” ลูกหม้อกลับทำหน้าที่ประสานงาน เร่งมือแก้ปมการบินก่อนเกษียณ ก.ย.นี้
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้เดินทางไปพบประธานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้ข้อสรุป 12 ข้อ เช่น 1. ICAO พอใจ และยอมรับแผนการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Plan : CAP) ที่ได้จัดส่งไปและแผนฉบับล่าสุดที่ รมช.อาคมเป็นผู้ส่งมอบ 2. เมื่อครบกำหนด 90 วันในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ICAO จะยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะประกาศในเว็บไซต์ต่อสาธารณะเพิ่มเติม โดยจะยังคงเรื่องการตรวจพบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) ไว้เช่นเดิมจนกว่าไทยจะดำเนินการได้แล้วเสร็จตามแผน พร้อมกันนี้ ทาง ICAO อาจจะเข้ามาทำ ICBM Audit ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เชิญ ICAO มาทำการประเมินสายการบินของไทยหลังจากที่ได้มีการ Re-certification โดยจะแจ้งกำหนดที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งเป็นท่าทีใหม่จากเดิมที่ ICAO จะมาตรวจสอบเมื่อมีการ Re-certification ครบ 24 สายการบินแล้ว ซึ่งถือเป็นผลดี
4. ทาง ICAO ยินดีทำงานร่วมกับไทยในการปลด SSC และแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยจะใช้ไทยเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 5. ICAO เห็นว่าคณะทำงานของไทยมีหลายชุดเกินไป ซึ่งจะปรับลดเหลือคณะกรรมการอำนวยการเพียงชุดเดียว 6. ปรับลดจำนวนที่ปรึกษาที่มีมากเกินไป เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย 7. เห็นด้วยกับโปรแกรมการตรวจสอบ Re-certification สายการบิน ที่มีการแบ่งกลุ่ม 8. แผนแก้ไขข้อบกพร่องระยะกลางและระยะยาวยังไม่ชัดเจน ซึ่ง ICAO จะให้คำแนะนำต่อไป 9. ICAO พร้อมช่วยอธิบายทำความเข้าใจกับองค์กรอื่นๆ 10. ICAO พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ โดยจัดส่งทีมด้านกำกับดูแล ด้านปฏิบัติการมาช่วย เป็นต้น
“ประธาน ICAO เห็นว่า การที่ รมช.อาคมเดินทางไปด้วยตัวเองเป็นการให้เกียรติทาง ICAO และแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อปัญหา และเห็นเป็นเรื่องระดับชาติ และพอใจที่ไทยได้ส่งแผนการปรับปรุงและอัปเดตข้อมูลต่อเนื่อง และหวังว่าการแก้ไขกฎหมายด้านการเดินอากาศจะแล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้เพื่อไม่ให้มีปัญหาการเมืองแทรกแซงในอนาคต และประธาน ICAO ตอบรับที่จะเดินทางมาเยือนไทย ในภาพรวม ICAO เข้าใจและพอใจแผนปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง พร้อมกับให้โอกาสไทยในการปรับปรุงแก้ไขระยะหนึ่ง เพราะจะยังไม่มีการประกาศใดๆ ตอนนี้ โดยอยากให้ไทยเชื่อและฟังคำแนะนะจาก ICAO” พล.อ.อ.ประจินกล่าว
สำหรับการปรับโครงสร้างกรมการบินพลเรือน (บพ.) นั้น ได้เสนอเรื่องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ดำเนินการ ประกาศพร้อมบทเฉพาะกาล โดยจะมีการจัดตั้ง 1. สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เริ่มทำงานตั้งแต่ 1 ต.ค. 2558 ขึ้นตรงสำนักนายกรัฐมนตรี, 2. จัดตั้งกรมท่าอากาศยาน สังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมตำแหน่งอธิบดี และรองอธิบดี โดยรับผิดชอบดูแล 28 สนามบินภูมิภาค ซึ่งในอนาคตจะมีการพิจารณาที่จะโอนบางส่วนให้เอกชน หรือ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือบริหารเอง ดังนั้นในช่วง 3 ปีแรกจะมีการพิจารณาในการปรับเปลี่ยนบทบาทจากหน่วยงานราชการไปเป็นรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับหน้าที่ 3. สำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของเรือและอากาศยานที่ประสบภัย (Accident and Incident investigations) และสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือผู้รอดชีวิต (National Search and Rescue)
สำหรับการเดินทางไปที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป หรือเอียซ่า (EASA) เมื่อวันที่ 3-5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางเอียซ่าเข้าใจประเด็นที่เกิดขึ้นกับกรมการบินพลเรือน และยืนยันจะไม่เพิ่มปัญหาให้ไทย พร้อมกับปรับท่าทีกับไทยให้ผ่อนคลายลง ซึ่งเดิมเอียซ่าจะพิจารณามาตรฐานของกรมการบินพลเรือนไทยในวันที่ 12-13 มิ.ย. ปรับเป็นเพื่อทราบ ไม่มีการพิจารณา และจะแถลงในวันที่ 25 มิ.ย. ซึ่งหากไม่มีการประกาศท่าทีต่อสาธารณะ ทางเอียซ่ามีกำหนดจะพิจารณาอีกทีเดือน พ.ย. 2558 โดยจะดำเนินการให้สอดคล้องกับท่าทีของ ICAO กรณีปลดล็อก SSC อย่างใกล้ชิด ซึ่งเอียซ่าอาจจะเลื่อนกำหนดเดินทางมาตรวจสอบกรมการบินของไทยไปเป็นเดือน ส.ค. จากเดิมจะมาเดือน ก.ค.
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (16 มิ.ย.) ได้มีมติเห็นชอบโยกย้ายนายสมชาย พิพุธวัฒน์ จากอธิบดีกรมการบินพลเรือน ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และให้นางปาริชาต คชรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการบินพลเรือนแทน เนื่องจากเป็นผู้มีความสามารถในการประสานงาน ซึ่งจะเป็นหน้าที่สำคัญในการสานต่อการปรับปรุงแก้ไขตามแผนที่ได้เสนอ ICAO ไป ซึ่งเป็นส่วนงานหลักที่ยังไม่มีผู้เหมาะสม ส่วนงานด้านกฎหมาย ด้านมาตรฐาน ด้านการออกใบอนุญาต มีผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญแล้ว อีกทั้งนางปาริชาตยังเป็นอดีตรองอธิบดีกรมการบินพลเรือนจึงเหมาะสม ส่วนการปรับเปลี่ยนตัวอธิบดีครั้งนี้ให้มองเหมือนการแข่งฟุตบอล นายสมชายถือเป็นผู้เล่นที่เก่ง แต่เมื่อถูกกดดัน รุมล้อมจนเล่นไม่ออกก็ต้องเปลี่ยนออกให้คนใหม่ลงไปแทน ซึ่งจะให้นายสมชายเป็นที่ปรึกษางาน บพ.ด้วย