“ประจิน” เผย IATA ไม่ติดใจปมข้อบกพร่องการบินจากการตรวจสอบของ ICAO พร้อมรับประสานกับ FAA ที่จะเข้ามาตรวจสอบใน ก.ค.นี้ ยอมรับตรวจสอบสายการบินเพื่อออกใบรับรองใหม่ (AOC) ช้ากว่าแผน คาดเริ่มได้ ก.ค. เหตุต้องให้อธิบดี บพ.ตรวจสอบรับรองคู่มือที่ปรับใหม่ก่อน
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง นายคอราด คลิฟฟอร์ด ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) พร้อมคณะเข้าพบวานนี้ (4 มิ.ย.) ว่า ได้หารือถึงการแก้ปัญหากรณีที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ตรวจสอบกรมการบินพลเรือน (บพ.) ตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program; USOAP) และพบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) ซึ่งมีความก้าวหน้ามากพอที่จะชี้แจงต่อ ICAO แล้ว โดย IATA พร้อมให้การช่วยเหลือไทยแก้ปัญหาด้วยการประสานข้อมูลกับสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) ที่มีกำหนดการจะเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยในเดือน ก.ค.นี้
โดยในการแก้ไข SSC กรณีสินค้าอันตราย (Dangerous Goods) ก้าวหน้าเกิน 90% แล้ว ทั้งเรื่องคู่มือ บุคลากรที่จะตรวจสอบสายการบิน ส่วนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) ในส่วนของการจัดทำคู่มือที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเพื่อออกใบรับรองใหม่ (AOC Re-certification) ซึ่งมีประมาณ 300 หน้านั้น นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน จะต้องตรวจสอบและให้การรับรอง โดยขณะนี้นายสมชายยังอยู่ต่างประเทศซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 10 วัน จากนั้นจะเป็นการฝึกอบรมบุคลากร คาดว่าใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์จึงจะสามารถจัดทีม 5 ทีมเพื่อตรวจสอบ 16 สายการบินแรกให้แล้วเสร็จในต้นเดือน ต.ค. 2558 ซึ่งยอมรับว่าล่าช้ากว่าแผนเดิมที่จะเริ่มตรวจสอบสายการบินตั้งแต่ 1 มิ.ย.นี้
นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ทาง IATA ไม่ได้แสดงความเป็นกังวลเรื่องข้อจำกัดการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากขณะนี้ปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือการปรับตารางการบินสายการบินใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนนั้นจะมีการบินหนาแน่น รวมถึงการจัดหาท่าอากาศยานบินใหม่เพื่อรองรับ ซึ่งจะสอดคล้องกับการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation : MOC) กับกองทัพเรือ (ทร.) เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ในการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ แห่งที่ 3 เพื่อเป็นทางเลือกให้รองรับปริมาณผู้โดยสาร อย่างไรก็ตาม การปรับตารางการบินใหม่นั้นจะมีการประชุมร่วมกับ IATA วันที่ 5 มิ.ย.นี้
นอกจากนี้ ยังได้รายงานเรื่อง พระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ เพื่อกำหนดค่าชดเชยผู้ที่ได้รับความเสียหายกับผู้โดยสาร โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งต่อจากนี้จะต้องมีการกำหนดค่าชดเชยทุกสายการบิน โดยต้องเป็นแบบมาตรฐาน ซึ่งกรณีดังกล่าวกฎหมายได้มีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้ หากเกิดเหตุขึ้นผู้โดยสารจะได้ไม่ต้องฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย ทั้งกรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บ อย่างกรณีเสียชีวิตสายการบินจะต้องชดเชยให้เป็นวงเงิน 5 ล้านบาท หากยังไม่เห็นด้วยการชดเชยดังกล่าวญาติผู้เสียชีวิตก็สามารถฟ้องร้องได้เช่นกัน