xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมเคาะแล้วปรับโครงสร้าง บพ.แยก 4 ส่วน ดีเดย์ 1 ต.ค. 58 “ประจิน” หวัง ICAO ปลด SSC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คมนาคมสรุปปรับโครงสร้างกรมการบิน แยก 4 ส่วนงาน ตั้งเป้า 1 ต.ค. 58 เริ่มงานเต็มรูปแบบ เตรียมเสนอนายกฯ พิจารณาใช้อำนาจ ม.44 ตั้ง สนง.การบินพลเรือนแห่งชาติ กำกับมาตรฐาน และออกใบอนุญาต เป็นหน่วยงานอิสระ, ยกระดับ สนง.กก.ตรวจสอบและสอบสวนอากาศยาน สังกัดสำนักนายกฯ ส่วนกรมท่าอากาศยานบริหาร 28 สนามบิน “ประจิน” มั่นใจเดินถูกทาง หวัง ICAO ปลดล็อก SCC

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมคณะกรรมการปรับโครงสร้างกรมการบินพลเรือนซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งขึ้น โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นในการแยกกรมการบินพลเรือนออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1. สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) 2. กรมท่าอากาศยาน 3. สำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของเรือและอากาศยานที่ประสบภัย (Accident and Incident investigations) และ 4. สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือผู้รอดชีวิต (National Search and Rescue) โดยจะเริ่มทำงานเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558

โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐที่อิสระ มีสภาพเป็นนิติบุคคล มีกฎหมายเฉพาะรองรับการทำงานของคณะกรรมการ ทำหน้าที่กำกับดูแล (Regulator) มาตรฐานการบินต่างๆ การออกใบอนุญาตต่างๆ เป็นต้น ซึ่ง รมว.คมนาคมจะเป็นผู้นำเสนอในการแต่งตั้งคณะกรรมการเท่านั้นแต่ไม่ได้กำกับดูแลสำนักงานฯ

ทั้งนี้ เนื่องจาก กพท.เป็นสำนักงานใหม่ จะมีบุคลากรประมาณ 450 คน โดยในการจัดตั้งจะต้องมีทุนประเดิมเริ่มต้น ซึ่งประเมินจากงบประมาณที่กรมการบินพลเรือนได้รับจัดสรรแล้วในปี 2559 จำนวน 2,190 ล้านบาท แบ่งมาที่สำนักงาน กพท.ประมาณ 220 ล้านบาท ดังนั้นมีความจำเป็นต้องของบประมาณเพิ่มในส่วนของสำนักงาน กพท.ในปี 2559 อีก 450 ล้านบาท ส่วนในการทำงานนั้นตามหลักการการบินทั่วโลก สำนักงาน กพท.จะมีรายได้หลักจากเงินสมทบจากอุตสาหกรรมการบิน เช่น การออกใบอนุญาต (AOC) ให้สายการบิน ซึ่งจะมีส่วนแบ่งจากการดำเนินการตั้งแต่ 0.01-0.3% ของรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย และรายได้จากการออกใบอนุญาตต่างๆ ซึ่งส่วนนี้จะไม่มากนัก แต่จะทำให้สำนักงาน กพท.มีความมั่นใจว่าจะสามารถมีเงินทุนเพียงพอในการจ้างบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ รวมถึงเพียงพอในการฝึกอบรมบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านการบิน และกำหนดค่าตอบแทนที่สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน สามารถรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพไว้ทำงานกับสำนักงาน กพท.ต่อไปได้ โดยคาดว่าจะเริ่มเก็บเงินสมทบได้ตั้งแต่ปี 2560 และจะไม่ต้องขอรับงบประมาณสนับสนุนตั้งแต่ในปี 2562 เป็นต้นไป

กรมท่าอากาศยานเป็นหน่วยงานปฏิบัติ (Operator) มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการ รับผิดชอบบริหารท่าอากาศยานภูมิภาคทั้ง 28 แห่งหรือที่จะมีเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งด้านการบริการ ด้านมาตรฐานความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีบุคลากรประมาณ 1,400-1,500 คน วางกรอบงบประมาณปี 2559 ประมาณ 1,800 ล้านบาท

สำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของเรือและอากาศยานที่ประสบภัย (Accident and Incident investigations) มีบุคลากรประมาณ 60 คน ส่วนสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือผู้รอดชีวิต (National Search and Rescue) มีบุคลากรประมาณ 70 คน โดยทั้ง 2 หน่วยงานนี้จะไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางระดับกองในเบื้องต้น และในอนาคตหากมีภารกิจมากขึ้นสามารถพัฒนาเป็นระดับกรมได้ต่อไป

โดยหลักการจะปรับโครงสร้างกรมการบินพลเรือนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ ICAO ทุกประการ และจะต้องดำเนินการให้ทันกับการตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ ทั้งองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป หรือเอียซ่า (EASA) ซึ่งหลังจากนี้จะรับฟังข้อสังเกตจากสำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะทำการรวบรวมข้อมูลและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ จากนั้นภายในสัปดาห์หน้าจะนำเสนอ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาขั้นตอนในการนำเสนอที่เหมาะสม ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือนำเสนอตรงต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อใช้อํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ในการออกคำสั่ง

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า การแก้ปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือน (บพ.) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program; USOAP) ที่พบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns : SSC) นั้น ถึงขณะนี้มีความมั่นใจในหลักการแก้ปัญหาว่าถูกต้องและทำอย่างเต็มที่แล้ว แต่มีปัญหาในด้านบุคลากรที่ไม่เคยพบกับปัญหาใหญ่ขนาดนี้ รวมถึงเวลาในการแก้ปัญหาจำกัด ซึ่งต้องเผื่อใจว่าอาจจะไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้ 100% แต่ผลจะเป็นอย่างไรต้องรอ ICAO ผู้พิจารณา

“ต้องยอมรับว่าเรื่องปรับโครงสร้างกรมการบิน เดิมจะเสนอนายกฯ วันที่ 22 พ.ค. แต่มีความล่าช้าในกระบวนการตั้งกรรมการฯ แต่ล่าสุดจะสรุปได้ภายในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ส่วนการเข้าพบประธาน ICAO ที่กรุงมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ช่วงวันที่ 11 มิ.ย.นี้ของผู้แทนไทยนั้น จะรายงานความคืบหน้าเรื่องที่ ICAO ได้ตั้งข้อสังเกตทั้งหมดว่า เรื่องใดได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว เช่น AOC การปรับโครงสร้างกรมการบินใหม่ เรื่องใดอยู่ระหว่างแก้ไข และจะแก้ไขเรื่องใดอีกบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีรายงานความก้าวหน้าแผนการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Plan : CAP) ต่อ ICAO รับทราบแล้วรวม 6 ฉบับ” พล.อ.อ.ประจินกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น